โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อุตฯ ออกนโยบายเร่งด่วนหนุนเครื่องมือแพทย์รับมือวิกฤติสุขภาพ

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 01 มิ.ย. 2564 เวลา 09.39 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2564 เวลา 09.40 น.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)  เร่งขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสอดคล้องกับแผนการพัฒนาระยะยาวของทางกระทรวงที่ต้องการยกระดับศักยภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เครื่องมือและการให้บริการทางการแพทย์ให้เทียบเท่ากับระดับสากล

โดยเน้นการยกระดับการแพทย์ สร้างศูนย์ทดสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในการตรวจและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของไทยให้กับผู้ประกอบการอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องมือทางการแพทย์มีเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญและเร่งการสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ในการพัฒนาและผลักดันให้พร้อมรับมือวิกฤติสุขภาพได้อย่างมีสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอวที่จะช่วยประเทศไทยผ่านวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ไปให้ได้

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. เร่งดำเนินการปรับแผนและรูปแบบการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของงบประมาณประจำปี 2564 เพื่อให้สอดรับนโยบายทางกระทรวงอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยหนึ่งในนั้นคือการเร่งสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อย่างครอบคลุมในหลายมิติให้มีความสอดคล้องสถานการณ์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างความพร้อมในการเป็นรากฐานที่สำคัญรองรับต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันและอนาคต

ด้วยการผลักดันให้เกิดความพร้อมในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ผ่าน 4 มาตรการเร่งด่วน ดังนี้ 1. การส่งเสริมด้านบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้มีความพร้อมและองค์ความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย การนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม รวมไปถึงสร้างความรู้ความเข้าใจด้านกฎระเบียบและข้อบังคับของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

2. การส่งเสริมด้านการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ เป็นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI และ IoT รวมถึงในกลุ่มของการบำบัดฟื้นฟู วินิจฉัย และการรักษา โดยต้นแบบผลิตภัณฑ์ร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมนั้น จะครอบคลุมทั้งในด้านของการรองรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ ชุดอุปกรณ์จ่ายอากาศแบบต่อเนื่องสำหรับหน้ากากชนิดครอบเต็มใบหน้า (PAPR) เครื่องทวนสอบเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator Tester) ระบบปรึกษาข้อมูลสุขภาพทางไกล ระบบ AI ในการวิเคราะห์โรคปอด และเครื่องดูดละอองฝอยน้ำลาย (เครื่องมือทันตกรรม) ทั้งนี้ การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ดำเนินการโดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างสถานประกอบการภาคการศึกษา และบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงสถาบันฯ และสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

3. การส่งเสริมสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ การปรับปรุง และพัฒนากระบวนการผลิตให้สามารถที่จะลดต้นทุน ลดของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิต รวมถึงสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อการใช้งานในปัจจุบัน อีกทั้งส่งเสริมในเรื่องการวางแผนการตลาด เพิ่มมูลค่า และยอดขายอีกครั้ง

4. การส่งเสริมการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้รวมถึงวิสัยทัศน์ร่วมกัน การสร้างและรวบข้อมูลเครือข่ายหน่วยทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ให้เกิดความพร้อมทุกมิติ อีกทั้งยังร่วมกันพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ กสอ. ได้ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการวิจัยและนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการ ผ่านการเชื่อมโยงหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) อีกทั้ง ยังช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทยและบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นอีกหนึ่งช่องทางหนึ่งในการสร้างความน่าเชื่อถือและสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจอีกด้วย

ทั้งนี้ กสอ. ตั้งเป้าว่าภายในปี 2564 ต้องสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ได้กว่า 100 ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559 – 2563 ดีพร้อม สามารถยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์กว่า 400 ราย อาทิ การพัฒนาชุดอุปกรณ์จ่ายอากาศแบบต่อเนื่องสำหรับหน้ากากชนิดครอบเต็มใบหน้า บริษัท ทีเอ็มดีดี จำกัด โดยทาง ดีพร้อมได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านวัสดุในการผลิต ระบบในการปรับอัตราการไหลของอากาศ แบตเตอรี่ในการใช้งาน และการใช้งานร่วมกับชุดกรองเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ฯลฯ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น