ตามที่ได้มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ให้ประชาชนสามารถใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถวินิจฉัย รักษา และป้องกันที่เหมาะสมโดยเร็ว ทำให้เกิดความต้องการอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ทดสอบด้วยตัวเองอย่างแพร่หลายนั้น
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเสวนาออนไลน์แนะวิธีใช้ชุดตรวจ COVID-19 เบื้องต้นด้วยตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสต่อโรค ย้ำให้กำจัดชุดตรวจที่ใช้แล้วด้วยจิตสำนึกที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ดร.ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์ อาจารย์นักเทคนิคการแพทย์ ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงวิธีการตรวจยืนยันการติดโรค COVID-19 ในปัจจุบันว่า ยังคงเป็นวิธี RT-PCR ซึ่งข้อดีของการใช้ชุดตรวจAntigen Test Kit (ATK) ตรวจคัดกรอง COVID-19 ที่ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อมาตรวจได้ด้วยตัวเองนั้น คือ จะช่วยในการแยก หรือคัดกรองผู้ที่มีผลบวกเบื้องต้น หรือกลุ่มเสี่ยงให้เข้ารับการรักษา หรือดูแลในระบบสาธารณสุขให้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ หากผู้ตรวจมีความจำเป็นต้องใช้หลักฐานการตรวจที่รับรองโดยแพทย์ จะต้องไปตรวจในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งสำหรับผู้ที่ยังไม่มีความเสี่ยงก็ไม่จำเป็นที่จะต้องตรวจ และหากจำเป็นต้องตรวจเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยง
ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และซื้อจากสถานพยาบาล คลินิกเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ และร้านยาที่มีเภสัชกรคอยให้คำปรึกษาเท่านั้น ไม่ควรหาซื้อเองผ่านทางออนไลน์ ตลาดนัด หรือผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์
ซึ่งตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 6 ที่ว่าด้วยน้ำและระบบสุขาภิบาลสะอาด (Clean Water and Sanitation) ควรใช้ชุดตรวจ COVID-19 ด้วยจิตสำนึกที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19
โดยผู้ตรวจจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่การเลือกชุดตรวจที่ผ่านการรับรองคุณภาพ การเก็บและเตรียมตัวอย่างตรวจ การใช้งานชุดตรวจ การอ่านและแปลผล รวมถึงการกำจัดชุดตรวจที่ใช้งานแล้ว
ซึ่งการเก็บตัวอย่างตรวจ ไม่ว่าจะเป็นการแหย่จมูก (swab) โดยใช้ก้านสำลีที่ให้มากับชุดตรวจ สอดเข้าไปในรูจมูกเพื่อเก็บตัวอย่าง หรือการเก็บตัวอย่างตรวจโดยใช้น้ำลาย รวมถึงการดำเนินการตรวจนั้น ควรทำด้วยตัวเอง ในพื้นที่ที่แยกจากบริเวณอื่น และควรทำตามขั้นตอน
หรือคำแนะนำในเอกสารประกอบชุดตรวจ หรือ VDO Clip ของชุดตรวจแต่ละยี่ห้อ ซึ่งสามารถสแกนได้จาก QR Code ที่แนบมากับผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด ซึ่งการเพิ่มหรือลดขั้นตอนเอง อาจทำให้ผลการตรวจผิดพลาดได้ ภายหลังการตรวจและอ่านผลแล้วให้ทิ้งชุดตรวจ รวมถึงอุปกรณ์ทั้งหมดในถุงพลาสติกที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อ
โดยควรซ้อนถุง 2 ชั้น และรัดปากถุงให้แน่นก่อนทิ้ง รวมถึงเขียนข้อความติดไว้ด้วยว่า“ชุดตรวจ COVID-19 ใส่น้ำยาแล้ว” จากนั้น จึงนำไปทิ้งในถังขยะติดเชื้อ (ถังสีแดง) เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้อื่น แต่ถ้าไม่มี สามารถอนุโลมให้ใส่ถังขยะทั่วไปได้
ส่วนวิธีการแปลผลตรวจนั้นก็สามารถศึกษาจาก VDO Clip ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งผลการตรวจที่เป็นบวกจะมีแถบสีขึ้นทั้งที่ C และ T ในขณะที่ผลการตรวจที่เป็นลบจะมีแถบสีขึ้นที่ C ด้านเดียว
นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงหากตรวจแล้วได้ผลลบ ให้เว้นช่วงและรักษาระยะห่าง รวมถึงกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน นับจากวันที่มีความเสี่ยง หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ
นอกจากนี้ จะต้องตรวจซ้ำเป็นระยะๆ เช่น ทุก 3 - 5 วัน จนครบเวลากักตัว อย่างไรก็ตามหากผลตรวจขึ้นแถบสีที่ T ด้านเดียว หรือไม่มีแถบสีใดขึ้นเลย จะไม่สามารถอ่านและแปลผลได้ ต้องตรวจซ้ำ หรือเปลี่ยนชุดตรวจใหม่
ชุดตรวจ ATK สำหรับตรวจคัดกรองด้วยตัวเองมีจำหน่ายที่ สถานปฏิบัติการเภสัชชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ เปิดทำการทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 15.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-2644-4609
ความเห็น 1
Rachadaporn
อายุ 40 เรียกลุงแล้วเหรอ
09 ส.ค. 2564 เวลา 14.20 น.
ดูทั้งหมด