โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชวนส่งสารรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกในแคมเปญ รักครั้งนี้!! อย่าปล่อยให้ไวรัส “เอชพีวี” ลอยนวล

สวพ.FM91

อัพเดต 19 ม.ค. 2565 เวลา 04.18 น. • เผยแพร่ 19 ม.ค. 2565 เวลา 04.18 น.
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชวนส่งสารรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกในแคมเปญ รักครั้งนี้!! อย่าปล่อยให้ไวรัส “เอชพีวี” ลอยนวล

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมมะเร็งนรีเวชไทยชวนส่งสารรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกในแคมเปญ รักครั้งนี้!! อย่าปล่อยให้ไวรัส “เอชพีวี” ลอยนวล ผ่าน 4 ท่าเต้นบนแพลตฟอร์ม TikTok ส่งต่อเรื่องราวและร่วมแสดงพลัง #หยุดเชื้อHPVเพื่อฟินรัก ด้วยการตรวจและฉีดวัคซีนเอชพีวี วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ผู้ชายก็ต้องฉีด

18 มกราคม 2565: มกราคมเป็นเดือนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกสากล ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย บูรณาการความร่วมมือจัดกิจกรรมรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกภายใต้โครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ รักครั้งนี้!! อย่าปล่อยให้ไวรัส “เอชพีวี” ลอยนวล ในรูปแบบกิจกรรมเสมือนจริงให้ประชาชนได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ผ่านทางช่อง Youtube CHULABHORN Channel และ Facebook โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขึ้นเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์มะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย พร้อมเจาะลึกข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวี เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อเอชพีวี ทั้งนี้ ได้มีการรณรงค์สร้างการตระหนักรู้มาอย่างต่อเนื่องทุกปีและในปีนี้ได้เพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอีกกลุ่มที่จะช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อเอชพีวี คือ การรณรงค์ป้องกันในกลุ่มผู้ชาย เพราะการมีเพศสัมพันธ์คือสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ HPV ดังนั้น การจะขจัดโรคมะเร็งปากมดลูกให้หมดไป รวมทั้งลดเสี่ยงมะเร็งอื่นๆ อาทิมะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ จึงได้ตอกย้ำสารรณรงค์ไม่ว่าคุณจะมีความรักในรูปแบบไหนทั้งผู้หญิงและผู้ชายอย่าปล่อยให้เชื้อไวรัสเอชพีวีลอยนวล ด้วยหลักการง่ายๆ 3 วิธี คือ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง ตรวจคัดกรองเมื่อถึงเวลา และเข้ารับวัคซีนเอชพีวี วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ผู้ชายก็ต้องฉีด เพื่อป้องกันโรคให้ตัวเอง และป้องกันการเป็นพาหะให้ผู้หญิง โดยอยากให้ทุกคนทุกเพศทุกวัยได้ออกมาร่วมแสดงพลัง #หยุดเชื้อHPVเพื่อฟินรัก ในแคมเปญนี้ด้วยกัน ซึ่งในปีนี้มีหนุ่มมิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ ศิลปินนักแสดงสุดปังตัวแทนคนรุ่นใหม่ และ ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ มาร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน พร้อมทั้งร่วมกิจกรรม หยุดเชื้อHPVเพื่อฟินรัก กิจกรรมสุดพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับแฟนๆ ที่จองเข้ารับวัคซีนเอชพีวีในวันงานได้มาร่วมเปิดประสบการณ์แสดงพลังหยุดเชื้อ HPV และร่วมฟินกับหนุ่มมิวตัวจริง ณ ศูนย์บริการฉีดวัคซีนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยแคมเปญนี้ยังขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกิจกรรมรณรงค์ HPV Challenge ด้วยการสร้าง Content วิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์ม TikTok หรือ Instagram ด้วยท่าเต้น 4 ท่าง่ายๆ ได้แก่ 1. ท่าหัวใจ-สื่อถึงความรักในรูปแบบต่างๆ 2. ท่าปิดหน้า-สื่อถึงเชื้อเอชพีวีไม่เลือกหน้าที่ทุกคนอาจมีเชื้ออยู่โดยไม่รู้ตัว 3. ท่าฉีด-สื่อถึงการหยุดเชื้อโดยเข้ารับวัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกัน 4. ท่ากอด-สื่อถึงการฟินรักกันอย่างปลอดภัย สามารถร่วมสนุกกับกิจกรรม HPV Challenge ในแคมเปญ “รักครั้งนี้อย่าปล่อยให้ไวรัสเอพีวีลอยนวล” ที่ขอชวนคุณมาร่วมเต้นรณรงค์หยุดเชื้อเอชพีวีเพื่อฟินรัก ป้องกันมะเร็งปากมดลูกเพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรัก พร้อมติดแฮชแทค #หยุดเชื้อHPVเพื่อฟินรัก #HPVไม่เลือกหน้า #วัคซีนHPV เพื่อส่งต่อเรื่องราวดีๆ ในการให้ความรู้เกี่ยวกับHPV ผ่านมุมมองของคุณเอง นอกจากนี้ ภายในงานยังมีบูธผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ฯ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมสานหัวใจแบ่งปันสร้างสรรค์สุขภาพดีเพื่อสังคมไทยผ่านการร่วมบริจาค และเลือกรับผลิตภัณฑ์การกุศลลาย “เสือ” รายได้สมทบกองทุนสร้างภูมิสู้ภัยโควิด-19 เพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์เพื่อผู้ด้อยโอกาสด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์มะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยและนโยบายการป้องกันและควบคุมว่า “มะเร็งปากมดลูกเดิมเคยเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากในอดีตเคยเป็นมะเร็งอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย แต่ปัจจุบันก็ลดลงมาเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยในปี 2563 มีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 9,000 ราย ในจำนวนนี้มียอดการเสียชีวิตถึงร้อยละ 50 ณ ปัจจุบัน แนวโน้มการพบตัวเลขผู้ป่วยมากขึ้นเนื่องจากการเข้าถึงระบบคัดกรองที่เพิ่มมากขึ้นแต่สัดส่วนจำนวนความรุนแรงและผู้เสียชีวิตลดลง ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลและเผยแพร่ความรู้ทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาทั่วประเทศ จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพ เสริมสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งผลักดันในเชิงนโยบายของประเทศในการหาแนวทางป้องกันและการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือร่วมกับทางกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาระบบบริการในการป้องกันและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแก่ประชาชนในทุกมิติ และสนับสนุนให้มีการผลิตและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ด้านมะเร็งนรีเวช รวมถึงสูตินรีแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยที่มีผลการคัดกรองพบว่าผิดปกติ โดยเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี เชื้อเอชพีวีเป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านทางการสัมผัส หรือการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีอยู่ร้อยกว่าสายพันธุ์ แต่ชนิดที่เสี่ยงจะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกบ่อยๆ มีประมาณ 15 สายพันธุ์ โดยผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก 100 ราย จะตรวจพบเชื้อ HPV เกือบทุกราย (ร้อยละ 99) ซึ่งแปลว่า ถ้ากำจัดเชื้อ HPV ได้ ก็เท่ากับว่ากำจัดมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้น แนวทางการป้องกันเพื่อขจัดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย ได้แก่ 1. การรณรงค์หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ เช่น การมีคู่นอนคนเดียวเพื่อลดโอกาสรับเชื้อ HPV 2. การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีโดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูก ซึ่ง 2 สายพันธุ์นี้ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันที่ได้ผลเกือบ 100% แล้ว แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่อาจจะติดไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์อื่นๆ อยู่ ดังนั้น แม้จะได้รับวัคซีนแล้ว ก็ยังมีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ 3. การจัดระบบการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างเป็นระบบ โดยประเทศไทยได้ดำเนินโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA test) มาแทนการตรวจด้วยแปปสเมียร์ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ซึ่งวิธีนี้มีความไวในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติสูงมาก ประกอบกับผลการศึกษาการประเมิน ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ระบุว่า เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ เป็นวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ทำให้สามารถตรวจพบ ผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้นและเข้าสู่การรักษาได้โดยเร็วก่อนลุกลาม ช่วยให้อุบัติการณ์และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกลดลง ซึ่งรูปแบบของบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอจะเป็นวิธีคัดกรองมะเร็งปากมดลูกลำดับแรกในกลุ่มสตรีอายุ 30-60 ปี กรณีที่ผลการตรวจไม่พบเชื้อจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองทุก 5 ปี และในกรณีที่ตรวจพบเชื้อจะทำการตรวจยืนยันซ้ำและเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป”

