โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ทำความรู้จักกับประเภทของ Downloadable Content (DLC)

GamingDose

เผยแพร่ 13 ก.พ. 2563 เวลา 09.34 น. • GamingDose - ข่าวเกม รีวิวเกม บทความเกมจากเกมเมอร์ตัวจริง
ทำความรู้จักกับประเภทของ Downloadable Content (DLC)

เหล่าเกมเมอร์ทั้งหลายย่อมรู้จักคำว่า DLC หรือ Downloadble Content ดี มันคือสิ่งที่จะเข้ามาเพิ่มเติมความสนุกในการเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องใหม่ หรือของตกแต่งสวยงาม แต่จริง ๆ แล้วนั้น DLC หรือเนื้อหาเสริมของเกม แม้จะถูกเรียกรวม ๆ ว่า DLC แต่ก็ยังมีรูปแบบที่หลากหลายที่หลายคนอาจจะงงว่า สรุปแล้วมันคืออะไรกันแน่ วันนี้เรามาไขคำตอบให้กระจ่างกันดีกว่า

Downloadable Content (DLC)

แปลแบบให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คือเนื้อหาเพิ่มเติมของเกมแต่ละเกม ซึ่งเนื้อหาใหม่นั้นจะเป็นรูปแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละเกม อาจจะเป็นแผนที่ใหม่ ไอเทมใหม่ เนื้อหาใหม่ก็เป็นได้ ซึ่ง DLC เหล่านี้อาจจะเป็นทั้งอัปเดตฟรีและเสียเงินก็ได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดจำหน่ายของทีมผู้พัฒนา ถ้าเป็นเนื้อหาเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจจะฟรี แต่ถ้าเป็นขนาดใหญ่มากก็จะเป็นการเสียเงินซื้อเพิ่มนั่นเอง

DLC นั้นสามารถเป็นได้ตั้งแต่เพียงเสื้อผ้า คอสตูมตัวละครสวยงาม ไปจนถึงระดับความยากใหม่ของเกมนั้น ๆ หรือแม้กระทั่งพื้นที่ เลเวลแคป ในบางเกมอาจจะมี DLC หลายตัว ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันที่วางขายไปแล้วหรือในอนาคตที่ยังไม่วางจำหน่ายก็ด้วย ซึ่งการซื้อแบบเหมารวมในอนาคตมักจะถูกเรียกว่า Season Pass หรือ Year Pass แล้วแต่เกม

เนื้อหาเสริมเพิ่มเติมที่ดาวน์โหลดได้ครั้งแรกเกิดขึ้นในบริการที่มีชื่อว่า Gameline ที่จะให้ผู้เล่นเชื่อมสายโทรศัพท์และดาวน์โหลดเกมเข้าไปยังเครื่อง SEGA Genesis ตามมาด้วยเครื่อง Dreamcast ที่มี DLC ให้ใช้งานแต่จำกัดมาก และเริ่มมาแพร่หลายกับเครื่อง PlayStation 2

DLC กับ Expansion ต่างกันตรงไหน ?

หลายคนอาจจะได้ยินอีกคำหนึ่งนั่นคือ Expansion ภาพรวมของคำว่า Expansion นั้นไม่ต่างจากคำว่า DLC เพราะมันคือเนื้อหาเสริมเหมือนกัน แต่หากเรานึกถึงคำว่า Expansion เราจะนึกถึงเนื้อหาเสริมที่ใหญ่กว่ามาก

อย่างที่เราบอกไปว่าเนื้อหาเสริมเป็นได้ตั้งแต่เสื้อผ้า คอสตูมแต่งกาย หรือเนื้อหาใหม่ ๆ ในคำว่า Expansion หรือส่วนขยาย มักจะถูกใช้เรียกเนื้อหาเสริมที่มีขนาดใหญ่มาก เช่น The Witcher 3 ที่มี Heart of Stone และ Blood & Wine ที่มีขนาดใหญ่มาก และมีเนื้อหาเสริมที่ใหญ่มาก หรือ Monster Hunter World ที่มีแพทช์ขนาดใหญ่อย่าง Iceborne , และล่าสุดอย่าง Tom Clancy's The Division 2 ที่ปล่อยเนื้อหาเสริม Warlords of New York ก็สามารถใช้คำว่า Expansion ได้เช่นกัน

