โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วัณโรค รู้เร็ว..หายได้ และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

LINE TODAY

เผยแพร่ 23 มี.ค. 2563 เวลา 18.22 น.

24 มีนาคมของทุกปีคือ วันวัณโรคสากล (World TB Day) เหตุที่ต้องมีวันนี้ก็เพราะวัณโรคคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ จึงได้เสนอให้วันนี้เป็นวันที่ย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงเป็นโรคที่ระบาดไปทั่วโลกและเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1.7 ล้านคน

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์วัณโรคในบ้านเราดูเหมือนจะไม่ร้ายแรง แต่แท้จริงแล้วไทยถูกองค์การอนามัยโลกจัดให้เป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีภาระวัณโรค มีผู้ติดเชื้อวัณโรคสูงอัตรา 1.2 แสนคนต่อปี เท่ากับป่วยวันละ 312 คน หรือชั่วโมงละ 13 คน เข้าถึงการรักษาแค่ 60% และมีอัตราการเสียชีวิตปีละ 1.2 หมื่นคน อีกทั้งคนไทย 20 ล้าน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทย มีเชื้อวัณโรคแฝงที่ไม่แพร่กระจายด้วย

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าวัณโรคในไทยยังคงระบาด และบ้านเรายังคงต้องรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโรคนี้ โดยที่ผ่านมาได้รณรงค์ให้ประชาชนทราบว่า ‘ถึงเวลายุติปัญหาวัณโรค’ (IT’S TIME TO END TB) รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย นำไปสู่เมืองไทยปลอดวัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค

วัณโรคคืออะไร

วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถเป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย แต่ที่พบมากที่สุดก็คือปอด ทำให้มีอาการอักเสบในปอด และสามารถแพร่เชื้อได้ง่าย วัณโรคนอกปอดอาจพบได้ในอวัยวะอื่น ๆ ได้แก่ เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท

วัณโรคแพร่เชื้ออย่างไร

วัณโรคเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอากาศ เมื่อผู้ป่วยวัณโรคปอด หลอดลม หรือกล่องเสียง ไอ จาม พูดดัง ๆ ตะโกน หัวเราะหรือร้องเพลง ทำให้เกิดละอองฝอยฟุ้งกระจายออกมา ละอองฝอยที่มีขนาดใหญ่มากจะตกลงสู่พื้นดินและแห้งไป ส่วนละอองฝอยที่มีขนาดเล็กจะลอยและกระจายอยู่ในอากาศ โดยจะลอยอยู่ในอากาศได้หลายชั่วโมง ซึ่งถ้าอยู่ในอากาศโดยไม่ถูกแสงแดดจะมีชีวิตได้นาน 8-10 ชั่วโมง แต่แสงแดดจะทำลายเชื้อวัณโรคได้ภายใน 5 นาทีถึง 2 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ถ้าสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไปอนุภาคขนาดใหญ่จะติดอยู่ที่จมูกหรือลำคอ ซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดโรค แต่อนุภาคขนาดเล็กจะเข้าไปสู่ถุงลมในปอด ทำให้มีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะต้องป่วยเป็นวัณโรค เพราะร่างกายมีกลไกหลายอย่างที่จะต่อสู้และป้องกันเชื่อวัณโรค โดยมีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ที่ติดเชื้อเท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรค

เมื่อได้รับเชื้อแล้ว มีอาการอย่างไร

• อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

• เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ

• เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง

• หนาวสั่น ไข้ต่ำ ในตอนกลางคืนมักจะมีเหงื่อออก

• เมื่อเริ่มป่วยในระยะแรกมักจะมีอาการไอแห้ง หลังจากนั้นจะเริ่มไอแบบมีเสมหะ เมื่อเข้านอนก็จะยิ่งมีอาการไอหนักมาก ทั้งช่วงเวลาหลังจากตื่นนอนตอนเช้าและในหลังอาหาร

