ใครว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ ยุคสมัยนี้อาจจะต้องคิดใหม่แล้วล่ะค่ะ เพราะแต่อย่างที่ต้องการล้วนแล้วแต่ใช้เงินแลกมาเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งโลกหมุนไวขนาดนี้ ยิ่งมีอะไรใหม่ ๆ ดึงดูดใจอยู่ทุกวัน จนทำให้รายได้ที่รับอยู่ทุกเดือนมันไม่สนองใจเท่าที่ควร มนุษย์เงินเดือนน่าจะเข้าใจดี ค่าครองชีพเพิ่ม เงินเท่าเดิม เป็นท้อ! หลาย ๆ คนจึงมองหารายได้เสริมมาจุนเจือรายจ่ายต่าง ๆ โดยคำที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือ ‘รับงานฝิ่น’
งานฝิ่น โค้ดลับสำหรับคนรับงานนอก งานพิเศษ หรืองานฟรีแลนซ์ เป็นเทรนด์สำหรับชาวออฟฟิศมาหลายปีแล้ว ไม่เชื่อลองหันมองรอบตัว อย่างน้อยจะต้องเจอเพื่อนสักหนึ่งคนที่รับงานฝิ่นอยู่แน่นอน ซึ่งในมุมมองหนึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ทำไมคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยถึงทุ่มเทไปกับการทำงานได้มากมายขนาดนี้ ถึงขั้นที่ว่างานราษฎร์ งานหลวง งานฝิ่นก็รับหมด!
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจบ้านเราเริ่มถดถอยลงไปเรื่อย ๆ ทำให้คนเราต้องขยันทำมาหากินแข่งขันกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน ๆ หลายคนก็เริ่มหยิบจับงานเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มเติมมาจุนเจือ ฟรีแลนซ์เป็นอีกทางเลือก(เสริม) หนึ่งที่คนยุคใหม่เปิดใจรับมาทำเป็นงานรอง จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับภาวะการทำงานของประชากรบอกว่า แม้การจ้างงานประจำของไทยจะลดลง แต่งานฟรีแลนซ์กลับมีตัวเลขที่สูงขึ้น สวนทางกันอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในสายงานที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบ ครีเอทีฟ กราฟิก และมักทำควบคู่กับงานประจำด้วย ว่าง่าย ๆ คือรับจ๊อบเสริมเป็นพาร์ทไทม์อีกทางหนึ่งนั่นเอง
รู้หรือไม่ ‘ฟรีแลนซ์’ ยังแบ่งย่อยได้อีก 5 ประเภท โดยแยกย่อยจากลักษณะงานที่ทำ ได้แก่
1. Diversified workers: คนที่มีงานประจำอยู่แล้วแต่ทำงานเสริมที่หลากหลายท้าทายด้วย เช่น เลิกงานไปเป็นพนักงานส่งอาหารเดลิเวอรี่ เช้าก่อนไปทำงานก็รับจ้างเป็นเทรนเนอร์
2. Independent contractors: ฟรีแลนซ์ที่ทำงานทีละโปรเจ็กต์ ทีละเจ้าให้จบไป
3. Moonlighters: คล้าย ๆ กับคนแบบแรกคือมีงานประจำทำอยู่แล้ว รับงานเสริมเพิ่มเติมไว้ทำนอกเวลา (งานฝิ่น)
4. Temporary Workers: เหมือนมีเจ้านายที่สอง คือรับงานเสริมจากที่ที่เดียวทำไปเรื่อย ๆ