สำหรับ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ได้กล่าวถึงโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกที่ในปีนี้ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ผ่านทางออนไลน์ว่า “เดือนมกราคมซึ่งถือเป็นเดือนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกสากล เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ และสานต่อนโยบายระดับชาติเพื่อรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพให้ประชาชนไทยได้ตระหนักรู้ถึงการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีในวงกว้าง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกให้กับสตรีไทย การประชาสัมพันธ์จะเน้นให้ความสำคัญถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวี เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งเชื้อไวรัสตัวนี้ปัจจุบันเราป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนซึ่งเราได้รณรงค์สร้างการตระหนักรู้มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เรื่องเอชพีวีไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะของสาวๆเท่านั้น ในปีนี้เราเล็งเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอีกกลุ่มที่จะช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อเอชพีวี คือผู้ชาย เพราะการมีเพศสัมพันธ์คือสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ HPV ทั้งทางอวัยวะเพศ ทางปาก และทางทวารหนัก จึงเป็นที่มาในสารรณรงค์ของแคมเปญในปีนี้ที่ว่า รักครั้งนี้!! อย่าปล่อยให้ไวรัส “เอชพีวี” ลอยนวล โดยรณรงค์เชิญชวนประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถมาร่วมหยุดเชื้อ HPV ด้วยการตรวจและฉีดวัคซีนเอชพีวี นั่นคือ ผู้หญิงเมื่อถึงวัยตามเกณฑ์คืออายุ 30 ปี หรือเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้วแนะนำให้เข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ หากทราบว่าติดเชื้อก็จะสามารถรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่เชื้อจะพัฒนากลายไปเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคต ซึ่งวัคซีนเอชพีวีเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบเป็นต้นไป และผู้ชายก็สามารถเข้ารับวัคซีนตัวนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้เช่นกัน

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีว่า “HPV หรือ Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก รวมถึงมะเร็งช่องปากและลำคอ และหูดหงอนไก่ สำหรับโรคมะเร็งปากมดลูกจะไม่แสดงอาการจนกว่าโรคจะพัฒนาจนร้ายแรง แต่หากเราตรวจพบและป้องกันเชื้อเอชพีวีได้เร็วก่อนที่จะพัฒนารอยโรคไปเป็นมะเร็งปากมดลูก ก็จะมีโอกาสรักษาหายสูงถึงร้อยละ 98 ซึ่งเชื้อเอชพีวีที่ก่อโรคมีประมาณ 40 สายพันธุ์ แต่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่ก่อโรคบ่อย การติดเชื้อ HPV ที่พบบ่อย คือ การสัมผัสทางผิวหนัง เพราะฉะนั้น เพศสัมพันธ์จึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ติดเชื้อ HPV บริเวณปากมดลูก และอวัยวะเพศส่วนอื่นๆ เช่น ทวารหนัก รวมถึงช่องปากและลำคอ การติดเชื้อ HPV เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่ง 80% ของผู้หญิงเคยมีเชื้อ หรือกำลังมีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ถ้าร่างกายแข็งแรงเชื้อ HPV จะถูกกำจัดออกไปได้เอง แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอการติดเชื้อดังกล่าวอาจพัฒนากลายไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ และการติดเชื้อเอชพีวีเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากที่สุดถึง 70% และมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ HPV ถึง 35 เท่า และส่วนใหญ่เชื้อไวรัส HPV เป็นเชื้อที่ผู้ชายจะเป็นตัวพาหะนำพาเชื้อนี้เข้าสู่ผู้หญิง”  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น