วช. จับมือ อว. สนับสนุนการศึกษาลักษณะพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทย พร้อมระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์จากต่างประเทศ นักวิจัยเผยรหัสพันธุกรรมทำให้ทราบว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เคยระบาดในไทยมีการกลายพันธุ์ แต่ได้หายไปแล้วเนื่องจากการควบคุมที่ดีมาก แต่การควบคุมได้ดีที่สุดคือการใช้วัคซีน
วันที่ 31 มี.ค.64 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยลักษณะทางพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งนอกจากจะศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมและการระบาดวิทยาเชิงโมเลกุลของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 แล้ว ยังศึกษาการกลายพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสด้วย
นักวิจัยได้ศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมและการระบาดวิทยาเชิงโมเลกุลของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย โดยเก็บตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (state quarantine) ตั้งแต่การระบาดในระลอกแรกและการระบาดระลอกใหม่ ซึ่ง ศ.ดร.ยง ภู่วรวรรณ กล่าวถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสว่าเป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้เกิดความหลากหลายตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการจนมีมนุษย์หลายเชื้อชาติที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน แต่เนื่องจากไวรัสมีจำนวนตัวอย่างพันธุกรรมที่น้อยกว่ามนุษย์หลายพันล้านตัวอย่าง และมีอายุสั้นกว่ามาก ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย
"โคโรนาไวรัสมีตั้งหลายสายพันธุ์ แต่เดิมที่ทำให้เกิดหวัดธรรมดาในเด็กก็เป็นไวรัสโคโรนาที่พบกันเป็นประจำอยู่แล้ว ต่อมาก็มีโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการข้ามสายพันธุ์ เราเชื่อว่าข้ามจากสัตว์สู่คน จนมาถึงปี 2562 เกิดโรคอุบัติใหม่มาจนถึงทุกวันนี้คือโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติที่ค่อนข้างจะรุนแรงในรอบ 100 ปี สิ่งที่เราติดตามและเรากลัวมากคือการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม และได้มีการเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ เชื่อว่าเริ่มตั้งแต่ตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 แล้ว แต่อังกฤษเริ่มสังเกตพบเมื่อธันวาคม 2563" ศ.ดร.ยง กล่าว
จากการศึกษาวิจัยทางพันธุกรรมและระบาดวิทยาเชิงโมเลกุลของเชื้อโควิด-19 พบการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 501 ซึ่งทำให้ไวรัสจับกับผิวเซลล์ของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้แพร่กระจายและระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ระบาดไปทั่วโลกก่อนหน้านั้น แต่สายพันธุ์อังกฤษไม่มีผลต่อระบบคุ้มกันหรือภูมิต้านทาน เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษจึงได้กลายเป็น Variants of Concern (VOC) วาระสำคัญของวงการแพทย์ทั่วโลกที่ต้องให้การพิจารณาในทันที
หลังจากนั้นพบการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ที่เป็นวาระสำคัญของวงการแพทย์ทั่วโลกอีก 2 สายพันธุ์ คือ คือสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งพบว่าไวรัสจับเซลล์ได้ดีขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้น และอาจหนีภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนเนื่องจากพัฒนาโดยใช้ไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม อีกสายพันธุ์พบครั้งแรกที่บราซิลเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่พบว่าระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จับไวรัสสายพันธุ์นี้ได้น้อยลง
"สำหรับประเทศไทยเองได้รับการสนับสนุนจาก วช. ให้ถอดรหัสพันธุกรรมติดตามอยู่ตลอดเวลา เราได้ถอดรหัสพันธุกรรมในผู้ป่วยที่อยู่ในสถานกักกันที่เดินทางจากต่างประเทศ เราเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปทีละเล็กทีละน้อยแบบนี้ และเราก็รู้อีกว่าไวรัสก่อโควิด-19 คงไม่หมดไปจากโลกนี้อย่างแน่นอน เพราะขณะนี้มีผู้ป่วยจากทุกประเทศทั่วโลกกว่า 100 ล้านคน เมื่อไม่หมดไป การจะทำให้โรคนี้สงบลงได้ คือ ให้ทุกคนมีภูมิต้านทาน แล้วเมื่อติดเชื้อ ต้องไม่ก่อโรค หรือก่อโรคให้น้อยที่สุด ให้เป็นเพียงแค่หวัดธรรมดา ถ้าทุกคนมีภูมิ ดังนั้นวัคซีนในปัจจุบันจึงมุ่งลดความรุนแรงของโรค" ศ.ดร.ยง กล่าว
จากการติดตามพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ที่เข้ามาในประเทศไทย นักวิจัยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์จากอังกฤษ แต่ได้ควบคุมอย่างรัดกุม และมีมาตรการที่เข้มงวดกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์จากอังกฤษ เช่น การแยกกักกันโรค ระยะเวลาในการเฝ้าระวัง นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าการระบาดระลอกแรกในไทยมีเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เฉพาะที่พบได้เฉพาะในไทย แต่จากการควบคุมที่ดีมากทำให้ไม่พบเชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าวอีก.
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
- "โควิดกลายพันธุ์คู่" ตัวใหม่ที่พบในอินเดียคืออะไร
- อินเดียอ่วม พบ‘โควิดกลายพันธุ์คู่’ชนิดใหม่ ติดเชื้อพุ่งสูงสุดใน 5 เดือน
- "หมอยง" เผยอนาคตวัคซีน "โควิด-19" อาจประกอบด้วยหลายสายพันธุ์
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath
ความเห็น 0