5. Freelance Business owners: คนที่รับงานฟรีแลนซ์จนสามารถสร้างเป็นธุรกิจได้ และต่อสายป่านไปจ้างฟรีแลนซ์คนอื่น ๆ มาร่วมงานด้วย เป็นเหมือนนายหน้าอีกทีก็ว่าได้
LINE TODAY ORIGINAL ศุกร์นี้ ชวนล้วงลึกความคิดไม่ลับ จากตัวแทนชาวออฟฟิศที่ทำทั้งงานประจำและงานเสริมพิเศษว่ามันมีความจำเป็นอะไรนะ ถึงได้เข้าสู่ชมรมคนรักงาน(ฝิ่น) ขนาดนี้
เริ่มจากทำเล่น ๆ สู่สังเวียนจริงจัง
พนักงานคนแรก ตัวแทนจากคนทำงานสายกฎหมาย เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการรับงาน(และเงิน)เสริม ว่า
“ส่วนตัวเราเองเริ่มเมื่อครึ่งปีก่อน ถามว่าเงินเดือนที่ได้รับจากงานประจำก็ไม่ได้ลำบาก พอกินพอใช้ แต่มีโอกาสแรกเข้ามาจากพี่ที่รู้จัก มันเป็นงานที่เขาไม่ถนัดเลยลองมาถามเราว่าอยากลองทำไหม ซึ่งเราก็ถนัดพอดี บวกกับได้เงินเยอะด้วย ฟังขอบเขตงานแล้วทำง่าย ได้เงินง่าย แล้วพอทำ ๆ ไปก็เริ่มติด เพราะการได้เงินง่ายนี่แหละ แล้วช่วงนั้นที่บ้านต้องใช้เงินก้อนพอดีด้วยก็เลยเริ่มรับงานเสริมเป็นครั้งแรก”
ส่วนหนุ่มมาร์เก็ตติ้ง และสาวบัญชี ตัวแทนชาวออฟฟิศเอกชนก็บอกในเชิงเดียวกันว่า ‘เพราะเงิน’
“เริ่มต้นที่เงินเลย เราแค่คิดว่าทำยังไงให้เวลาว่างที่มีมันเกิดเป็นเงิน แต่ต้องบอกก่อนว่างานประจำก็ได้รับค่าตอบแทนที่ดีอยู่แล้วนะ เพียงพอ แต่คิดว่าถ้ามีเงินเพิ่มขึ้น ก็สามารถใช้จ่ายไปกับสิ่งที่อยากได้มากขึ้น ใช้จ่ายคล่องขึ้นเท่านั้นเอง เริ่มต้นจากเพื่อนในกลุ่มนี่แหละ เห็นเขาทำอยู่ ก็ลองสมัครดู ของเราเป็นงานจากเว็บไซต์ต่างประเทศ ทำวันละไม่ถึงชั่วโมง เป็นโปรเจ็กต์ ๆ ไป ทำครบก็ได้เงิน ขำ ๆ เงินไม่ได้เยอะอะไร แต่ดีกว่าอยู่ว่าง ๆ”
“ส่วนของเราเริ่มต้นเมื่อสองปีที่แล้ว เรื่องมันเกิดจากมีรุ่นน้องคนนึงมาถามว่า สนใจทำงานงานหนึ่งไหม เขามีธุรกิจของตัวเอง แล้วกำลังอยากได้คนช่วยเรื่องคอนเทนต์ในเพจเฟซบุ๊กให้ ว่าลงคอนเทนต์อะไรดี ลงเมื่อไหร่ วางแผนให้เป็นขั้นตอน มีค่าตอบแทนให้ ตอนนั้นก็คิดแค่ ในเมื่อมันไม่ใช่งานที่หนัก แถมยังได้ค่าขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเพิ่มเติมอีกก็น่าจะดี คือเราเป็นคนใช้เงินไม่เยอะอยู่แล้ว ถ้าได้งานเสริมเพื่อหาเงินมาซัพพอร์ตตรงนี้ จะได้เอาเงินเดือนจากงานประจำไปเก็บออมมากขึ้นก็มีประโยชน์ดีนะ”
ครั้งเดียวไม่เคยพอ
“ผ่านงานแรกไปได้ อีกสองเดือนก็ได้มาอีกงาน ด้วยตัวงานที่เราทำมันเป็นสายกฎหมาย ซึ่งเพื่อนรอบตัวเราบางครั้งก็ชอบมาปรึกษาเรื่องกฎหมายว่าแบบนี้ทำได้ไหม รับงานแบบไหนบ้าง ก็เป็นที่มาของงานฝิ่นอยู่เรื่อย ๆ ที่สำคัญเลยคือ เนื้องานเป็นเรื่องเดียวกับอาชีพที่ทำอยู่แล้ว แถมง่ายกว่า ซับซ้อนน้อยกว่า ได้เงินสมน้ำสมเนื้อ ก็เลยเสพติดไปเลย”
