ช่วงนี้รัฐบาลชุดใหม่ขยันคิด ปล่อยนโยบายเอาใจประชาชน ทั้งการที่จะเปย์เงินคนละ 1,500 บาท ให้ไปท่องเที่ยวเมืองรอง เติมเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการจากโครงการ มารดาประชารัฐ ที่จะแจกให้อีกคนละ 1,000 บาท และยังนโยบายบัตรคนจนที่ผ่านมาซึ่งทำเอาตู้เอทีเอ็มเกือบแตก
ซึ่งจริงๆแล้วนโยบายการแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยก็มีหลายๆประเทศที่เขาทำกัน แต่มองดูแล้วจะเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวหรือแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือเปล่า แล้วประเทศอื่นเขามีวิธีการแจกเงินยังไง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน และได้ผลลัพธ์ที่มากขึ้นจากเงินที่แจกไป ลองมาดูกัน
ในหลายๆประเทศที่เขามีการแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย แต่เขาไม่ได้แจกให้ฟรีๆนะ! จะได้เงินก็ต้องมีเงื่อนไข โมเดลนี้เรียกว่า การโอนเงินแบบมีเงื่อนไข “Conditional Cash-transfer Program” หรือ CCT
ในประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่าง กัมพูชา ครอบครัวที่มีรายได้น้อยจะได้รับเงินสนับสนุนโดยมีเงื่อนไขเน้นไปที่พัฒนาการศึกษาของเด็ก โดยเด็กๆจะต้องสอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนดก่อนครอบครัวถึงจะได้รับเงิน
หรือในบังกลาเทศ เด็กผู้หญิงที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจนส่วนใหญ่ มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ต้องแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ถึง 18 ปี ในการที่จะแก้ปัญหานี้ รัฐบาลได้แจกเงินสนับสนุนให้แก่เด็กผู้หญิงเหล่านี้ไปเรียนหนังสือต่อ โดยมีเงื่อนไขว่า พวกเธอจะต้องยังไม่แต่งงาน
และในประเทศบราซิล รัฐบาลได้ให้เงินแก่ครอบครัวที่ยากจน แต่จะต้องส่งลูกเข้าโรงเรียน ด้วยสัดส่วนเวลา 85 % ของเวลาเรียนทั้งหมด และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำ
โดยผลจากการโอนเงินแบบมี "เงื่อนไข" CCT น่าจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยดีขึ้นและยังลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความยากจนอย่างการติดแอลกอฮอล์ หรือ อบายมุขได้อีกด้วย
ในขณะที่ประเทศฟินแลนด์ก็เคยทดลองใช้นโยบาย แจกเงินคนจน คนว่างงาน แบบไม่มีเงื่อนไข ตกคนละ เกือบ 20,000 บาทต่อเดือน! ในระยะเวลา 2 ปี ผลปรากฎว่า การแจกเงินไม่ได้ทำให้มีอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น แต่เพียงทำให้คนรู้สึกมีความสุข รู้สึกว่าความเลื่อมล้ำน้อยลงและมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น
ทั้งนี้ก็มีข้อโต้เถียงว่า หากฟินแลนด์จะนำนโยบายนี้มาใช้จริง ควรจะให้แก่คนที่มีรายได้น้อยจริงๆเท่านั้น และต้องหางานไปด้วย หากได้งานแล้วปฏิเสธงานนั้น ก็ควรตัดสิทธิการได้รับเงินจากรัฐบาล
ทั้งนี้มีนักวิชาการได้เสนออีกมุมมองที่ น่าจะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้ คือ รัฐอาจต้องมีมาตรการในเชิงบังคับให้ผู้มีรายได้น้อยพยายามหางานทำ สร้างรายได้ไปพร้อมๆกับการรับเงินจากรัฐ โดยควรจะมีการรายงานว่า แต่ละเดือนได้รายได้มากขึ้นเท่าไหร่ หรือมีการสมัครงานอย่างน้อยกี่แห่ง เพื่อกระตุ้นให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน
และรัฐควรประเมินว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย ได้มีการช่วยเหลือตนเองในการสร้างรายได้ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งอาจใช้มาตรการลดเงินสวัสดิการ หรือเปลี่ยนการช่วยเหลือด้วยวิธีอื่น อย่าง จัดหาช่องทางทำมาหากิน หรือ ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะแรงงานให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
หากจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน น่าจะเริ่มจากนโยบายที่ควรแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน อย่างการสนับสนุนเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญ หรือ ช่องทางในการสร้างอาชีพ เพื่อให้เติบโตด้วยตนเองอย่างมั่นคง
ความเห็น 317
NFg_Nitirat 🎮
ถ้าเรียนดี เรียนผ่านแล้วได้ตังค์ พวกเด็กๆมันจะตั้งใจขึ้นมั้ยนะ อันนี้น่าสนอยู่.. อันนี้น่าสนใจ. แต่ต้องระวังเรื่องคอรัปชันด้วยนะครับ
19 ส.ค. 2562 เวลา 06.01 น.
Chon 289
สมองผู้บริหาร คิดได้แค่นี้หรอ
19 ส.ค. 2562 เวลา 01.34 น.
Tui Thawatchai
น่าจะนำเงินไปช่วยเหลือพวกเกษตรกรและชาวนาดีกว่านะ ยางก็ราคาถูกมาก ข้าวก็ราคาไม่ดี หลายๆเรื่องก็แย่มากๆ ชาวนาชาวสวนชาวไร่ต้องการความช่วยเหลือมากๆเวลานี้ เพราะไม่สามารถนำผลผลิตไปขายยังดาวอังคารได้...
19 ส.ค. 2562 เวลา 01.28 น.
Pui
มันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ไม่น่าเชื่อว่าจะมีนโยบายที่ย่ำแย่ ทุกวันนี้เอาเงินภาษีมาพัฒนาประเทศแบบนี้ก็ได้เหรอ
19 ส.ค. 2562 เวลา 01.03 น.
หนุ่ม 🌎
นโยบายซื้อเสียงล่วงหน้าโดยผลาญเงินภาษีฯแบบไม่สร้างสรรค์
คนจนและคนชราตกเป็นเหยื่อกลุ่มนายทุนและพรรคการเมืองบางพรรค
19 ส.ค. 2562 เวลา 00.44 น.
ดูทั้งหมด