นักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) คิดค้นนวัตกรรมลังไม้ยางพารารมไอน้ำมันหอมระเหย สำหรับผลิตลังใส่ผลไม้ที่สามารถชะลอและควบคุมการสุก ของผลไม้ในระหว่างการขนส่ง ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ให้สดใหม่ก่อนถึงมือผู้บริโภคและปลอดภัยจากเชื้อรา
รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน หัวหน้าทีมนักวิจัยเรื่องลังไม้ยางพารายืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหย และ รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (มวล.) เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วย คณาจารย์ นักวิจัยหลังปริญญาเอก ผู้ช่วยวิจัยของศูนย์ฯ ได้คิดค้นนวัตกรรมลังไม้ยางพารารมไอน้ำมันหอมระเหย สำหรับผลิตลังบรรจุผลไม้ ที่สามารถชะลอและควบคุมการสุก (Inovative rubberwood crates containing essential oil vapors for controlling the ripening of fruits) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับใช้บรรจุผลไม้ต่างๆภายหลังการเก็บเกี่ยวและระหว่างการขนส่งที่สามารถใช้ได้กับผลไม้ทุกชนิด เพื่อชะลอการเสื่อมคุณภาพของผลไม้ ด้วยลังไม้ที่ผลิตจากไม้ยางพารา มีการรมไอและเคลือบสารเคลือบจากธรรมชาติ ช่วยป้องกันการเสียของผลไม้จากเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อรา ซึ่งทำให้สามารถรักษาคุณภาพของผลไม้ ภายหลังการเก็บเกี่ยวได้ยาวนานขึ้น รวมทั้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการบริโภคผลไม้ของผู้บริโภคได้อีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า น้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ได้มาจากพืชตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่มาจากเครื่องเทศ ซึ่งเป็นสารทุติยภูมิที่พืชสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ด้านการป้องกันต้นพืชเองจากแมลง หรือเชื้อรา เป็นต้น ซึ่งคณะนักวิจัยได้ใช้ไอน้ำในการกลั่นเอาน้ำมันหอมระเหยที่พืชสร้างขึ้นนี้ ซึ่งหลังการกลั่นจะได้ของเหลวมีกลิ่นหอมตามชนิดของพืชที่นำมากลั่น เช่น กลิ่นมะนาวจากเปลือกมะนาว กลิ่นสะระแหน่ จากใบสะระแหน่ เป็นต้น โดยนักวิจัยได้ทำการคิดค้นสูตรของไอน้ำมันหอมระเหย ที่สามารถเข้าไปช่วยในการหายใจของผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ช่วยชะลอการสุกของผลไม้ได้ อีกทั้งงานวิจัยนี้ยังคิดค้นวิธีการดูดซับไอของน้ำมันหอมระเหยในลังไม้ยางพารา เพื่อใช้ในการขนส่งผลไม้ โดยในระหว่างการขนส่งไอของผลไม้จะช่วยยับยั้งเชื้อราที่ผิวของผลไม้และยังช่วยชะลอการสุกของผลไม้ได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ถึงแม้ต้นทุนของลังไม้ยางพาราผสมไอน้ำมันหอมระเหยนี้ จะสูงกว่าลังไม้ยางพาราทั่วไปถ้าคิดเฉพาะต้นทุนที่ทำลังไม้ เนื่องจากลังไม้ที่พัฒนาขึ้นมานี้ต้องใช้เทคนิคบางอย่างในการเพิ่มฟังก์ชั่นนี้เข้าไปในเนื้อไม้ แต่จุดคุ้มทุนจะเกิดขึ้นหลังจากที่ลังไม้ถูกใช้ประโยชน์ไปนานๆหลายครั้ง ซึ่งเป็นลังไม้ยางพาราชนิดพิเศษที่ไม่มีเชื้อราและยังออกฤทธิ์ในการถนอมผลไม้ที่ใช้ในการขนส่ง ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการได้มากกว่าลังไม้ทั่วไป โดยขณะนี้มีภาคอุตสาหกรรมผลิตไม้ยางพาราสนใจผลิตเพื่อใช้ประโยชน์และวางจำหน่ายต่อไป
รศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียบนตัวของผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ผลิตภัณฑ์อาหาร บรรจุภัณฑ์อาหาร สเปรย์สำหรับยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ น้ำยาล้างมือ เป็นต้น ซึ่งทางศูนย์ความเป็นเลิศฯ ได้นำองค์ความรู้ไปช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหัตถกรรมของชุมชนต่างๆในจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกด้วย
ทั้งนี้ ทางศูนย์ความเป็นเลิศฯต้องขอขอบคุณทุกแหล่งทุนวิจัยที่สนับสนุนการทำงานการวิจัยของศูนย์ฯมาโดยตลอด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ) และสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหย อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม โซน D1มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 222 ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช 80160 Email: wu_essentialoil@hotmail.com Website: https://essentialoil.wu.ac.th/ และ Facebook: Log in to Facebook
ความเห็น 0