ซึ่งค่าตอบแทนที่ได้รับจากงานเสริมมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับขอบเขตงานที่ได้รับมอบหมาย! ได้เห็นค่าตอบแทนแล้วอยากจะเปิดรับงานซะตอนนี้เลยล่ะ
ทำทั้งงานประจำและงานเสริม ต้องวางกฎเหล็กกันหน่อย
‘อย่าให้งานเสริมกระทบกับงานประจำอย่างเด็ดขาด’ทุกคนพูดเหมือนกันหมด เพราะว่าเราต้องให้เกียรติงานหลักด้วย ทุ่มเทกับมัน เมือมีเวลาว่างหรือเลิกงานประจำแล้วเท่านั้นจึงจะเริ่มลงมือทำงานเสริมจริงจัง
“ต้องทำงานเสริมให้เหมือนเวลาทำงานประจำ ก็คือเต็มที่กับมัน เพราะผลงานก็สะท้อนความสามารถเราเอง และเป็นเครดิตที่ดีในอนาคตได้”
“กฎเหล็ก ก็คือต้องไม่ให้กระทบงานประจำ ที่เหลือก็คือทำตามโจทย์ที่ได้รับมาให้ดีที่สุด”
ข้อได้เปรียบช่วงนี้ก็คือ หลาย ๆ คน Work From Home พอมีเวลาว่าง พักเบรค ก็สามารถใช้ทำงานเสริมเพิ่มเติมได้ด้วย ยิ่งโควิด-19 ระบาดแบบนี้ งานหด เงินหาย หากมีตัวช่วยเสริมเรื่องเงินก็คงดีไม่หยอกใช่ไหมล่ะ
นอกจากเงิน งานฝิ่นให้อะไรกับเรา
แน่นอนว่าเงินก็คือด่านแรกที่ทำให้เลือกทำงานเบิ้ลหลายงาน แต่มันยังมีประโยชน์ส่วนอื่น ๆ ที่คาดไม่ถึงอีกด้วย
ฝั่งสาวบัญชีบอกว่า “งานที่เรารับจ้างทำเสริม เป็นคนละแบบกับงานประจำเลย อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถนัดมากนัก แต่เป็นสิ่งที่ช่วยฝึกทักษะ ขยายความสามารถได้มากกว่า มันก็มีบ้างที่คิดงานไม่ออก แต่ด้วยความรับผิดชอบและกรอบเวลา ก็ต้องทำตามกำหนดให้ทัน สิ่งที่งานฝิ่นให้เรานอกจากเงินก็คือการรู้จักจัดการเวลาให้ดี เราต้องทำทั้งงาน 1,2,3 ก็ต้องจัดการทุกอย่างให้ลงตัว”
“ได้พัฒนาตัวเอง พิสูจน์ตัวเอง และรู้สึกว่าถ้าตกงานก็มีอาชีพอยู่รอดได้ด้วยการเป็นฟรีแลนซ์ ด้วยลำแข้ง ตรงนี้เราภูมิใจกับมันมาก ๆ อีกอย่างคือ นอกจากจะได้พัฒนาตัวเองแล้ว พวกทักษะเก่า ๆ สกิลที่ไม่ค่อยได้ใช้ในงานประจำ ก็นำมาใช้ในงานเสริมได้” สาวกฎหมายกล่าว
“จริง ๆ ตอนนี้งานที่ทำอยู่ไม่ได้เน้นทักษะอะไรเราก็เลยมองแค่เงินที่เสริมเข้ามาในชีวิต แต่ถ้าในอนาคตมีงานอะไรแปลกใหม่แล้วอยากทำ ก็คงลองดู เพิ่มสกิลให้เราเองด้วย” ปิดท้ายด้วยหนุ่มมาร์เก็ตติ้ง
มาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนอาจเริ่มสนใจในการทำงานเสริมควบคู่ไปกับงานประจำขึ้นมาบ้างแล้ว อย่างน้อย ๆ ก็ได้ค่าขนมเพิ่ม รวมถึงได้พัฒนาตนเองไปพร้อมกันด้วย งั้นเรามาฟังคำแนะนำจากทั้งสามท่านกันดีกว่าว่าหากจะลองทำงานฟรีแลนซ์เสริม มีข้อแนะนำหรือข้อคสรระวังอย่างไรบ้าง
