โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เริ่มแล้ว! 30บาทรักษาทุกที่กทม. เพิ่มทางเลือกคนกรุงเข้า ‘คลินิก-ร้านยา’ ไม่มีค่าใช้จ่าย

MATICHON ONLINE

อัพเดต 15 ก.ย เวลา 09.51 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย เวลา 09.32 น.
22

เริ่มแล้ว! 30บาทรักษาทุกที่กรุงเทพฯ เพิ่มทางเลือกคนกรุง เข้า‘คลินิก-ร้านยา’ ไม่มีค่าใช้จ่าย

ถือเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในกรุงเทพมหานคร เพราะไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯ หรือประชากรแฝง ก็สามารถใช้สิทธิตาม “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่” ได้แล้ววันนี้

หลังมีการยืนยันจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นที่เรียบร้อยว่า 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2567 โดยยึดหลักการ “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน” ซึ่งสนับสนุนระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน หมายความว่า ในการเข้ารับบริการนั้น จะต้องเริ่มจากเข้ารักษาในระดับปฐมภูมิก่อน

นอกจากไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำตัว แล้วยังไปรักษาที่หน่วยบริการทางเลือกใหม่ที่เพิ่มความสะดวกได้ ทั้งที่ร้านยาคุณภาพ และคลินิกเอกชน ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย โดยใช้ “บัตรประชาชน” เพียงใบเดียว ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ซึ่งสังเกตจากตราสัญลักษณ์ หรือ “โลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่” ที่ติดอยู่หน้าหน่วยบริการ และหากเกินศักยภาพการดูแล จะถูกส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายต่อไป

ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามหลักการของนโยบายนี้ที่ว่า “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน” ที่สนับสนุนให้เกิด “ระบบบริการสุขภาพเริ่มต้นที่ปฐมภูมิ”

ด้านสภาวิชาชีพแต่ละแห่งที่ทำหน้าที่กำกับควบคุม และร่วมเชิญชวนหน่วยบริการเอกชนให้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมทั้ง 7 ประเภท ประกอบด้วย ร้านยา คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกเทคนิคการแพทย์ (ห้องแล็บ) คลินิกกายภาพบำบัด และคลินิกการแพทย์แผนไทย ก็ออกมาขานรับเป็นเสียงเดียวกันว่าหน่วยบริการนวัตกรรม “พร้อมให้บริการ” แล้ว

เช่น ร้านยา ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 บอกว่า ขณะนี้มีร้านยาในกรุงเทพฯ เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมแล้วกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งกระจายตัวครอบคลุมทุกพื้นที่ และตั้งเป้าสิ้นปี 2567 จะชักชวนร้านยาให้เข้าร่วมเพิ่มเติมเป็น 2,000 แห่ง ให้ได้ ส่วนการให้บริการมีการซักซ้อมกันไปแล้ว มั่นใจไม่มีปัญหา

ฝั่งคลินิกภายภาพบำบัดก็เช่นกัน โดย ศ.ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล นายกสภากายภาพบำบัด เผยว่า มีคลินิกกายภาพบำบัดในกรุงเทพฯ เข้าร่วมแล้ว 250 แห่ง ที่พร้อมดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง 4 กลุ่มโรค ออกจากโรงพยาบาลไม่เกิน 6 เดือน ประกอบด้วย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยอุบัติเหตุทางสมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บกระดูกสันหลัง และผู้ป่วยสะโพกหักไม่ร้ายแรง โดยสามารถไปรับบริการได้ทั้งที่คลินิก หรือหากไม่สะดวกก็มีไปบริการบำบัดฟื้นฟูถึงที่บ้านให้ด้วย

“ผมเชื่อว่านโยบายนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ผู้ป่วยระยะกลางได้รับการบำบัดฟื้นฟูที่รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย และมีความต่อเนื่อง ซึ่งสำคัญอย่างมากต่อการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย 4 กลุ่มนี้ ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงกับปกติหลังจากเจ็บป่วยได้อีกครั้ง” ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าว