• อาการไอเรื้อรังจะคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ บางรายที่ไอมาก ๆ จะมีอาการหอบด้วยหรือไอเป็นเลือดก้อนแดง ๆ หรือเลือดสีดำปนออกมาพร้อมกัน

• ในรายที่เป็นเด็กอาการจะรุนแรงหนักกว่าผู้ใหญ่เพราะภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่า

• ผู้ป่วยบางรายที่ยังเป็นน้อย ๆ อาจจะไม่มีอาการไอเลย ทว่าจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกแทน

ดังนั้นหากมีอาการไอเรื้อรัง มีเลือดปน เบื่ออาหาร ร่างกายผ่ายผอม ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันเวลา หากวินิจฉัยว่าเป็นโรควัณโรค ก็สามารถรักษาให้หายได้ หากทานยาตามแพทย์สั่งและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค เช่น ผู้อยู่อาศัยร่วมบ้านหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยเอดส์ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ฯลฯ กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ควรตรวจคัดกรองด้วยการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการก็ตาม เพราะวัณโรคบางชนิดไม่แสดงอาการ และหากตรวจพบเร็วก็สามารถรักษาให้หายได้

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเป็นวัณโรค

เมื่อถูกวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือโรคนี้เป็นโรคติดต่อ ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองไม่ให้แพร่ไปยังคนใกล้ชิดหรือบุคคลอื่น โดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวัน เวลาไอหรือจาม ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย และเมื่อเสมหะก็ควรบ้วนลงในภาชนะที่มีฝาปิด แล้วฝังดิน นำไปเผา หรือจะเทลงส้วมแล้วราดน้ำสะอาดตามก็ได้

วิธีปฏิบัติตัวแบบนี้เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกเพื่อไม่ให้แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น นอกจากนี้ควรจัดที่พักอาศัยให้ถ่ายเทได้สะดวก มีแดดส่องถึงและหมั่นนำเครื่องนอนออกมาตากแดดเป็นประจำ

ในขณะเดียวกันผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดก็ควรต้องตระหนักเสมอว่าวัณโรคเป็นโรคติดต่อ นอกจากการให้กำลังใจผู้ป่วยแล้ว ผู้ใกล้ชิดหรือผู้ดูแลยังต้องป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดด้วย

วัณโรคหายได้ เมื่อกินยาครบ

วัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง โดยมากเมื่อกินยาประมาณ 2 สัปดาห์อาการจะดีขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหยุดยาเอง แต่ห้ามหยุดยาเด็ดขาดจนกว่าแพทย์จะสั่ง เพราะการรักษายังไม่ครบ โรคยังไม่หาย และจะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยารักษาหายยากด้วย

สำหรับผู้ป่วยเป็นวัณโรคจำเป็นต้องรักษาและกินยาอย่างต่อเนื่องทุกเม็ด ทุกมื้อตลอด 6 เดือนจนหายขาด ซึ่งจะใช้ค่ายารักษาประมาณ 3,000 กว่าบาทต่อราย ทั้งนี้รัฐบาลให้บริการการรักษาฟรี ทั้งค่ารักษาค่ายา แต่หากผู้ป่วยกินยาไม่สม่ำเสมอ และหรือหยุดยาเองจะทำให้เป็นวัณโรคดื้อยา ทำให้ต้องเปลี่ยนกลุ่มยาซึ่งจะมีราคาแพงขึ้นเป็นหลักแสนบาท และต้องกินยาไม่น้อยกว่า 18 เดือน และถ้าเป็นวัณโรคเชื้อดื้อยาขั้นรุนแรง ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นถึง 1.2 ล้านบาทต่อราย

การป้องกันวัณโรค

• รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์

• ลดการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และไม่ใช้สารเสพติด

• หากจำเป็นต้องทำงานอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ให้ออกมาสูดอากาศภายนอกบ้างในระหว่างวัน

• หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ

• สวมหน้ากากอนามัย เมื่อมีความเสี่ยงต่อการอยู่ใกล้ผู้ป่วยวัณโรค

• หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV

• ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

อ้างอิง

1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0