คำแนะนำถ้าอยากหยิบจับงานเสริม ต้องเริ่มอย่างไร
“ต้องดูว่าเรามีเวลากับศักยภาพเพียงพอมั้ย ต้องมั่นใจพอสมควร เพราะงานมันสะท้อนตัวเราถูกไหม ถ้ามีสองข้อนี้ก็ลุยเลย”
“ถ้าให้แนะนำ ลองมองในมุมว่าอยากมีเงิน เงินเสริม เงินเก็บ และถ้าตัวเองไหว สามารถจัดการเวลาทั้งหมดได้ ทำงานฝิ่นก็ดีนะ”
”ช่วงแรกอาจจะหางานยากหน่อย เพราะเรายังไม่มีประสบการณ์การทำงานนอก เลยอยากให้ทรีตว่างานเป็นหน้าตาเรา ถ้าทำส่ง ๆ ก็เหมือนเราทำงานชุ่ย ถ้าเราทำดีก็เป็นพอร์ตเรา อีกอย่างคือเราต้องจัดการเวลาตัวเองทั้งหมดให้ได้ ถ้าพร้อมก็ลงมือทำได้เลย”
เพราะฉะนั้นแล้ว การจัดการเวลาคือเรื่องหลัก ๆ เมื่อคิดจะรับงานฝิ่นเข้ามาในชีวิต ถ้าทำได้ ก็ไปโลด
สุดท้ายท้ายสุดแล้วแต่วิจารณญาณและพลังกายพลังใจของแต่ละคนว่า เราสามารถจัดการตัวเองกับงานที่ทำทั้งหลายนี้ได้มากน้อยขนาดไหน ที่สำคัญมาก ๆ คือ ต้องไม่ทำให้งานหลักได้รับผลกระทบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงต้องมีจรรยาบรรณในการทำงานทุกประเภทด้วย เพราะไม่เช่นนั้นคุณอาจถูกมองว่า ไม่เป็นมืออาชีพในการทำงานได้นะคะ ท่องไว้ว่า ‘งานนอก’ ต้องทำ ’นอกเวลางานหลัก’ นะคะ
.
ขอบคุณข้อมูลจาก
.
ความเห็น 15
Marlod
โดยส่วนตัว ผมว่าถ้าเราทุ่มเทให้กับงานหลักแบบเต็มที่แล้ว...
1.เราจะไม่มีแรงเหลือไปทำงานเสริมหรอก แค่งานหลักก็แทบจะขาดใจแล้ว
2. ผลจากข้อ 1. เราจะอยู่ในอันดับต้นๆขององค์กรอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นรายได้เราจะมากพอจนเราไม่มีความจำเป็นต้องดิ้นรนไปหางานเสริมให้มันเสี่ยงจะเสียงานทั้งคู่หรอก
ผมเห็นมาเยอะ คนที่มัวแต่คิดว่ารายได้ไม่พอจะหางานเสริมยังไง สุดท้ายไม่เห็นได้ดีซักงาน ส่วนคนที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับงานหลัก เขาได้เงินเดือนมากกว่าที่เขาต้องการเสมอ ฝากไว้ให้คิด
05 ก.พ. 2564 เวลา 12.50 น.
Pichai
เด็กเอ็นนี่จัดอยู่ประเภทไหนของ freelance ครับ
05 ก.พ. 2564 เวลา 05.30 น.
Rainbowsun
ตอนนี้ตกงาน เลยจะรับงานไม่เกี่ยงความถนัดและเงินเดือน จากเคยได้วันละ900 ตอนนี้300ก็เอา ดันติดแหง่กโควิด ออกไปไม่ได้ไม่คุมปอดที่จะติด เฮ้อ
05 ก.พ. 2564 เวลา 06.22 น.
🅺🅾🆈💫🆂🆄🅽🅶
ยุคนี้หากินยากค่ะ
08 ก.พ. 2564 เวลา 05.51 น.
what,sevrice,byช่างx
ใช่ต้องทำขนมขายทำอาหารขายทำอาชีพเสริมเล็กๆน้อยๆถึงจะพอกิน
05 ก.พ. 2564 เวลา 11.57 น.
ดูทั้งหมด