ช่วงนี้คงไม่มีข่าวใดเป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศเท่ากับข่าวคราวการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ บางคนลุ้น บางคนเครียด ในขณะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาวะที่การจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จลุล่วงเสียที ทั้งที่การเลือกตั้งผ่านไปนาน 2 เดือนแล้ว
ต้องถือว่าการตั้งรัฐบาลครั้งนี้มีความอลหม่าน สับสน และอึมครึมไม่น้อย อาจจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ทุลักทุเลที่สุดครั้งหนึ่งของการเมืองสมัยใหม่เลยก็ว่าได้ มีแนวโน้มว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสม ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า coalition government และไม่ใช่รัฐบาลผสมธรรมดา
แต่อาจจะเป็นรัฐบาลผสมถึง 20 พรรค! ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย และเท่าที่ความรู้ที่ผมมีอยู่ รัฐบาลผสมที่ใช้พรรคการเมืองจำนวนมากขนาดนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลกเช่นกัน หากเกิดขึ้นจริง ประเทศไทยของเราก็จะมีสถิติ (แปลกๆ) ลงในกินเนสส์บุ๊คอีกเรื่องหนึ่ง
ลำพังการมีรัฐบาลผสมไม่ใช่เรื่องแปลกในการเมืองไทย แต่รัฐบาลผสมที่ผ่านมามักจะรวมกันแค่ 4-5 พรรค อย่างมากที่สุดก็ 8-9 พรรคเท่านั้น
การเลือกตั้งปี 2562 ทำให้หวนย้อนคิดถึงการเลือกตั้งในอดีตเมื่อปี 2518 ในแง่ที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากพาเหรดเข้าสู่สภา ตอนปี 2518 มีพรรคการเมือง 23 พรรคมีที่นั่งในสภา
โดยในจำนวนนี้มี 5 พรรคการเมืองที่มีส.ส.ในสังกัดแค่พรรคละ 1 คนเท่านั้น ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันมาแรงแซงโค้งกลายเป็นสภาที่พรรคการเมืองมากที่สุดถึง 27 พรรค และมีถึง 11 พรรคที่มีผู้แทนแค่ 1 คนเท่านั้น
พรรคเล็ก 11 พรรคนี้ ได้เข้าสู่สภา ทั้งที่มีคะแนนเสียงต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยที่พรรคพึงมี (คือ 71,000 คะแนน) อันเนื่องมาจากสูตรคำนวณที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลือกใช้
จนทำให้มีเสียงวิพากษืวิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะไม่เคยมีการประกาศหรืออธิบายสูตรการคำนวณนี้มาก่อนการเลือกตั้ง ผลที่จะตามมาของการเลือกใช้สูตรคำนวณแบบพิสดารนี้ คือ จะทำให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากในการเลือกตั้งครั้งหน้า
การมีพรรคเล็กๆ ในสภาไม่ใช่เรื่องเสียหายเสมอไป ถ้าพรรคเล็กมีนโยบายที่ดีที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่ถ้าพรรคเล็กนั้นเป็นพรรคที่ชูตัวบุคคลมากกว่านโยบาย แถมยังได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ การมีพรรคเล็กแบบนี้มากๆ ถือว่ามีประโยชน์น้อยต่อประชาชน
ครั้งนี้เราอาจจะได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยพรรคที่ไม่ได้ชนะอันดับ 1 ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ คือ ช่วงปี 2518 ที่พรรคกิจสังคมที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดเพียง 18 เสียง แต่สามารถพลิกเกมเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
ที่ทำเช่นนั้นได้เพราะบารมีของหัวหน้าพรรค คือ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลผสมของหม่อมคึกฤทธิ์ประกอบด้วยพรรคจำนวนมาก จึงถูกขนานนามจากสื่อมวลชนว่า “รัฐบาลสหพรรค”
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหพรรคก็มีอายุสั้นมาก คือประมาณ 10 เดือนเท่านั้น (14 มีนาคม 2518 - 12 มกราคม 2519) เพราะมีการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงตำแหน่งระหว่างพรรคต่างๆ ในรัฐบาลด้วยกันอย่างรุนแรง แต่ละพรรคเรียกร้องอยากได้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ
แลกกับการยกมือสนับสนุนรัฐบาล จนถึงจุดหนึ่ง นายกฯ คึกฤทธิ์ไม่สามารถบริหารจัดการความขัดแย้งให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้หมด ก็จำใจต้องยุบสภา และประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในท้ายที่สุด
ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่น่านำมาเป็นอุทธาหรณ์ คือ ในปี 2535 เมื่อคณะรัฐประหารที่เรียกตนเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำการยึดอำนาจและจัดให้มีการเลือกตั้ง ปรากฎว่าพรรคสามัคคีธรรมอันเป็นพรรคตัวแทนของรสช. จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
โดยร่วมกับอีก 4 พรรคคือ พรรคชาติไทย กิจสังคม ราษฎร และประชากรไทย และพล.อ.สุจินดา คราประยูร หัวหน้ารสช. ยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ที่จะไม่รับตำแหน่งใดๆ แต่กลับก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง สุดท้ายถูกประชาชนคัดค้านขับไล่ จนพลเอกสุจินดาต้องพ้นจากตำแหน่งในเวลาอันรวดเร็ว ทำสถิติเป็นหนึ่งในนายกฯ ไทยที่อยู่ในอำนาจสั้นที่สุด เพียงแค่ 47 วันเท่านั้น
เมื่อดูจากประวัติศาสตร์แล้ว รัฐบาลผสมของไทยมักมีอายุสั้น เฉลี่ยแค่ประมาณ 1-2 ปีเท่านั้น (มาเร็วไปเร็วไม่ถึง 2 เดือนก็มีมาแล้ว) ส่วนใหญ่ล่มสลายด้วยการแพ้ภัยตัวเอง คือ การทะเลาะเบาะแว้งและเจรจาผลประโยชน์กันไม่ลงตัวภายในพรรคร่วมรัฐบาล ปัญหาเสถียรภาพจึงเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลผสม
รัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคจำนวนมากยังมีจุดอ่อนร้ายแรงที่สำคัญอีก 2-3 ประการ คือ การคำนึงถึงปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่ามีวิสัยทัศน์ระยะยาวในการแก้ไขปัญหาประเทศ เพราะรู้ว่าอาจอยู่ไม่นาน ทุกพรรคจึงต้องเร่งหาผลประโยชน์เฉพาะหน้า
ช่วงฮันมีมูนพีเรียดจะสั้น ทิศทางนโยบายมักจะขาดความชัดเจน เพราะต้องนำนโยบายของหลายพรรคมาผสมกัน ยังไม่ต้องพูดถึงการแย่งชิงตำแหน่ง การคอร์รัปชั่น และการ “ซื้อเสียงส.ส.”เพื่อแลกกับเสียงยกมือในสภาเพื่อจะผ่านกฎหมาย ในกรณีการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ
ก็น่าแปลกใจไม่น้อยที่ผ่านไป 5 ปี สังคมไทยกลับได้มาซึ่งระบบเลือกตั้งที่สร้างระบบพรรคการเมืองที่อ่อนแอกว่าเดิม จนอาจจะต้องตั้งรัฐบาลผสมถึง 20 พรรค ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปมองในประวัติศาสตร์แล้ว คงพอเห็นได้ว่าอนาคตข้างหน้านั้นไม่สดใสเท่าไหร่นัก…
ความเห็น 35
chayanon
BEST
ทำไมบทวิเคราะห์และข้อมูลดีๆแบบนี้ ไม่มีคนอ่าน งง
28 พ.ค. 2562 เวลา 11.19 น.
Chai
BEST
คนตั้งกติกา คิดอย่างเดียวคือทำลายล้างฝั่งตรงข้าม
28 พ.ค. 2562 เวลา 11.25 น.
Somchai Nararat
ร่วมหอลงโลง..เป็นเรือแป๊ะ หรือพายเรือให้โจรนั่งภาค 2 ก็ดูกันต่อไปว่าจะเป็นไง แล้วจะรู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้นเวลาได้เปรียบละก็ไม่เคยปราณีใครในสงครามการเมือง
28 พ.ค. 2562 เวลา 11.33 น.
Vanida
ประเทศเรามาถึงจุดนี้ได้เพราะอะไร เพราะเรามีนกม.ที่คำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น หรือประกอบกับระบบอุปถััััมภ์ที่ฝังรากลึกไม่ยอมแปรเปลี่ยน รวมทั้งการศึกษาที่กระจุกตัวอยู่แค่ด้านบนและกลางของปิรมิด สรุปคือปัญหายังไม่หายไปไหน เราก็ต้องวนเวียนเจอปัญหาเดิมๆไปจนกว่าจะหาไม่
28 พ.ค. 2562 เวลา 11.30 น.
เดินทางมาไกล
มีแน่นอนยุคไอ้ตูบ
28 พ.ค. 2562 เวลา 11.21 น.
ดูทั้งหมด