'ประเทศไทยมีกระทรวงเวทมนตร์ได้ยัง?'
คำถามที่ฟังดูเหมือนถามเอาสนุกในกลุ่มเพื่อนนี้ อาจสะท้อนความคิดต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เรามักเห็นบุคคลทั้งในและนอกศาสนา พากันอวดอภินิหารมนตรา ตั้งลัทธิประหลาด ไปจนถึงคุณไสยมนตร์ดำ หรือพูดอีกอย่างคือ การกระทำใดๆ ที่ผิดแปลกไปจากแนวคิดเชิงพุทธที่เราคุ้นเคยกัน เปรียบเทียบกับ 'กระทรวงเวทมนตร์' กระทรวงสมมติในวรรณกรรมยอดฮิตเรื่อง'แฮร์รี่ พอตเตอร์' ที่ทำหน้าที่คล้ายผู้คุมกฎของโลกเวทมนตร์ตามบริบทในท้องเรื่อง
การเรียกร้อง 'กระทรวงเวทมนตร์' ให้มาช่วยปราบปรามศาสตร์มืดในไทยวันนี้อาจเป็นไปได้ยาก เพราะเรามีทั้งกฎหมายและวิทยาศาสตร์ ที่น่าจะครอบคลุมทั้งการจัดการและพิสูจน์ความจริงของทุกคดีความ แต่หากย้อนไปในประวัติศาสตร์ชาติไทย สมัยที่ 'ไสยศาสตร์' ยังเป็นเรื่องปกติและไม่ถูกจัดในหมวด 'งมงาย' จะพบว่าดินแดนสยามก็เคยมี 'กระทรวงเวทมนตร์' อยู่จริงๆ! ทั้งยังทำหน้าที่ตัดสินคดีที่เกี่ยวกับเวทมนตร์และศาสตร์มืดเสียด้วย คราวนี้ไม่ต้องพึ่ง 'เครื่องย้อนเวลา' ของนางสาวเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ แต่อย่างใด อ่านบรรทัดถัดไปได้เลย!
กระทรวงเวทมนตร์แห่งสยาม - ย้อนดูการจัดการศาสตร์มืดแบบไทย
ไสยศาสตร์และเรื่องเวทมนตร์อยู่คู่กับเมืองไทยมาช้านาน มีความเชื่อว่าไทยได้รับอิทธิพลแนวคิดเรื่องเวทมนตร์มาจากศาสนาพราหมณ์ ตามคัมภีร์อาถรรพเวทซึ่งแบ่งออกเป็น 2 สาย คือสายขาว เป็นวิชาอาคมในการทำความดี ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และสายดำ เป็นการใช้วิชาในทางชั่วร้าย ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น
ย้อนไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไสยศาสตร์ไทยถือว่าได้รับอิทธิพลจากเขมรค่อนข้างมาก ซึ่งว่ากันว่าวิชาของทางฝั่งเขมรมักเป็นวิชาสายดำ เกี่ยวข้องกับการเล่นของหรือคุณไสย เช่น เสกของเข้าตัว เสน่ห์ยาแฝด ควายธนู และการบูชายัญ เป็นต้น
ความนิยมของคุณไสยมีมาตั้งแต่ช่วงตอนปลายยุคกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คนไทยแทบทุกระดับต่างข้องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ทั้งนั้น ตั้งแต่ชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย พระภิกษุ ไปจนถึงไพร่ฟ้าตาดำๆ เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังปรากฏในตำราประวัติศาสตร์ว่าในสมัยพระเจ้าอู่ทอง มีกฎหมายหลายมาตรา รวมถึงบันทึกการพิจารณาคดีความเกี่ยวกับไสยศาสตร์ด้วย โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ดังกล่าวคือ'กระทรวงแพทยาคม' หรือ'ศาลกระทรวงแพทยา'
'แพทยาคม' มาจากการผสมคำว่า'แพทย' และ 'อาคม' คำว่า 'แพทย' แปลว่าหมอรักษาโรค ส่วนคำว่า 'อาคม' แปลว่า เวทมนตร์ เมื่อนำมารวมกัน อาจแปลได้เป็นอาชีพแสนแฟนตาซีว่า'หมอรักษาโรคเวทมนตร์'