สรุปได้ว่า แม้ความหมายจะเหมือนกันคือการเป็นส่วนเสริมเหมือนกัน แต่คำว่า Expansion เราอาจจะใช้เรียกเกมที่มีเนื้อหาเสริมที่ใหญ่มาก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น

  • เสื้อผ้า ตัวละครใหม่ คลาสใหม่ต่าง ๆ อาจจะเรียกได้ว่า DLC
  • แผนที่ใหม่ เนื้อเรื่องใหม่ ขยายเพดานเลเวล ไอเทมใหม่ อาจจะเรียกได้ว่า Expansion

แต่เวลาคุยกันในกลุ่มผู้เล่นเกมเหมือนกัน ใช้คำว่า DLC ก็จะเข้าใจกันได้ง่ายกว่า

Season Pass / Year Pass เหมาจ่าย DLC ในอนาคต

ในอีกรูปแบบหนึ่งของการขาย DLC หรือเนื้อหาเสริมในตอนนี้ก็คือการขายแบบ Season Pass หรือก็คือการเหมารวมซื้อ DLC ที่จะออกในอนาคตทั้งหมด โดยคุณไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม แต่ปัญหาคือตอนนี้มันเริ่มจะหันมาขายกันแบบ Year Pass หรืออัปเดตแบบปีต่อปี

Season Pass คือการจ่ายเงินซื้อล่วงหน้า เช่นถ้าเกมมีอัปเดตอะไรที่คุณต้องเสียเงินซื้อเนื้อหาเพิ่มเติม ก็ต้องซื้อ แต่ถ้าคุณซื้อตัวเกมแบบ Deluxe Edition (หรือจะชื่อใดก็ตามที่ตัวเกมระบุว่าแถม Season Pass มาด้วย) คุณก็จะได้รับคอนเทนต์เพิ่มทันทีโดยไม่ต้องเสียเงิน แต่อีกรูปแบบหนึ่งที่เพิ่งถูกนำมาใช้หลัง ๆ นี้คือการขาย Pass แบบ Year Pass หรือซัพพอร์ทตัวเกมแบบปีต่อปี เพิ่มคอนเทนต์ใหม่ ๆ แบบปีต่อปี นั่นเอง

เกมที่ใช้วิธีการขายแบบ Year Pass ช่วงนี้จะเห็นบ่อยที่สุดกับเกมของ Ubisoft เช่น Rainbow Six Siege , Ghost Recon โดยผู้ที่ซื้อจะได้รับการอัปเดตเนื้อหาใหม่ตลอดปีนั้น ๆ (รวมไปถึงสิทธิ์ในการปลดล็อคคอนเทนต์ใหม่ ๆ ก่อนคนอื่นเป็นระยะเวลากี่วันก็ว่ากันไป) และเมื่อหมดปีแล้ว ก็จะต้องเสียเงินซื้อเพิ่มอีกครั้ง หากเกมยังได้รับการสนับสนุนกันต่อ

จะเห็นได้ว่าการที่เหล่าผู้พัฒนาเกมต้องทำแบบนี้ ก็เพื่อที่จะนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเองเป็นแน่แท้อยู่แล้ว ในบางเกม DLC / Expansion อาจจะทำออกมาได้คุ้มค่าคุ้มราคา แต่บางเกมก็อาจไม่จำเป็นต้องเสียเงินให้ (หากมันเป็นเพียงแค่ของแต่งสวยงามเท่านั้น) ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นอย่างเรา ๆ จะยอมเสียเงินให้กับ DLC / Expansion ในระดับไหนนั่นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น