เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดการประชุมการลงพื้นที่เพื่อเติมเต็มและขยายผลเชิงประจักษ์ของโรงเรียนบ้านมะอึ จ.ร้อยเอ็ด ผ่านโปรแกรม ZOOM ว่า ตนได้มอบนโยบายใหักับคณะทำงานได้ร่วมกันเติมเต็มเพื่อให้เห็นภาพของการจัดการเรียนรู้สู่สมรรถนะผู้เรียน ผ่านความร่วมมือ ร่วมใจของ ส่วนกลาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ผู้บริหาร ครู ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมอบหมายให้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำ "One Team" 5 สำนัก ได้แก่ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สํานักทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) สำนักบริหารความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา (สบว.) สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) และหน่วยศึกษานิเทศก์ (ศนฐ.) ร่วมกันเติมเต็มและขยายผลเชิงประจักษ์ เป็นการค้นหาต้นแบบ และสร้างความมั่นใจให้กับโรงเรียนบ้านมะอึ สังกัด สพป.ร้อยเอ็ด เขต 1 และโรงเรียนเครือข่าย ในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นหนึ่งตัวอย่างของบริบทหนึ่งให้กับโรงเรียนทั่วประเทศในการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) แล้วปรับการเรียนรู้จนเกิดสมรรถนะของผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.เกศทิพย์ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงาน (ผู้อำนวยการและคณะครู โรงเรียนบ้านมะอึ) และ 5 สำนักจากส่วนกลาง ร่วมกับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมห้องเรียน ทำให้เห็นภาพของการจัดการเรียนรู้นำไปสู่สมรรถนะผู้เรียนได้อย่างชัดเจน การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นสะพานเชื่อมฝ่ายนโยบายส่วนกลาง และส่วนของพื้นที่ ในการสร้างความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาการศึกษาที่ไปในทางทิศทางเดียวกัน ทำให้เกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจว่า ทุกฝ่ายจะช่วยกันยกระดับการศึกษาให้สามารถไปสู่สมรรถนะผู้เรียนได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้นักเรียนประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเรียน และการดำรงชีวิตควบคู่กันไป ทั้งนี้ โรงเรียนบ้านมะอึ ตั้งอยู่ในอำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นสถานศึกษาที่จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning, Lesson Study และ Open Approach ซึ่งมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเครือข่ายร่วมสนับสนุน
การจัดการเรียนรู้สู่สมรรถนะผู้เรียน เป็นการดึงศักยภาพของผู้เรียนออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด เพราะสมรรถนะนั้นเป็นความสามารถในการใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ตนมีในการทำงาน หรือการแก้ปัญหาต่าง ๆ หรือนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยให้เห็นคุณค่าของความรู้ ทักษะ ที่ได้เรียนมาใช้ในสถานการณ์ต่างๆ จนเกิดเป็นผลสำเร็จ โรงเรียนบ้านมะอึ เป็นตัวอย่างหนึ่งของโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) จัดการเรียนรู้ แบบ Active Learning และนำ K S และ A มาใช้ผ่านกิจกรรม Open House และกิจกรรมอื่นๆ ไปสู่สมรรถนะสำคัญกับผู้เรียนทั้ง 5 ด้าน (ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี) ได้
โดยกิจกรรมที่ดำเนินการวันนี้ มีดังนี้ ประชุมร่วมกันระหว่างโรงเรียน (ผอ.โรงเรียน ครู) และผอ.สำนักทั้ง 5 สำนักจาก สพฐ. ส่วนกลาง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์แผนการจัดการเรียนรู้ พร้อมให้คำแนะนำ เพื่อเติมเต็มและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่ทำให้เกิด output ในห้องเรียนและพื้นที่แหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน กิจกรรมที่นำไปสู่สมรรถนะผู้เรียน ซึ่งนำไปสู่ outcome ช่วงปลายปีที่จัดขึ้น โดยมีส่วนกลางเป็นผู้ช่วยสะท้อนสิ่งที่ได้จากการเยี่ยมชมชั้นเรียน ผ่านการชื่นชม พร้อมเติมเต็มให้สมบูรณ์มากขึ้น และสามารถนำมาเป็นแบบอย่างให้ โรงเรียนอื่น ๆ ใช้เป็นแนวทางลงสู่การปฏิบัติเชิงประจักษ์ การถ่ายทำวีดิทัศน์ "สถานศึกษาต้นแบบจัดการเรียนรู้สู่สมรรถนะผู้เรียน หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ปรับปรุง 2560" เพื่อนำไปเผยแพร่ ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ที่มีบริบทคล้ายคลึงกัน เกิดความเข้าใจ และสามารถไปใช้ได้เหมาะสมกับบริบท จนสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะได้อย่างแท้จริง สร้างเครือข่าย ผอ.รร. ในพื้นที่เดียวกันเพื่อต่อยอดและนำความรู้ไปเติมต่อในรร. ตนเองวางแผนการผนึกกำลัง one team รร. ที่บริบทแตกต่างกัน เพื่อไปเติมเต็มและดำเนินการร่วมกันในจังหวัดอื่นและภาคอื่นต่อไป
"การได้ศึกษาหาความรู้ ได้รับการฝึกทักษะต่าง ๆ และได้รับการพัฒนาเจตคติและคุณลักษณะที่พึงประสงค์เหล่านั้น รวมทั้งการนำความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ และในชีวิตจริงได้ ทั้งนี้ โรงเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้สำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเองออกมา และหลายโรงเรียนได้มีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งโรงเรียนบ้านมะอึ จะเป็นตัวอย่างในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดสมรรถนะแก่ผู้เรียน และทีมงานจะลงพื้นที่ไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่มีบริบทที่หลากหลาย เพื่อเป็นการขยายผลและจะได้นำมาเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป" รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ความเห็น 0