เจ้าหน้าที่แพทยาคมมีหน้าที่พิจารณาความข้อกล่าวหา ใครเป็นกระสือ กระหัง ใครทำอาคมใส่ใคร ไม่ว่าจะว่านยา ทำเสน่ห์ รีดลูก โดยผู้เสียหายไม่ถึงตาย หากพบเห็นผู้กระทำผิดหรือตกเป็นเหยื่อ ก็สามารถไปร้องทุกข์กับกระทรวงแพทยาคมได้เลย สำหรับบทลงโทษจำเลย ในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้มีการกำหนดบทลงโทษสูงสุดสำหรับลงโทษจำเลยคดีที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์และอาคม เรียกว่า 'โทษประหารชีวิต 21 สถาน' มีตั้งแต่การให้ต่อยศีรษะให้แยกออกจากกัน แล้วนำถ่านมาหย่อนใส่สมอง ถลกหนังบนใบหน้าแล้วเอากรวดหรือเกลือถู เอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วทั้งสิบแล้วจุดไฟเผา ไปจนถึงการค่อยๆ เฉือนเนื้อมาชั่ง จนกว่าจะหมดทั้งตัว และอีกมากมายที่สยดสยองไม่แพ้กัน รับรองว่าฟังแล้วต้องอยากเลิกเป็นหมอผีกันบ้างล่ะ!
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแพทยาคม ถูกลดบทบาทลงในสมัยรัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ. 2380 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปหลายอย่างในแผ่นดิน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปศาล และท้ายที่สุดก็ถูกยุบกระทรวงลง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2434 เพราะถูกมองว่าล้าหลัง ประกอบกับเวลานั้นรัชกาล 5 ทรงมีนโยบายพัฒนาประเทศชาติให้เจริญทัดเทียมชาติมหาอำนาจ ก็เป็นอันหมดยุครุ่งเรืองของกระทรวงเวทมนตร์สไตล์ไทยที่ชื่อว่า 'กระทรวงแพทยาคม'
ทำอย่างไร หากเจอผู้วิเศษยุคโมเดิร์น
ในกรณีของประเทศไทย ที่มีสัดส่วนของ 'ผู้นับถือศาสนาพุทธ' มากที่สุด ปัจจุบันก็มี 'สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ' หรือเรียกสั้นๆ ว่าสำนักพุทธฯ องค์กรที่ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 คอยดูแลกิจการพระศาสนาอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีคดีความที่ไม่ตรงกับพระไตรปิฎก หรือ 'มีความนอกรีต' สำนักพุทธฯ จะขอความร่วมมือให้พระที่อยู่ในระบอบปฏิบัติตามจารีต และหลายครั้งอย่างที่เราเห็นในข่าว เช่น ภาพแม่สิตางค์บนกำแพงวัด หรือขนมอาลัวพระเครื่อง สำนักพุทธฯ ก็จะทำหน้าที่ตักเตือนด้วย
และหากมีการใช้ศาสนาหรือไสยศาสตร์ในทางหลอกลวง กฎหมายก็ช่วยได้เหมือนกัน แม้จะไม่ได้ถูกระบุเป็นหมวดหมู่มนตร์ดำอย่างในอดีต แต่คดีความที่เกี่ยวกับคุณไสยส่วนมากจะถูกตีความเป็นการฉ้อโกง อย่างคดีค้าขายน้ำมันพรายโดยอ้างว่าจะทำให้ค้าขายดี หรือกรณีที่โด่งดังมากๆ อย่าง 'เณรแอร์' ที่อวดอ้างว่าเป็นจอมขมังเวทย์ จนมีผู้เสียหายหลงเชื่อและมอบเงินให้มากมาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวลึกลับและไสยศาสตร์อยู่คู่กับเรามาทุกยุค หากไม่มีกระทรวงเวทมนตร์คอยสอดส่องดูแล ก็เป็นหน้าที่ของตัวเราเอง ที่ต้องใช้ 'สติและวิจารณญาณ' เป็นคาถาเด็ดในการป้องกันตัวเองจากศาสตร์มืดที่อาจจู่โจมเราได้ทุกเมื่อ
อ้างอิง