เรื่องเล่าของอาณาจักรสิงสาราสัตว์จากทุ่งหญ้าสะวันนาในแอฟริกา
ฉากเปิดที่มีพระอาทิตย์ดวงกลมโตกับการประชุมของแก๊งสัตว์ป่านานาพันธุ์
และบทเพลงในภาษาซูลูที่ติดหูมาตั้งแต่เด็ก ๆ
นี่คือความทรงจำของเราและเชื่อว่าของอีกหลาย ๆ คนที่มีให้ต่อการ์ตูนเรื่อง The Lion King อนิเมชั่นรุ่นแรก ๆ ของค่าย Walt Disney ที่นอกจากจะถูกพัฒนาให้เป็นภาพยนตร์แบบไลฟ์แอกชั่นแล้ว The Lion King ก็ถูกนำมาต่อยอดให้กลายเป็นมิวสิคัลหรือละครเพลง ที่เสกตัวละครต่าง ๆ ให้มีชีวิตแบบครบทุกมิติบนเวทีผ่านการแสดงสด
และเพื่อเฉลิมฉลองปีที่ 22 ของละครเพลงเรื่องนี้และการเดินทางมาเปิดแสดงโชว์ถึงบ้านเรา วันนี้ LINE TODAY ขอหยิบเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและความลับหลังผ้าม่านของโรงละครที่น่าสนใจเกี่ยวกับ The Lion King มาให้ทุกคนได้รู้จักกัน
1 | ทีมงานใช้เวลาทั้งหมด 3 ปีเต็ม ๆ ในการปรับเรื่อง The Lion King จากเวอร์ชั่นการ์ตูนมาเป็น The Lion King ในรูปแบบละครเพลง โดยการแสดงรอบแรกเกิดขึ้นในปี 2540 ที่โรงละคร เดอะ ออร์เฟิร์ม เธียร์เตอร์ ในเมืองมินเนอาโปลิส และยิงยาวมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ชมรอบโลกมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกและถูกแปลไปเป็นภาษาต่าง ๆ มากถึง 8 ภาษา
2 | เป็นโปรดักชั่นที่ไม่มีสัตว์จริง ๆ ในการแสดง แต่ The Lion King ใช้หุ่นเชิดมากกว่า 200 ตัวในการแสดงชุดนี้เพื่อเป็นตัวแทนของตัวละครต่าง ๆ มีหุ่นยีราฟที่สูงถึง 5.5 เมตร และหุ่นรูปช้างที่มีขนาดใหญ่และยาวสุดในโชว์ กว้าง 3 เมตร และยาว 4 เมตร
3 | 34,000 ชั่วโมงคือเวลาทั้งหมดที่ใช้ในการสร้างสรรค์คอสตูม หุ่นเชิด และพรอพประกอบฉากทั้งหลาย สิ่งที่เราเห็นบนเวทีคือไอเดียสุดครีเอทีฟของ จูลี่ เทย์มอร์ ผู้กำกับเรื่องนี้ที่ไม่ได้จับหุ่นสัตว์ขึ้นมาโชว์แบบตรงไปตรงมา แต่ทุกชิ้นผ่านการบิด การตีความให้แต่ละฉากของ The Lion King เป็นเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เราว่าเป็นการดีไซน์เวทีที่ฉลาดเฉลียวและประณีตมาก ๆ โชว์หนึ่งเลย
4 | The Lion King คือละครเวทีที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติของนักแสดงมากที่สุดโชว์หนึ่ง ด้วยเนื้อเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจและดำเนินอยู่บนภาพพื้นหลังของทวีปแอฟริกา ทีมงานโดยส่วนมากเลยเป็นชาวผิวสี ตั้งแต่ทีมนักแสดงไปจนถึงนักดนตรี มีการใช้ภาษาแอฟริกันในบทละครมากถึง 5 ภาษา นอกจากนี้ยังมีนักแสดงตัวน้อยที่เป็นชาวเอเชียถึง 4 คน มารับบทเป็นซิมบ้า (สิงโตเพศผู้) และนาล่า (สิงโตเพศเมีย) ในวัยเด็กด้วย
5 | ในเวอร์ชั่นละครเวที ตัวละครลิงที่ชื่อว่า "ราฟิกิ" ถูกปรับจากลิงเพศผู้ให้กลายเป็นผู้หญิง ด้วยความที่จูลี่รู้สึกว่าบทแสดงนำใน The Lion King ตามในบริบทเดิมเน้นไปที่เพศชาย ในเวอร์ชั่นที่เธอกำกับเอง เธอเลยอยากบาลานซ์ความโดดเด่นของนักแสดงให้เท่าเทียมกันมากขึ้น รวมไปถึงการเน้นประเด็นเรื่องครอบครัว ความรักระหว่างพ่อ-ลูก มิตรภาพ และการค้นหาตัวเองที่เข้มข้นกว่าในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ การดู The Lion King ในเวอร์ชั่นละครเพลงนี้จึงให้อรรถรสที่แตกต่างจากเวอร์ชั่นที่เราคุ้นเคยมาก่อนอย่างสิ้นเชิง
หากสนใจ สามารถติดตามข่าวสารการแสดง The Lion King ได้ที่เฟซบุคเพจ The Lion King Bangkok เปิดทำการแสดงที่เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 และสามารถจองบัตรชมละครได้ทาง Thai Ticket Major ทั้งช่องทางออนไลน์และที่หน้าเคาท์เตอร์
ความเห็น 4
mrn
สุดยอดของความอลังการ์การ์ตูนในความทรงจำไม่เคยลืม👍👍👍👍👍💟👍💟💟💟💟
21 ต.ค. 2562 เวลา 12.38 น.
eakk
มาสิพ่นยา มามานี่ชิวาว่า
23 ต.ค. 2562 เวลา 21.28 น.
คุ้มค่าจริงครับ เคยไปเที่ยวโยฮันเนสเบิร์ก ที่แอฟริกาใต้มา 2 ครั้งและก็บังเอิญได้ไปดูโชว์นี้เช่นกัน เรียกว่าสุดยอดมากๆ เป็นโชว์ยิ่งใหญ่ระดับโลกกว่าโชว์อื่นๆ ที่เคยมาไทย และเราเองคิดมาตลอดว่า ไทยเราจะมีศักยภาพที่จะนำการแสดงระดับโลกนี้เข้ามาเมืองไทยได้หรือไม่ เต็มอิ่มทุกอรรถรสและโสตสัมผัส กดล้านไลค์👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍👍❤❤❤❤❤❤❤❤❤❤❤
22 ต.ค. 2562 เวลา 12.25 น.
Tom
ท่าทางจะตั๋วเหลือเยอะ
22 ต.ค. 2562 เวลา 12.06 น.
ดูทั้งหมด