ขณะที่ ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ ที่ให้ภาพว่า ขณะนี้มีคลินิกเทคนิคการแพทย์ พร้อมให้บริการในกรุงเทพฯแล้ว 35 แห่ง ดูเหมือนยังน้อย แต่มีบางส่วนที่ยังรอการประเมินและรับรองจากสภาเทคนิคการแพทย์ว่า เป็นห้องแล็บที่มีคุณภาพมาตรฐานพร้อมบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วย ซึ่งกำลังเร่งประเมินคลินิกเหล่านี้อยู่ คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

อีกหน่วยบริการนวัตกรรมที่น่าจะได้รับความสนใจ คือ คลินิกทันตกรรม ผศ.ดร.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า แม้จะมีคลินิกทันตกรรมเข้าร่วมไม่มาก แต่ทั้งหมดก็พร้อมให้บริการตามชุดสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมถึงมีการเชื่อมข้อมูลสุขภาพช่องปากผู้ป่วยผ่านโปรแกรมเดนท์คลาวด์ (DentCloud) แล้ว ทำให้เมื่อผู้ป่วยมีการไปรับบริการที่คลินิกทันตกรรมที่ใดที่หนึ่งในระบบบัตรทองในครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไป ถ้าต้องการไปที่คลินิกแห่งอื่นๆ ภายใต้นโยบายฯ ก็จะทราบประวัติการรักษาที่ผ่านมา

“สิทธิประโยชน์ตามนโยบายฯ จะเน้นการดูแลรักษาปฐมภูมิ เบื้องต้น หากเข้ารับบริการที่คลินิกทันตกรรมครั้งแรก คลินิกจะทำการตรวจสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยก่อนเพื่อบันทึกข้อมูล พร้อมกับประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ (Caries Risk Assessment) ตามที่ทันตแพทยสภากำหนด เพื่อจะได้มีการให้บริการ ไม่ว่าจะขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบฟลูออไรด์ และเคลือบหลุมร่องฟัน อย่างเหมาะสมและถูกต้องกับสุขภาพช่องปาก” ผศ.ดร.ทพ.สุชิตอธิบายเสริม

ส่วนการใช้สิทธิบัตรทองในหน่วยบริการนวัตกรรมเหล่านี้ ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ นั้น ให้สังเกตตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ “30 บาทรักษาทุกที่” ที่ติดอยู่หน้าหน่วยบริการ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าสามารถพกบัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการที่คลินิก หรือร้านยาเหล่านั้นได้เลย

นอกจากหน่วยบริการนวัตกรรมทั้ง 7 ประเภทแล้ว ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) จำนวน 69 แห่ง และอีก 77 สาขา ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ก็สามารถไปใช้สิทธิบัตรทอง ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ได้เช่นกัน โดย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า หน่วยบริการปฐมภูมิสังกัด กทม. เหล่านี้ มีทั้งพยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่สามารถเป็นที่พึ่งในด้านการดูแลรักษาให้ประชาชนได้

ไม่เพียงเท่านั้น ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ยังบอกว่า สปสช.มีชุดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีกจำนวนมาก ที่จะทำให้ประชาชนสิทธิบัตรทองรับบริการสะดวกขึ้น เช่น บริการจัดส่งยาถึงบ้าน บริการเจาะเลือดที่บ้านสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง บริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ดูแลสุขภาพช่องปากกลุ่มเปราะบาง บริการรถคลินิกเวชกรรมเคลื่อนที่ในชุมชน เพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคเบื้องต้น ฯลฯ

“รวมไปถึงบริการการแพทย์ทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่นสุขภาพในห้องพยาบาลโรงเรียนมัธยมศึกษา หน่วยบริการต่างๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานีรถไฟฟ้า ฯลฯ รวมไปถึงอนาคตจะมีบริการการแพทย์ทางไกลผ่าน ‘ตู้เทเมดิซีน’ ในชุมชน ห้างสรรพสินค้า อีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นบริการที่มาเสริมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ในกรุงเทพฯ ให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนกรุงเทพฯมากยิ่งขึ้น” นพ.จเด็จกล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เริ่มแล้ว! 30บาทรักษาทุกที่กทม. เพิ่มทางเลือกคนกรุงเข้า ‘คลินิก-ร้านยา’ ไม่มีค่าใช้จ่าย

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น