ไขปริศนาผีน้อย
ปมร้อนกระทบคนไทยไปเกาหลีใต้
เปิดทุกปัจจัย-ข้อเท็จจริง (1)
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรื่องราวเกี่ยวกับ “ผีน้อย” ซึ่งเป็นคำเรียกขานคนไทยที่เข้าไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย กลายเป็นประเด็นที่สังคมไทยรับรู้และได้ยินอยู่อย่างสม่ำเสมอ เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับคนไทยหนีทัวร์ในเกาหลีใต้ ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เกาหลีใต้ปฏิเสธไม่ให้เข้าเมือง ลามไปถึงการติดแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี ทั้งหมดนี้เป็นคนละเรื่องเดียวกัน ที่จะพาไปดูค้นต้นตอ หาคำตอบ และมองปัญหาที่เกิดขึ้นในหลากหลายมิติ
๐ต้นตอปัญหาผีน้อย
สาเหตุของปรากฎการณ์“ผีน้อย” มาจากหลายปัจจัย ปัจจัยแรกคือมีความแตกต่างของค่าแรงที่มากกว่า 5 เท่า โดยค่าแรงขั้นต่ำสำหรับคนงานที่ไม่มีทักษะในเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นคนเกาหลีใต้หรือคนต่างชาติ เป็นแรงงานผิดกฎหมายหรือทำงานอย่างถูกกฎหมายก็ได้เท่ากันคือราว 2 ล้านกว่าวอน หรือขั้นต่ำคือ 54,000-57,000 บาทต่อเดือน แต่แรงงานผิดกฎหมายจะไม่สามารถสมัครเข้าระบบประกันสุขภาพของทางการเกาหลีใต้ โดยค่าแรงที่สูงได้เป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดให้คนไปเป็นผีน้อย ซึ่งไม่ได้มีแค่ไทยเท่านั้น แต่มีอีกหลายชาติ ซึ่งนัยหนึ่งก็สะท้อนถึงการปรับตัวจากการที่เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้คนต้องดิ้นรนไปหางานทำในต่างประเทศมากขึ้น
ปัจจัยที่ 2 คือไทยมีช่องทางในการเดินทางเข้าเกาหลีใต้ที่สะดวก ภายใต้ข้อตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา หรือยกเว้นวีซ่ากับเกาหลีใต้ โดยให้แต่ละฝ่ายอยู่ในฐานะนักท่องเที่ยวได้นาน 90 วัน ทำให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคนไทยที่จะเข้าไปยังเกาหลีใต้ แม้ว่าขณะนี้การเข้าเมืองของเกาหลีใต้จะยากขึ้นก็ตามเพราะต้องขอ K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization ) ที่มีลักษณะคล้ายวีซ่า ทางระบบออนไลน์ จึงจะสามารถขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปเกาหลีใต้ได้ โดยจากจำนวนคนไทยในเกาหลีใต้ทั้งหมดราว 2 แสนนิดๆ แต่ที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผีน้อยจะอยู่ที่ราว 1.5 แสนคน หรือราว 75% ของคนไทยที่อยู่ในเกาหลีใต้คือผู้ที่อยู่แบบผิดกฎหมาย ทำให้คนไทยเป็นที่เพ่งเล็ง
ถ้าดูในจำนวนแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ทุกชาติมารวมกัน ไทยเป็นแรงงานผิดกฎหมายที่มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ทั้งจำนวนและสัดส่วน คือถ้าเจอแรงงานผิดกฎหมายเกาหลีใต้ 100 คน จะเป็นคนไทย 35 คน หรือ 1 ใน 3 นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนไทยถึงกลายเป็นเป้าของการตรวจคนเข้าเมือง และจำนวนแรงงานผิดกฎหมายไทย 1.5 แสนคน ประมาณ 95% เข้าไปโดยใช้ช่องทางของการเป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งอาศัยยกเว้นวีซ่า ที่เหลืออีกประมาณ 5 % เป็นแรงงานที่เข้าไปแบบถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้นก็อยู่ในเกาหลีใต้ต่อแบบผิดกฎหมาย ทั้งนี้ แรงงานต่างชาติที่เข้าไปพำนักและทำงานในเกาหลีใต้ (รวมทุกประเภทวีซ่า) กลุ่มใหญ่ที่สุดคือคนจีนเชื้อสายเกาหลี รองลงมาคือ เวียดนาม ไทย อุซเบกิสถาน ฟิลิปปินส์ ฯลฯ
ปัจจัยที่ 3 คือ มีเฟซบุ๊กที่มีโฆษณาที่จะพาไปพบชีวิตที่ดีกว่า หรือบอกว่ามีโอกาสในการหางานทำในเกาหลีใต้ ซึ่งอาจจะบอกหรือไม่ได้บอกว่าจะพาไปเป็นผีน้อย พูดอีกอย่างคือมี “โบรกเกอร์” ที่รับพาไปลักลอบหางานทำแบบผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยเองก็พยายามปราบปรามโบรกเกอร์เหล่านี้ แต่ก็ยังปราบปรามไม่หมด ซึ่งหากจัดการกับโบรกเกอร์ได้ ก็อาจจะปราบปรามผีน้อยไปได้ส่วนหนึ่ง
