บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น TTW เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายน้ำประปาภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตปัจจุบันที่มากกว่า 1,028,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
รูปแบบธุรกิจของTTW จะเป็นลักษณะการทำสัญญาซื้อขายน้ำประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และมีปริมาณรับซื้อขั้นต่ำกำหนดไว้ในสัญญา จากนั้น น้ำประปาดังกล่าว จะถูกนำไปขายให้กับลูกค้าต่อไป
TTW ได้รับสัมปทานประกอบกิจการประปา จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นระยะเวลา 25 ปี สำหรับใช้น้ำจากแม่น้ำท่าจีน ในการผลิตน้ำประปา
โครงสร้างรายได้ปัจจุบันของ TTW สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก
- ดำเนินธุรกิจภายใต้ TTW
เป็นการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และนครปฐม กำลังการผลิตสูงสุด 540,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีสัญญาซื้อขายน้ำประปาจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2577
- ดำเนินธุรกิจภายใต้ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด
บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด (PTW) เป็นบริษัทย่อยที่ TTW ถือหุ้น 98% เพื่อผลิต และจำหน่ายน้ำประปาในพื้นที่ปทุมธานี-รังสิต กำลังการผลิตสูงสุด 488,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีสัญญาซื้อขายน้ำประปาจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2566
- ดำเนินธุรกิจภายใต้ บริษัท ไทยวอเตอร์ โอเปอเรชั่นส์ จำกัด
บริษัท ไทยวอเตอร์ โอเปอเรชั่นส์ จำกัด (TWO) เป็นบริษัทย่อยที่ TTW ถือหุ้น 68% และ PTW ถือหุ้น 32% ประกอบธุรกิจบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ให้กับลูกค้าในเขตโรงงานอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่ติดตามหุ้น TTW จะรู้ว่า มีประเด็นที่ยังไม่แน่นอนอยู่หนึ่งเรื่อง นั่นก็คือการการต่อสัญญาขายน้ำของ PTW ที่กำลังจะหมดอายุลงในปีนี้แล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่กดดันมูลค่าหุ้นมาตลอด
เนื่องจากพื้นที่โซนรังสิต-ปทุมธานี มีความต้องการน้ำประปาเร่งตัวสูงขึ้นมาก ดังนั้น การได้ต่อสัญญาออกไปจะเป็นอัพไซด์ ที่หนุนการเติบโตจของบริษัทได้ชัดเจนในอนาคต
บทวิเคราะห์บล.กสิกรไทย ระบุว่า แม้ TTW จะมีประเด็นที่ไม่แน่นอน ทว่าผลตอบแทนยังน่าดึงดูดให้เข้าลงทุน เนื่องจากเชื่อว่า TTW จะสามารถเจรจากับรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนสัมปทานของ PTW ไปเป็นสัญญาเช่า พร้อมเงื่อนไขบางประการ
ปัจจุบัน สัมปทานอยู่ภายใต้รูปแบบ Build-Own-Operate-Transfer (BOOT) คือ ต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดไปให้ กปภ. เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลง
วิเคราะห์สมมติฐานได้ 3 กรณี
- เปลี่ยนจากรูปแบบสัมปทาน ไปเป็นสัญญาเช่าพร้อมเงื่อนไข เช่น การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตและลดราคาขาย (กรณีฐาน)
- ขยายระยะเวลาสัมปทาน พร้อมเงื่อนไขเดิม (กรณีดีที่สุด)
- ไม่มีการต่อระยะเวลาสัมปทาน (กรณีเลวร้ายที่สุด)
TTW ได้ยื่นเสนอสัญญาใหม่ให้ กปภ. ไปเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และกำลังเจรจากับรัฐบาล เพื่อหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว ทว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเพิ่งประกาศยุบสภา จึงส่งผลให้ข้อสรุปต้องล่าช้าออกไป
แต่ TTW จะมีปัจจัยบวกมาหนุนจากการคาดกำไรสุทธิปี 2566 ที่จะเพิ่มขึ้นจากยอดขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น ตามเงินเฟ้อครั้งก่อน และยอดขายที่เติบโตขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลง
ดังนั้น จึงคงคำแนะนำ"ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 11.9 บาท เนื่องด้วยเสถียรภาพของกำไรสุทธิ รวมไปถึงอัตราตอบแทนเงินปันผลที่น่าดึงดูดใจที่ 6.9% ตลอดจนสถานะการเงินที่แข็งแกร่งมาก ด้วยสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนที่แค่ 0.46 เท่า
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ความเห็น 0