1. จงยอมรับในความเลวของตน มองมันอย่างตรงไปตรงมา อิจฉาก็เห็นว่าอิจฉา ขี้เกียจก็เห็นว่าขี้เกียจ เห็นแก่ตัวก็รู้ ขี้อวด ขี้โม้ ขี้นินทาก็รู้ จงเปิดเผยความเลวของตนแก่ตนเอง เพราะการยอมรับคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เราจะเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่เห็นว่าตนเองมีหมาเน่าในใจ
2. ความชั่วขั้นหยาบ ขอให้ใช้ความอดทนข่มกิเลสจัดการไปตรงๆ การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องซับซ้อน รู้ว่าสิ่งใดไม่ดี พยายามเลิก รู้ว่าสิ่งใดทำแล้วดี พยายามทำ แรกๆ จะรู้สึกฝืนใจ ทำไปเรื่อยๆ จะเกิดกำลังใจ สามารถระงับความชั่วได้มากขึ้นเป็นลำดับ
3. ระวังอย่ามัวแต่ปฏิบัติธรรมแบบนักปรัชญา เพราะธรรมะที่แท้จริงคือการปฏิบัติศีล สมาธิ วิปัสสนา ธรรมะไม่ใช่คำคม ไม่ใช่คำพูดสวยหรูที่มีไว้เท่เพียงอย่างเดียว
4. จงใช้คนในครอบครัวขัดเกลาจิตใจตนเอง ฟังคำบ่น คำด่าของคนในครอบครัวให้มาก เมื่อถูกคนในครอบครัวบ่นด่า จงยิ้มรับ ทำใจให้เบิกบานเพราะนั่นคือการฝึกตนที่ดีที่สุด มนุษย์เรามักทำเลวกับคนใกล้ตัว ถ้าเรายอมรับ เข้าใจ ให้อภัยคนใกล้ตัวทุกกรณี ความสว่างไสวในจิตใจจะเพิ่มเป็นเท่าทวี
5. จงระวังคำพูดของตนไว้ให้มาก เพราะคำพูดคือสิ่งที่ส่งเสริมกำลังของอัตตาได้ดีที่สุด จงพูดจาแต่พอดี พูดเท่าที่จำเป็น เลิกขี้โม้ เลิกโอ้อวด เลิกโกหก เลิกนินทา เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทางเสื่อมที่ทำให้จิตใจของเราตกต่ำทั้งสิ้น
6. จิตใจจะพัฒนาได้เร็วขึ้น ถ้ารู้จักละสิ่งฟุ่มเฟือยในชีวิต เป็นไปได้ไหมที่เราจะกินพอดีๆ ใช้พอดีๆ มีอะไรก็มีแต่พอดีๆ เมื่อปฏิบัติธรรมแล้ว ก็สมควรใช้เงินบำรุงบำเรอตนเองให้น้อยลง แม้ยังบำรุงบำเรอตนเองไม่หยุดหย่อน ก็หมายความว่า การปฏิบัติธรรมที่ทำๆ อยู่ไม่ได้ผลอะไรเลย
7. การขัดเกลาจิตใจตนเองไม่อาจหลีกเหลี่ยงการภาวนาได้ สมาธิและวิปัสสนาคือสิ่งจำเป็นต้องทำ เพราะการภาวนาช่วยให้เห็นกิเลสในขั้นละเอียด และช่วยในการละกิเลสหยาบบางส่วน ทำให้เห็นการทำงานของจิตตามความเป็นจริง แม้พัฒนาจิตใจโดยไร้การภาวนา ที่สุดแล้วการพัฒนาจิตจะเกิดความล่าช้า เมื่อมีเหตุปัจจัยเข้ามากระทบ ก็อาจกลับไปทำความชั่วได้อีก
8. อย่าพัฒนาจิตในฐานะคนดี ให้พัฒนาจิตในฐานะคนชั่วที่อยากละชั่ว ถ้าเราพัฒนาจิตในฐานะคนดี แปลว่าเราถูกกิเลสหลอก ถูกความดีแว้งกัด สิ่งนี้อันตรายยิ่งกว่าการเป็นคนชั่วแบบตรงไปตรงมา
9. การพัฒนาจิตไม่ควรมองนอกตัว แต่ควรมองเข้ามาที่ตนเอง เมื่อมีความทุกข์ ไม่ว่าเรื่องอะไร ให้มองที่ตนเอง เพราะที่สุดแล้ว การพัฒนาจิตเป็นเรื่องภายในล้วนๆ ส่วนเรื่องภายนอกเป็นเพียงตัวกระตุ้นให้สิ่งที่เราเป็นอยู่แล้วชัดเจนขึ้นเท่านั้น เราโกรธของเราอยู่แล้ว แค่เขามากระตุ้น เราทุกข์ของเราอยู่แล้ว แต่เขามากระตุ้น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นครั้งแรกภายใน ครั้งที่สอง สาม สี่ ก็ภายใน แทบไม่ได้เกี่ยวใดๆ กับภายนอกเลย
10. ผู้พัฒนาจิตควรมีกัลยาณมิตรช่วยเหลือ ให้สติ ประคับประคอง จริงอยู่การพัฒนาจิตเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ตราบใดที่จิตใจยังเป็นไม้หลักปักขี้เลน มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อม กัลยาณมิตรก็ยังมีส่วนสำคัญอยู่นั่นเอง
11. หนทางขัดเกลากิเลสเป็นทางของคนส่วนน้อย จะใช้มาตรวัดของคนส่วนมากมาตัดสินไม่ได้ การพัฒนาจิตเป็นหนทางของการสละออก ไม่ใช่เอาเข้า สิ่งใดกระตุ้นให้เกิดภาวะอยากเอาเข้า สิ่งนั้นเป็นด้านตรงข้ามกับการขัดเกลากิเลส เรื่องนี้ต้องใช้สติปัญญาแยะแยะให้ออก
12. จงเบิกบานทุกกรณี อย่าได้มีเหตุผลใดๆ ที่เราจะเบิกบาน แค่เบิกบาน ทำแค่นั้น แค่ฉันกำลังเบิกบาน!!!
ความเห็น 9
การมีสติคิดพิจารณาถึงในเหตุ ย่อมที่จะทำให้รู้ถึงในผลที่จะเกิดขึ้นตามมาเสมอ.
22 พ.ย. 2562 เวลา 11.21 น.
Nok
สาธุคะ
22 พ.ย. 2562 เวลา 11.47 น.
AO
สาธุ สาธุค่ะ
23 พ.ย. 2562 เวลา 04.39 น.
sor sirimetha
ดีต่อใจครับ😀
22 พ.ย. 2562 เวลา 10.43 น.
นพ
บอกเสรีด้วย
22 พ.ย. 2562 เวลา 10.37 น.
ดูทั้งหมด