เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการประชุมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่ม นักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ และตัวแทนรัฐบาลจากหลายประเทศทั่วโลก โดยครั้งนี้จัดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้เพื่อระดมความคิดในเรื่องของสภาวะโลกร้อนที่กำลังกลายเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง
มีการคาดการณ์กันก่อนหน้านี้ว่า ภายในอีกไม่นาน อุณภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 องศาเซลเซียส ซึ่งแม้จะเป็นเพียงตัวเลขหลักเดียว แต่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอันมหาศาล 2 องศาเซลเซียสไม่ใช่เพียงแค่ทำให้เรารู้สึกว่า อากาศร้อน แต่สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่อาจสูญสลายไป ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น สภาพภูมิประเทศแบบทะเลทรายจะเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ และความไม่แน่นอนของสภาวะอากาศที่จะนำไปสู่ภัยพิบัติธรรมชาติ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ไกลตัวพวกเรา
แล้วอุณหภูมิโลกควรไม่เกินเท่าใด ถึงจะพอดี?
ที่การประชุม IPCC ได้ร่วมประกาศเจตนารมI ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และเสนอเเนะว่าทั่วโลกจะต้องสร้าง carbon neutral (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อโอกาสอย่างน้อย 50/50 ที่จะสามารถรักษาอุณหภูมิของโลกไว้ในระดับไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ จะต้องมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดเเทน เช่น พลังงานน้ำ พลังงานเเสงอาทิตย์เเละพลังงานลม จาก20% เป็น 70% ภายในปีค.ศ. 2050 อีกทั้งยังต้องลดการใช้พลังงานถ่านหินที่ใช้ในปัจจุบันมากถึง 40% ให้เหลือแค่ตัวเลข 1 หลัก ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางเเละรวดเร็ว ในเรื่องการใช้ที่ดิน อุตสาหกรรม การก่อสร้าง คมนาคมเเละการพัฒนาเมือง
และไม่ใช่แค่นั้น จะต้องมีการต่อยอดการพัฒนาระบบพลังงานใหม่ ในปี 2016 ถึง ปี 2035 คิดเป็นราว 2.5% ของ จีดีพีโลก ซึ่งจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานร่วมกันจาก 40 ประเทศระบุว่า เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จะทำให้สภาพขั้วโลกที่ไร้น้ำแข็งช่วงฤดูร้อนเกิดขึ้น 1 ครั้งในรอบ 100 ปี แต่ถ้าหากมนุษย์เราทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 2 องศา สภาพดังกล่าว จะเกิดขึ้นให้เราเห็นทุกๆ 10 ปี เช่นเดียวกัน แนวปะการังที่มีชีวิตอาจสูญสลายไปโดยประมาณ 70-90% เมื่อโลกร้อนขึ้น 1.5 เซลเซียส แต่ถ้าโลกร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส ปะการังจะล้มตายถึง 99%
แม้จะยังคงเป็นภาพของอนาคตที่ดูสูญเสีย แต่หากมนุษย์เราใส่ใจเรื่องของภาวะเรือนกระจก และสภาวะโลกร้อน พร้อมปรับ เปลี่ยน ชีวิตบนวิถีอนุรักษ์ เราคงเดินไปไม่ถึงแม้ตัวเลขโลกร้อนที่ 1.5 อาศาเซลเซียสก็เป็นได้