โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

“เศรษฐา” เดินหน้า Digital Wallet อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าปชช.

THE ROOM 44 CHANNEL

เผยแพร่ 10 พ.ย. 2566 เวลา 08.19 น.

“เศรษฐา” เดินหน้า Digital Wallet อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าปชช. กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศพร้อมแจงที่มาของงบฯ ย้ำชัด ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ

วันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลสรุปการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2566 ว่า ประเทศไทยต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากหลายปัจจัย เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยเพียง 1.9% รั้งท้ายประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะที่ความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรังยาวนานมากว่า 10 ปี ส่งผลให้การฟื้นตัวจากช่วงวิกฤตโควิดเป็นแบบ คนจนที่แย่อยู่แล้ว แย่ลงไปอีก ขณะที่คนรวยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นห่างจากคนฐานล่างไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ 91% ของ GDP นับว่าสูงที่สุดในประวัติการณ์ ซึ่งหนี้เหล่านี้เป็นหนี้ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ คือไม่ได้นำไปใช้ลงทุนค้าขาย ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนจะไม่มีรายได้มากขึ้น ตลอดจนภาคการผลิตที่มีอัตราการผลิตของประเทศลดลง และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ประเทศสามารถทำได้ เมื่อผลิตน้อย ก็ต้องการคนไปทำงานน้อย ส่งผลให้หลายคนตกงาน และทำให้มีรายได้น้อยลง ซื้อสินค้าน้อยลง ส่งผลวนกลับไปที่โรงงานที่จะสามารถผลิตสินค้าน้อยลงไปอีก เกิดเป็นวงจรถดถอยทางเศรษฐกิจที่มีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการกระตุ้นแก้ไข ผนวกกับปัจจัยภายนอกรุมเร้า อาทิ สภาวะสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยาวนานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์การสู้รบในบริเวณอิสราเอลและฉนวนกาซ่า ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในจุดเปราะบาง รวมถึงตลาดทั่วโลกเองก็ได้รับผลกระทบจากสถาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย

นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล คือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ให้เข้าถึงทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยการอัดฉีดครั้งแรกมีระยะเวลา 6 เดือนเพื่อให้เงินมีการหมุนเวียน และสามารถใช้จับจ่ายต่อได้จนถึงเดือนเมษาปี 2570 เป็นการลงทุนที่มอบสิทธิและอำนาจให้กับประชาชนช่วยกันกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนในภาคประชาชน ทั้งการรวมเงินในครัวเรือนเพื่อประกอบอาชีพ การซื้อ-ขายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า ไปจนถึงการสั่งผลิตสินค้าในโรงงาน SME ไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่

“เงินดิจิทัลวอลเล็ตก้อนนี้ไม่ได้มาจากการเสกเงิน สร้างเงิน พิมพ์เงิน หรือออกเหรียญผ่าน Initial Coin Offering แต่อย่างใด พูดให้ชัดๆว่า ไม่ได้มีการเขียนโปรแกรมสร้างเงินเหมือน Cryptocurrency ต่างๆ และไม่ได้เป็นการนำเงินไปซื้อเหรียญมาแจก และนำไปเทรด แลกเปลี่ยน โอนให้กันและกัน เก็งกำไรไม่ได้ ย้ำนะครับ ไม่มีการนำไปเทรดบน Exchange ทั้งหลายตลาดหลักทรัพย์ ตลาด crypto ใดๆทั้งสิ้น เงินตัวนี้จะมีที่มาจากเงินบาท และมีมูลค่าเป็นเงินบาท ที่มีเงื่อนไขในการใช้งาน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจสูงกว่าอัดฉีดที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น เงิน 1 บาทในโครงการนี้ ก็คือ 1 บาทในกระเป๋าเงินของทุกท่าน ที่สามารถใช้จ่ายได้ โครงการนี้ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ ทั้งร้านค้าและยืนยันรับสิทธิโดยประชาชนครับ” นายเศรษฐา ระบุ

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า เรื่องของเงื่อนไข ซื้ออะไรได้ ไม่ได้ ตนขอพูดตรงนี้ให้ชัด คือ ประชาชนจะสามารถจะใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภค บริโภคได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับบริการได้ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้ ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอมได้ ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้ แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้ และใช้ได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชนเท่านั้น โดยสามารถใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี ไม่จำเป็นต้องจด VAT แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ แอลกอฮอล์ เหล้า สุรา บุหรี่ได้ และไม่สามารถนำไปชำระหนี้ รวมถึงแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ทั้งนี้ มีการปรับหลักเกณฑ์ของผู้ได้รับสิทธิเป็นประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท คิดเป็นจำนวนประชากรผู้ได้รับจำนวน 50,000,000 คน ตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ เนื่องจากข้อมูลของหลายโครงการในอดีตแสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มรายได้ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ และผมขอย้ำว่า โครงการจะไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อตามที่หลายฝ่ายกังวล เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันของไทย อยู่ในสภาวะที่ต่ำอยู่แล้ว

นายเศรษฐายังได้ชี้แจงรายละเอียดที่มาของงบประมาณโครงการด้วยว่า คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออก พรบ.เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา ซึ่งตนมั่นใจว่า จะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พรบ.การกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และรัฐบาลจะทำการกู้เงิน ก็ต่อเมื่อ มีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด ซึ่งนี่จะเป็นการทำให้เงินในระบบทั้งหมดใหญ่ขึ้นกว่า 500,000 ล้าน ซึ่งจะหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยยะ ผสมกับงบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการที่กล่าวไปทั้งหมด ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี

นายเศรษฐายังได้เสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มเติมจากกระเป๋าเงินดิจิทัล อีก 2 นโยบาย คือ นโยบาย e-refund เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายร้านค้าออนไลน์ และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อนำมาต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ๆของประเทศ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นต้น

“นโยบาย Digital Wallet ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล (Partnership) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาทครับ” นายเศรษฐา กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น