21 เมษายน World Creativity and Innovation Day หรือวันแห่งความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมโลก เพื่อเป็นการฉลองให้กับวันนี้ ขอหยิบเอาผลงานความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่ไม่เคยแพ้ชาติใดในโลก โดยเฉพาะด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม คนไทยก็เก่งเป็นที่หนึ่ง ไปคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้วมากมาย
อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ประกอบด้วยอาคารรูปตัว H ที่มาจากความหมายของคำว่า Humanity ที่หมายถึงความเท่าเทียมเสมอกันของพลเมืองไทยทุกคน ซึ่งด้านบนของอาคารเป็น Green Roof Urban Farm ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย หลังคาสีแห่งเขียวนี้นอกจากจะเพาะปลูกผักออร์แกนิก สำหรับใช้ในโรงอาหารมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีระบบจัดการน้ำที่หมุนเวียนน้ำฝนมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย
ทั้งหมดนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากทีมงานคนไทย ระหว่างทีมออกแบบผังแม่บท CIDAR (Center of Innovative Design and Research) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีมสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ นำโดยอาจารย์ธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) และอาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกที่สร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะให้ผนวกเอาธรรมชาติมาอยู่ท่ามกลางผู้คน
ถัดมาเป็นความคิดสร้างสรรค์ของสองสถาปนิกไทยแท้ คุณชัยภัฏ มีระเสน และ คุณทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ ที่เชื่อว่าห้องสมุดต้องมีอะไรมากกว่าหนังสือ ยิ่งเป็นห้องสมุดของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ยิ่งต้องเป็นสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจและองค์ความรู้ได้มากมาย จึงเป็นที่มาของห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีพื้นที่ให้นิสิตได้ Brainstorms ความคิดกันได้อย่างเต็มที่ มีพื้นที่ฉายหนัง พื้นที่เลคเชอร์ อ่านหนังสือ ตัดโมเดล จัดนิทรรศการ ฯลฯ
เรียกว่าเป็นได้มากกว่าห้องสมุดที่ แต่เป็นพื้นที่สร้างบันดาลใจให้กับนิสิตนั่นเอง ล่าสุดห้องสมุดแห่งนี้เพิ่งไปคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของโลก ด้านการออกแบบในหมวดห้องสมุด (Library) จากงาน Best of Year Awards 2019 ซึ่งจัดโดย Interior Design Magazine นิวยอร์กด้วย
เมื่อคนไทยต้องการที่หายใจมากขึ้น สวนกลางกรุงที่มีชื่อว่า ‘อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ จึงเกิดขึ้นภายใต้ความคิดสุดสร้างสรรค์ของหญิงไทย ‘กชกร วรอาคม’ ภูมิสถาปนิกที่ต้องการให้อย่างน้อยปอดแห่งนี้หลีกหนีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รวมไปถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ไปได้บ้าง ดังนั้นงานออกแบบจึงเน้นให้ที่นี่เป็นสวนสาธารณะต้นแบบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน และการจัดการปัญหาน้ำท่วมให้แก่พื้นที่โดยรอบ
‘คิง เพาเวอร์ มหานคร’ ตึกระฟ้ารูปทรงแปลกตาที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านสาทร ตึกที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเมืองไทย ถูกออกแบบให้เสมือนโอบล้อมด้วยริบบิ้นสามมิติหรือ ‘พิกเซล’ ตลอดความสูงของตัวอาคารก่อให้เกิดโครงสร้างที่โดดเด่นสะดุดตาและมีรูปลักษณ์พิเศษ ล้อมรอบไปด้วยกระจก มีลูกเล่นผสมผสานพื้นที่อินดอร์และเอาท์ดอร์ให้มีมุมมองแบบพาโนราม่า มองเห็นทิวทัศน์ของเมืองและแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างสวยงามไม่ถูกรบกวนจากสถาปัตยกรรมอื่น ๆ รอบข้าง ซึ่งความโดดเด่นนี้ทำให้ “มหานคร” ได้รับรางวัลจากหลากหลายสถาบัน เช่น Thailand Property Awards, South East Asia Property Awards และ Asia-Pacific Property Awards เป็นต้น
ที่เป็นไฮไลท์ที่หลายคนอยากไปสมหานคร สกายวอล์ค จุดชมวิวบนดาดฟ้าชั้น 74 ที่พร้อมให้เดินชมวิวบนระเบียงพื้นกระจกใสที่สามารถมองเห็นวิวเมืองด้านล่างอย่างชัดเจน ด้วยพื้นกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลกเหมือนลอยอยู่กลางอากาศ ที่ว่ากันว่าต้องไปลองสักครั้งในชีวิต
ทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นสุดยอดของคนไทย นอกจากสถาปัตยกรรมเหล่านี้แล้ว คนไทยยังครีเอตอะไรเลิศ ๆ ล้ำ ๆ ได้อีกมากมาย เพราะยังไง 'คนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก'
อ้างอิง
ความเห็น 24
BEER
BEST
ขอโทษนะคะ ไม่ได้บอกว่าคนไทยไม่เก่งนะ แต่คนออกแบบ (architect) ตึกมหานคร เป็นคนเยอรมัน ชื่อ Ole Scheeren ค่ะ
21 เม.ย. 2563 เวลา 02.30 น.
BenเบญJK🍀🙋
สวยมากคะ
ขอบคุณ line today ที่มีเรื่องราวดีดี มาให้ชม
21 เม.ย. 2563 เวลา 02.17 น.
ʝʊռɢ_աɨռ
สวยงามๆๆๆๆและขอชื่นชมมันสมอง
ข่าวหรือเรื่องราวดีๆแบบนี้สิ
ที่สื่อไทยควรลงข่าวทุกวัน ให้มากๆ
ไม่ใช่เอาแต่ข่าวไร้สาระขยะมนุษย์
21 เม.ย. 2563 เวลา 01.35 น.
Suriyan Cometima
คนเขียนและบรรยายภาพเหล่านี้ คุณมั่นใจแล้วใช่ไม๊ว่าข้อมูลคุณถูกต้องแล้ว อย่างตึกเม็ทโทรโพลิสที่ตั้งอยู่นราธิวาสราชนครินทร์สถาปนิกผู้ออกแบบตัวตึกเป็นชาวเจอมันครับไม่ใช่คนไทยอย่ามั่วครับ เมื่อสามปีที่แล้วความสูงของตัวตึกของตึกนี้ก็แซงใบหยกสกายไปแล้วครับถึงแม้จะมีชั้นน้อยกว่าแต่ความสูงหรือห่างมีมากกว่าครับ สรุปแล้วตึกเม็ทโทรโพลิสของคิงพาวเว้อร์สูงกว่าตึกใบหยกสกายครับ.
21 เม.ย. 2563 เวลา 03.17 น.
KruVit
นับวัน เยาวชนไทยก้าวไกลกว่าแต่เดิม ยังมีสิ่งต้องสร้างสรรค์กันอีกมาก (กว่าการท้อถอย ด้อยค่าความเชื่อมั่นในตนเอง)...
20 เม.ย. 2563 เวลา 20.10 น.
ดูทั้งหมด