โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

ค่าเงินบาทวันนี้ 24 ธ.ค. 67 ‘อ่อนค่า‘ หลังดอลลาร์แข็งค่า บวกแรงขายทองทำกำไร

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 2 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 2 วันที่แล้ว

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.19 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.35 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมาเงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ก่อนที่จะแกว่งตัว Sideways ใกล้โซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ (กรอบการเคลื่อนไหว 34.19-34.31 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็เลือกจะทยอยขายทำกำไรสถานะ Long ทองคำที่ได้กำไรมาพอสมควรในปีนี้ นอกเหนือจากแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board (Consumer Confidence) เดือนธันวาคม กลับลดลงสู่ระดับ 104.7 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาด (112.9 จุด) ไว้พอสมควร

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัว Sideways แถวโซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเราคาดว่า เงินบาทจะมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน (เลือกทิศทาง) มากขึ้น หลังการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม ทำให้เมื่อประเมินจากสถิติในอดีตที่ผ่านมานั้น เงินบาทยังมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways ก่อนจะถึงวันดังกล่าวโดยปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่อาจจะรับรู้ก่อนถึงวันเริ่มงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาล Trump 2.0

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทอาจพอได้ลุ้นแรงหนุนจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เริ่มทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งหุ้นไทยได้บ้าง ทว่าแรงซื้อหุ้นไทยดังกล่าว อาจไม่ได้ช่วยหนุนเงินบาทมากนัก หากนักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) หลังเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าจากช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ มากว่า +2% ซึ่งเราเริ่มเห็นแรงขายบอนด์ระยะสั้นออกมาบ้างในช่วงนี้ ที่อาจสะท้อนการปรับสถานะดังกล่าวได้ นอกจากนี้ อาจต้องติดตามการเคลื่อนไหวของทั้งราคาทองคำและเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้พอสมควรในช่วงนี้

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นธีม AI/Semiconductor นำโดย Nvidia +3.7% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare อย่าง Eli Lilly +3.7% หลัง FDA อนุมัติการใช้ยาของทางบริษัทเพื่อรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.98% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.73%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.14% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Healthcare นำโดย Novo Nordisk +5.7% หลัง FDA สหรัฐฯ อนุมัติยารักษาโรคเลือดออกของทางบริษัท อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มอื่นๆ ของฝั่งตลาดหุ้นยุโรปกลับทำผลงานได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะกลุ่มเทคฯ ที่ยังคงปรับตัวลดลง อาทิ ASML -0.34% ทำให้การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปก็เป็นไปอย่างจำกัด

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด หากคำนึงถึงผลกระทบที่เป็นไปได้จากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ (Risk-On) ยังคงหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.58% ซึ่งแม้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวขึ้น และอาจจบสิ้นปี 2024 สูงกว่าที่เราประเมินไว้แถว 4.15%-4.25% (เนื่องจากคาดการณ์ Dot Plot ใหม่ของเรานั้นผิดไปจากความเป็นจริง โดยเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่เราประเมินไว้) อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทะลุเหนือโซน 4.50% ยังคงทำให้ Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่ และเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถดำเนินกลยุทธ์ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวของเราได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนเร่งให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซน 157 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี ของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่กว้างมากขึ้น ทว่ารายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ได้ชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 108.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.9-108.3 จุด) ทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้ ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ย่อตัวลง สู่โซน 2,620-2,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่าในช่วงปลายปี บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยขายทำกำไรสถานะ Long ทองคำ ที่ทำกำไรได้โดดเด่นในปีนี้ ทำให้การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำอาจเป็นไปได้ยาก และราคาทองคำก็อาจยังคงอยู่ในช่วงการปรับฐาน (Correction) เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก โดยในฝั่งสหรัฐฯ จะมีเพียงยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงรายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ เช่น เฟดสาขา Dallas และ Richmond ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินมากนัก เมื่อประเมินจากสถิติในอดีตรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ทว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงปริมาณการทำธุรกรรมต่างๆ ในตลาดการเงินที่จะเบาบางลงในช่วงใกล้วันหยุดปลายปี ทั้ง Christmas และ New Year ซึ่งหลายตลาดการเงินอาจปิดทำการในวันนี้ หรือเปิดทำการเพียงครึ่งวัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น