ตลาดรถยนต์ปี 2563 ทรุดหนัก ทุกค่ายตั้งการ์ดรักษาส่วนแบ่งตลาด”โตโยต้า” ประเมินตลาดในประเทศเหลือแค่ 9.4 แสนคัน ลดลงจากปีก่อนเกือบ 7 หมื่นคัน เผยพิษ ศก.-ไฟแนนซ์เข้ม ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ “ฮอนด้า” ยอมรับปีแห่งความยากลำบาก “สินเชื่อรถ-ประกัน” ร่วงตาม
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปี 2563 จะเป็นอีกหนึ่งปียากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หลังจากตลาดเริ่มส่งสัญญาณยอดขายลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.ปีที่ผ่านมา ทำให้บทสรุปยอดขายปี 2562 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 1,007,552 ล้านคัน ลดลง 3.3% แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 398,386 คัน (-0.3%) และรถเพื่อการพาณิชย์ 609,166 คัน (-5.1%)
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานภาพรวมการส่งออกสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบปี 2562 มีมูลค่า 35,351 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.95% จากปี 2561 โดยเป็นการลดลงเกือบทุกประเภท ทั้งรถยนต์นั่ง รถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุก มีเพียงกลุ่มรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบที่ส่งออกขยายตัว
โตโยต้าชี้ตลาดรถร่วง 6.7%
นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปีนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องเผชิญโดยเฉพาะปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก สงครามการค้าที่แม้จะพักรบ แต่ก็ยังไม่แน่นอน ทำให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่าย ขณะที่สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดการปล่อย
สินเชื่อ ทำให้โตโยต้าประเมินว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2563 เหลือเพียง 940,000 คัน ลดลง 6.7% จากปี 2562 ที่ทำได้ 1,007,552 คัน หมายความว่ายอดขายปีนี้จะหายไปเกือบ 7 หมื่นคัน โดยจะมาจากรถยนต์นั่ง 358,500 คัน ลดลง 10% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 581,500 คัน ลดลง 4.55%
ในส่วนของโตโยต้า ซึ่งปีที่ผ่านมามีส่วนแบ่งตลาดในประเทศ 33% และปีนี้ยังคงตั้งเป้ารักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ที่ระดับเดิม ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้ 310,000 คัน ปรับลดลง 6.7% ในอัตราเท่ากับการหดตัวของตลาดรวม โดยยอดขายปีนี้คาดว่าจะเป็นรถยนต์นั่ง 103,000 คัน ลดลง 12.5% รถเพื่อการพาณิชย์ 207,000 คัน ลดลง 3.6% ส่วนยอดส่งออกอยู่ที่ 263,000 คัน ลดลง
1% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมียอดส่งออก 264,775 คัน ลดลง 10% เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังไม่คลี่คลาย คาดว่ากลุ่มตลาดโอเชียเนียจะมีความยากลำบาก เมื่อเทียบกับตลาดตะวันออกกลางที่น่าจะส่งออกได้มากกว่า
“อีโคคาร์” ลำบาก-ปิกอัพตัวช่วย
นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวถึงปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ “กำลังซื้อ”
โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ซื้อรถปิกอัพและอีโคคาร์ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของเศรษฐกิจ
“จากการประเมินเชื่อว่ากลุ่มอีโคคาร์ไม่น่าจะเติบโต ส่วนปิกอัพจะเป็นตัวขับเคลื่อน โดยจากตัวเลขยอดขายปีก่อน ตลาดรวมปิกอัพมีสัดส่วนสูงเกือบ 60% อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกว่าจะผ่านพ้นไปในรูปแบบใด”
นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่อาจจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อครึ่งปีหลังให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ คือ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้เมื่อไหร่ ซึ่งจะต้องรอดูความชัดเจน แต่โตโยต้าจะไม่รอ จะเดินหน้าทำการตลาดแบบเจาะลึกและเข้มข้นต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา โดยนำหลัก “ไคเซน” มาปรับใช้ในทุกส่วนของการทำตลาด ทั้งโปรดักต์ แคมเปญส่งเสริมการขาย บริการหลังการขาย เพื่อให้สามารถนำเสนอสินค้าและบริการได้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
“ยิ่งตลาดหดตัวมากเท่าไร โตโยต้ายิ่งต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า”
“ฮอนด้า” ปีแห่งความลำบาก
ด้านนายณัฏฐ์ ปฏิภานธาดา ผู้จัดการทั่วไปส่วนการตลาดและวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เริ่มเห็นสัญญาณของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2562 เป็นต้นมา และปี 2563 เชื่อว่าจะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากยังคงมีปัจจัยลบต่อเนื่อง ทั้งความเข้มงวดของสถาบันการเงิน สถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายใน และภายนอกประเทศ
โดยยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าไตรมาสแรกปีนี้ตลาดจะทรุดตัวลงไปมากกว่านี้หรือไม่ และเชื่อว่ายอดขายทั้งปีจะไม่ถึง 1 ล้านคัน สำหรับฮอนด้าปีที่ผ่านมามียอดขาย 125,832 คัน และปีนี้บริษัทจะพยายามรักษายอดขายให้เคียงกับปีก่อน
ฉุดสินเชื่อรถหดตัว 1-2%
นายธีรชาติ จิรจรัสพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารธนชาต ในฐานะประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ค่ายรถยนต์ประเมินยอดขายรถยนต์ใหม่ปี 2563 จะอยู่ที่ 9.4 แสนคัน หรือลดลง 6.7% นั้น จะส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่โดยตรง แต่ยังต้องรอดูภาวะตลาดรถมือสอง ซึ่งอาจจะไม่หดตัวเท่ารถใหม่ เบื้องต้นประเมินยอดคงค้างสินเชื่อรถยนต์ปีนี้อาจจะทรงตัว หรือหดตัว 1-2% เนื่องจากอาจจะมีการเติบโตจากสินเชื่อจำนำทะเบียนมากขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ทำให้ผู้บริโภคต้องการใช้เงิน
“ปัจจุบันมีเจ้าของรถยนต์นั่งและรถปิกอัพที่ปลอดภาระแล้วกว่า 12 ล้านราย ที่สามารถมารีไฟแนนซ์เพื่อรับเงินสดไปเสริมสภาพคล่องได้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล”
นายธีรชาติกล่าวอีกว่า สิ่งที่สถาบันการเงินและผู้ให้บริการธุรกิจเช่าซื้อควรให้ความสำคัญในปีนี้ จะเป็นเรื่องของคุณภาพสินเชื่อที่อาจจะไม่เพียงแค่การเข้มงวดด้านเครดิต แต่สถาบันการเงินควรช่วยเหลือลูกค้าให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจ โดยขยายเวลาการชำระหนี้เพื่อลดค่างวดลง เพื่อรักษาคุณภาพหนี้ช่วยลูกค้า แทนที่จะใช้ต้นทุนต่ำไปแข่งกันแย่งปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างเดียว เพราะแนวโน้มความต้องการซื้อรถยนต์โดยรวมเท่าเดิมหรือลดลง ถ้าสินเชื่อด้อยคุณภาพลงมากจะเป็นผลเสียต่อทุกฝ่าย
ประกันหนีตายจ่อขึ้นเบี้ยรถใหม่
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอดขายรถยนต์หดตัวจะกระทบเบี้ยใหม่ของธุรกิจประกันภัยรถยนต์ลดลงประมาณ 20% จากเบี้ยรวมประกันรถยนต์ทั้งระบบที่ 1.25 แสนล้านบาท ทำให้ภาพรวมของธุรกิจประกันภัยรถยนต์จะเติบโตเพียง 2-3% ในปีนี้ แต่เนื่องจากภาวะการแข่งขันของธุรกิจประกันภัยรถยนต์ หลังจากที่มีปัญหาขาดทุนมา 2-3 ปีต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มรถใหม่เบี้ยประกันแทบไม่มีกำไร ทำให้ปีนี้เชื่อว่าธุรกิจต้องพิจารณาต้นทุนเป็นหลัก และต้องมีการปรับขึ้นเบี้ยกลุ่มรถใหม่ ซึ่งจะหนุนให้เบี้ยประกันรถยนต์ทั้งระบบมีโอกาสเติบโตได้ถึง 4-5%
ความเห็น 0