โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผลตรวจสุขภาพประจำปี รู้ได้อย่างไร ค่าสุขภาพแบบไหน เข้าข่ายเสี่ยงโรค

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 09 มี.ค. 2565 เวลา 06.48 น. • เผยแพร่ 09 มี.ค. 2565 เวลา 06.48 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์
  • การตรวจสุขภาพ เป็นการป้องกันก่อนการเกิดโรค เนื่องจากบางโรคมักไม่แสดงอาการ และกว่าจะมีอาการแสดง ก็รุนแรงจนยากที่จะรักษา หากพบค่าสุขภาพผิดปกติในผลตรวจสุขภาพ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด
  • การวัดค่าความดันโลหิตเพียงครั้งเดียว อาจไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง จึงจำเป็นต้องวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง และตรวจติดตามผลเป็นระยะ เนื่องจากค่าความดันโลหิตมีปัจจัยกระทบได้ง่าย เช่น ความเหนื่อยล้า ความตื่นเต้น และความเครียด หรือการพักผ่อนน้อย

หลังการตรวจสุขภาพ ฟังแพทย์อธิบายผลตรวจสุขภาพและค่าต่างๆ ในแผ่นกระดาษ จำได้บ้าง ลืมบ้าง เนื่องจากมีทั้งอักษรย่อ ทั้งตัวเลข พร้อมคำแนะนำมากมายเต็มไปหมด ค่าน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตค่อนข้างสูง ไขมันในเลือดปริ่มเพดานค่ามาตรฐาน รู้หรือไม่ว่า ตัวเลขเฉพาะเหล่านั้นบอกอะไรเกี่ยวกับสุขภาพและความเสี่ยงโรคร้ายบ้าง

ค่าน้ำตาลในเลือด (Blood sugar)

ทางการแพทย์ใช้การตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน ซึ่งค่าปกติของระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 70-100 mg/dl หากมีระดับน้ำตาลมากกว่า 100-125 mg/dl ถือว่ามีความเสี่ยง หรือมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวาน และหากมากกว่า 126 mg/dl ถือว่าเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานระยะเริ่มต้น

อย่างไรก็ตาม ค่า HbA1c (Glycated hemoglobin) หรือการตรวจน้ำตาลสะสม เป็นค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือดสะสมช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร มักใช้เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวาน และติดตามการควบคุมโรคเบาหวาน รวมถึงประเมินความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ค่า HbA1c ปกติ คือ น้อยกว่า 5.7 mg% หากมีค่า 5.7-6.4 mg% ถือเป็นผู้มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน และหากมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 6.5 mg% ถือเป็นโรคเบาหวาน

นอกจากตัวโรคเบาหวานที่ตัวโรคมีความอันตรายอยู่แล้ว ยังมีอันตรายในรูปแบบของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์/อัมพาต หรือโรคจอประสาทตาเสื่อมจากภาวะเบาหวานขึ้นตาจนส่งผลต่อการมองเห็นและเกิดภาวะตาบอดในที่สุด

ค่าไขมันในเลือด (Cholesterol, Triglyceride, HDL, LDL)

การที่จะให้ผลการตรวจระดับไขมันในเลือดมีความแม่นยำมากที่สุด ผู้ตรวจควรงดอาหารและน้ำประมาณ 12 ชั่วโมง ก่อนทำการเจาะเลือด โดยสามารถแบ่งการตรวจค่าไขมันในเลือดได้ ดังนี้

คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นระดับไขมันรวมในกระแสเลือด กรณีพบภาวะไขมันในเลือดสูงกว่า 200 mg/dl สามารถทำให้หลอดเลือดแข็ง ตีบ และอุดตัน เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้
ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) หากตรวจพบไตรกลีเซอไรด์มีค่าสูงกว่า 150 mg/dl ถือว่ามีความเสี่ยงโรคไขมันอุดตันและหลอดเลือดแข็งตัว
ไขมันเอชดีแอล HDL (High-Density Lipoprotein cholesterol) เป็นไขมันดี มีหน้าที่จับไขมันตามผนังหลอดเลือด เพื่อนำไปทำลายที่ตับ หากมีระดับ HDL สูง จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งระดับ HDL ในหลอดเลือดไม่ควรต่ำกว่า 40 mg/dl
ไขมันแอลดีแอล LDL (Low-Density Lipoprotein cholesterol) หรือไขมันตัวร้าย หากมีปริมาณมาก จะเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดตีบตันตามอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจและสมอง ดังนั้นจึงไม่ควรมีระดับ LDL สูงเกินกว่า 130 mg/dl

ค่าความดันโลหิต

การวัดค่าความดันโลหิต ช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดเบื้องต้น ซึ่งค่าความดันโลหิตปกติ ตัวบนไม่ควรเกิน 120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท สำหรับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ค่าใหม่ อ้างอิงตามคำแนะนำจากสมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา ปี 2017 คือ 130/80 มม.ปรอทขึ้นไป