ขณะเดียวกันก็มีผีน้อยบางส่วนที่เข้าไปอยู่เกาหลีใต้แบบที่อาศัยเวลา 90 วันทำงาน จากนั้นก็กลับออกไป แล้วกลับเข้าไปเกาหลีใต้ใหม่เพื่อหางานทำต่อ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ถูกเพ่งเล็ง เพราะนำไปสู่โอกาสที่จะลักลอบพำนักอยู่ในเกาหลีใต้ต่อไปได้ เนื่องจากได้ไปทำความรู้จักกับพื้นที่ต่างๆ แล้ว จึงเห็นได้ว่า ผีน้อยในเกาหลีใต้ค่อนข้างมีความซับซ้อนและมีที่มาที่หลากหลาย
๐เกาหลีใต้หลับตาข้างหนึ่งหรือไม่
เกาหลีใต้เองก็มีปัจจัยที่เกื้อหนุน ปรากฎการณ์ผีน้อยเช่นกัน
ปัจจัยแรกคือเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ประชากรกำลังลดลงอย่างมาก อัตราการเกิดต่ำเพียงราว 0.7 % จึงจะเป็นสังคมผู้สูงวัยเร็วกว่าไทยที่มีอัตราการเกิดราว 1% แต่ก็ยังเป็นสังคมผู้สูงวัยไปแล้ว เกาหลีใต้จึงต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมาก มีการเปิดรับและพยายามให้โควต้ากับแต่ละประเทศ แต่ในภาพรวมก็ยังไม่เพียงพอ เพราะคนเกาหลีใต้ก็ไม่ทำงาน 3D หรืองานสกปรก อันตราย และลำบาก แรงงานต่างชาติจึงมีโอกาสและช่องทางมากในประเทศนี้
ปัจจัยที่ 2 คือเรื่องการบริหารจัดการของทางการเกาหลีใต้ และความต้องการของภาคเอกชนเกาหลีใต้เอง เนื่องจากแรงงานที่เข้ามาทำงานภายใต้โควต้าของรัฐ มักจะเป็นแรงงานที่ส่งไปยังบริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือภาคเกษตรที่ต้องการคนอาจไม่ได้รับโควต้าจากรัฐบาลเพียงพอ นอกจากนี้ ภาคเอกชนบางรายอาจจงใจจ้างผีน้อยเข้าทำงานเพราะต้นทุนถูกกว่า เนื่องจากไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคมใดๆ จึงเป็นเหตุให้รับแรงงานผิดกฎหมายเข้าไปทำงาน
ขณะเดียวกัน การกำหนดโควต้าแรงงานที่เกาหลีใต้จัดสรรให้แต่ละประเทศมีดัชนีใหญ่ๆ หลายประการประกอบกัน โดยสองเรื่องหลักคือการประเมินของนายจ้างว่าแรงงานทำงานดีหรือไม่ และอีกเรื่องหนึ่งคือจำนวนผีน้อยของประเทศนั้นๆ ในเกาหลีใต้ หากประเทศใดมีแรงงานผิดกฎหมายเยอะ ทางการเขาก็จะไม่เพิ่มโควต้าแรงงานให้
เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นสังคมที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว หากมีใครตั้งคำถามว่าบางทีเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจเอาหูไปนาเอาตาไปไร่หรือไม่ ก็คงต้องขึ้นกับนโยบายรัฐบาลในเวลานั้นๆ ถ้ารัฐบาลมีนโยบายกวาดล้างก็จะมีการตรวจสอบเข้ม แน่นอนว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา อีกทั้งเกาหลีใต้มีการประกาศอภัยโทษแรงงานต่างด้าวเป็นระยะ โดยเปิดให้ผู้ที่อยู่แบบผิดกฎหมายมารายงานตัว จากนั้นจะถูกส่งกลับโดยกล่าวว่าไม่ถูกขึ้นบัญชีดำและไม่ถูกเรียกเก็บค่าปรับ ก็ทำให้ผีน้อยบางส่วนรู้สึกว่าพวกเขาสามารถอยู่ต่อ แล้วก็รอการอภัยโทษครั้งต่อไปได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี หากมีคนชวนเข้าไปทำงานบางประเภทในเกาหลีใต้ อาทิ งานนวดให้ตระหนักได้ทันทีว่าเป็นงานผิดกฎหมาย เพราะเกาหลีใต้ไม่ได้เปิดให้คนไทยเข้าไปทำ เพราะงานนวด เป็นอาชีพที่เกาหลีใต้สงวนไว้ให้กับคนตาบอดของเขาเท่านั้น
เพียงแค่ปัจจัยพื้นฐานทั้งในส่วนของไทยและเกาหลีใต้เอง ก็น่าจะทำให้เห็นถึงองค์ประกอบมากมายที่สะท้อนถึงสาเหตุและต้นตอของปรากฎการณ์ “ผีน้อย” ในเกาหลีใต้จากทั้งสองฟากฝั่ง ที่มีรากของปัญหาหลากหลายกว่าที่คิด
สัปดาห์หน้าจะเล่าให้ฟังถึงการใช้ชีวิตของพวกเขาและความทุกข์ที่ต้องเผชิญ รวมถึงความเสี่ยงของคนไทยที่จะเดินทางไปเกาหลีใต้ และวิธีการรับมือกับความยุ่งยากที่อาจต้องเจอ แม้ว่าจะตั้งใจเดินทางเข้าไปในฐานะนักท่องเที่ยวก็ตามที
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ไขปริศนาผีน้อย ปมร้อนกระทบคนไทยไปเกาหลีใต้ เปิดทุกปัจจัย-ข้อเท็จจริง (1)
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th
ความเห็น 0