ละครสะท้อนสังคม แต่สังคมไม่ควรสนุกปาก ทำร้ายครอบครัวใคร!
ใครฆ่าเฮียประเสริฐ? นอกจากคำถามนี้ที่ใครๆก็พากันเดาคำตอบไปต่างๆนาๆอีกหนึ่งอย่างที่มาพร้อมซีรีส์เรื่อง "เลือดข้นคนจาง” ก็คือความสงสัยที่ว่าปมความขัดแย้งของพี่น้องในตระกูลเดียวกันจนนำไปสู่การจบชีวิตอย่างเป็นปริศนาของสมาชิกในบ้านนั้นมีเค้าโครงมาจากคดีดังที่เกิดขึ้นกับตระกูลหนึ่งจริงหรือไม่ทั้งที่ผู้กำกับก็เคยให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่าความขัดแย้งในครอบครัวเพราะเรื่องธุรกิจก็คล้ายกันหมดไม่ได้ตั้งใจเจาะจงจะให้เหมือนครอบครัวใดทั้งสิ้น
เลือดข้นคนจาง คือเรื่องราวในตระกูลจิระอนันต์ เจ้าของกิจการโรงแรมจิรานันตาที่มีสาขาในกรุงเทพฯซึ่งลูกชายคนโตคือ ประเสริฐ (ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) บริหาร และที่พัทยาซึ่งลูกสาวคนที่สามคือ ภัสสร (คัทลียา แมคอินทอช) เป็นผู้ดูแล ขณะที่ลูกชายคนรองคือ เมธ (ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง) และ ลูกชายคนสุดท้องคือ กรกันต์ (สุพจน์ จันทร์เจริญ) ไม่ได้เข้ามามีส่วนในการทำงานด้วย แต่พอเปิดพินัยกรรมของ อากงสุกิจ (นพพล โกมารชุน) ออกมากลับพบว่าหุ้นโรงแรมตรงเป็นของพี่น้องผู้ชายทั้งสามและลูกชายคนโตของประเสริฐ โดยที่ภัสสรถูกตัดออกจากหุ้น จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างเธอกับพี่น้องอย่างรุนแรง และจุดเริ่มต้นของการหาคำตอบทั้งหมดก็เกิดขึ้นในวันที่ภัสสรขับรถจากพัทยามาชำระความกับพี่ชายแล้วพบว่าประเสริฐกลายเป็นศพในบ้านของตัวเองไปแล้ว
จุดเริ่มต้นนี้เองนำมาซึ่งการเชื่อมโยงว่าเรื่องนี้ใกล้เคียงกับคดีดังของตระกูลหนึ่ง ที่มีการพบศพชายคนหนึ่งในบ้านของตัวเอง ในช่วงที่กำลังมีปัญหากันในหมู่พี่น้องเรื่องมรดก และก็เป็นเพียงจุดเดียวที่คนในสังคมมักนำมาพูดถึงไม่รู้จักจบจักสิ้น
คำถามที่เราควรจะถามตัวในฐานะ "คนนอก" ก็คือ มันสมควรหรือไม่ที่จะนำคดีซึ่งเป็นความขัดแย้งภายในบ้านของคนอื่น ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีใครในครอบครัวอยากให้เกิดขึ้นแน่ ๆ มาวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนเป็นเรื่องทั่วไปที่พูดกันได้ ทั้งที่สำหรับคนในบ้านแล้วเรื่องนี้คือแผลใหญ่ที่ไม่มีวันรักษาได้ ไม่มีทางหายถึงแม้กระบวนการในชั้นศาลจะจบไปแล้วก็ตาม
แผลนี้ไม่เคยหาย
เพราะว่าปมความขัดแย้งในครอบครัวเป็นโครงสร้างหลักที่ประสบความสำเร็จของละครหลายๆเรื่อง จึงไม่แปลกที่ประเด็นนี้จะถูกนำมาทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งอาจบังเอิญไปคล้ายกับเรื่องที่เกิดขึ้นจริง จนคนในสังคมนำไปเปรียบเทียบเพื่อเพิ่มความสนุกในการรับชมละครของตน
แต่หากลองคิดในทางกลับกันว่าถ้าเป็นครอบครัวของเรา เราคงไม่อยากให้ใครนำความรุนแรงหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านของเราไปเชื่อมโยงกับสื่อใด ๆ หรือนำไปพูดถึงไม่ว่าจะในกรณีใดๆก็ตาม เพราะแม้คดีจะจบลงในชั้นศาลไปแล้วแต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนในครอบครัวมักเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเยียวยาได้ยาก
ยิ่งมีผลประโยชน์หลักพันล้านหมื่นล้านเข้ามาเกี่ยว ยิ่งหนึ่งในนั้นถูกจบชีวิตเพราะความขัดแย้งแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ก็ย่อมจะมีบาดแผลในใจที่ลบไม่ได้ แม้จะไม่มีใครนำคดีนี้ไปพูดต่อ ไปอ้างอิงแบบทุกวันนี้ก็ตาม
ดังนั้นแล้วแม้ว่าจะมีความรู้สึกความคิดเห็นอย่างไร ก็อยากจะฝากไว้ให้คิดว่า ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก่อนที่จะวิจารณ์หรือหยิบยกบาดแผลของใครมาพูด ว่าคำพูดคำวิจารณ์นั้นจะกระทบกับจิตใจของผู้ถูกกล่าวถึงหรือไม่ แม้ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
เพราะมันอาจทำให้บาดแผลที่พยายามรักษาให้หายสนิทถูกสะกิดให้เปิดขึ้นอีกครั้ง
Source
http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/342398
https://www.cops-magazine.com/topic/9497/
https://www.springnews.co.th/view/346590
https://drama.kapook.com/gallery/198751/22526
https://www.thairath.co.th/content/439768
https://www.thairath.co.th/content/1377937