ทั้งนี้ หากมีค่าความดันโลหิตสูง อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น ทั้งนี้ การวัดค่าความดันโลหิตเพียงครั้งเดียวอาจไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง จึงจำเป็นต้องวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง และตรวจติดตามผลเป็นระยะ เนื่องจากค่าความดันโลหิตมีปัจจัยกระทบได้ง่าย เช่น ความเหนื่อยล้า ความตื่นเต้น และความเครียด หรือการพักผ่อนน้อย เป็นต้น

ค่าการทำงานของตับ (Liver function test)

การตรวจการทำงานของตับ สามารถตรวจจากผลเลือดได้ โดยผู้ตรวจไม่จำเป็นต้องงดอาหารก่อนการเจาะเลือด โดยผลเลือดที่แสดงค่าการทำงานของตับแบ่งออกได้ ดังนี้

  • Alanine aminotransferase (ALT) หรือ Serum glutamic pyruvic transaminase (SGPT) เป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งในเซลล์ตับ ค่า ALT ปกติเท่ากับ 0-48 IU/L หากตรวจพบค่าผิดปกติ สามารถบ่งชี้ความผิดปกติที่เกิดในเซลล์ตับและการเกิดโรคในตับ เช่น ตับแข็ง ได้
  • Aspartate aminotransferase (AST) หรือ Serum glutamic-oxaloacetic transaminase (SGOT) เอนไซม์ที่พบในเซลล์ตับและในอวัยวะอื่นๆ เช่น หัวใจ ไต สมอง และกล้ามเนื้อ ปกติมักตรวจคู่กับ ALT เพื่อประเมินการทำงานของตับ ซึ่งค่าปกติของ AST นั้นเท่ากับ 0-35 IU/L
  • Alkaline phosphatase (ALP) เอนไซม์ที่ผลิตขึ้นมาด้วยโปรตีนจากอวัยวะต่างๆ ที่เกิดโรคหรือเกิดความผิดปกติ เช่น ตับ กระดูก ลำไส้เล็ก ไต ปกติมักตรวจคู่กับ ALT และ AST เพื่อประเมินการทำงานของตับ ค่าปกติของ ALP ในผู้ใหญ่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 120 U/L กรณีพบ ALP มีค่าสูง อาจบ่งชี้ว่าเกิดปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น ตับอักเสบ โรคมะเร็งตับ หรือรับประทานยาที่เกิดพิษต่อตับ
  • Albumin คือ โปรตีนที่สร้างจากตับ เป็นส่วนประกอบสำคัญของเลือด การตรวจวัดโปรตีน Albumin ช่วยในการประเมินการทำงานของตับและความสมดุลของการสร้างอัลบูมินที่ตับ และการขับออกทางไต ค่าปกติของ Albumin นั้นเท่ากับ 3.5-5 mg/dL
  • Total bilirubin การตรวจวัด bilirubin ใช้ในการประเมินการทำงานของตับได้ โดยค่าปกตินั้นน้อยกว่า 2 mg/dL

ผลตรวจสุขภาพผิดปกติ ควรทำอย่างไร

การตรวจสุขภาพ คือ แนวคิดการป้องกันก่อนการเกิดโรค อาจตรวจพบความเสี่ยงโรค หรือค้นพบโรคในระยะเริ่มต้น กรณีพบผลผิดปกติที่บ่งบอกการเริ่มต้นของโรค แพทย์อาจสั่งยา หรือมีคำแนะนำอื่นๆ เพิ่มเติมเฉพาะโรค เช่น การปรับพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงอาจส่งต่อเพื่อรับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง

อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์คือหัวใจสำคัญ ผู้เข้าตรวจสุขภาพไม่ควรละเลยคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง แต่ยังไม่เป็นโรค เนื่องจากการรักษาในระยะเริ่มต้นมีโอกาสหายขาดได้มากกว่า และมีแนวโน้มที่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จะช่วยป้องกันโรคร้ายต่างๆ ได้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารรสจัด ดื่มน้ำ 8-10 แก้วต่อวัน รวมถึงเพิ่มกากใยอาหารจากผักและผลไม้เป็นประจำ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กรณีมีโรคประจำตัว ภาวะน้ำหนักเกิน หรือมีความเสี่ยงต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์
  • ดูแลอารมณ์และจิตใจ ไม่เครียด หรือวิตกกังวลมากเกินไป
  • นอนหลับให้เพียงพอ รวมถึงการนอนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อการพักผ่อนอย่างสูงสุด

บทความโดย : นพ.ธเนศ สินส่งสุข แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน ประจำศูนย์สุขภาพ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น