ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เปิดเผยต่อประชากรโลกที่ผ่านมา ทำให้เป็นที่ทราบกันดีว่า COVID-19 ที่แพร่ระบาดในปัจจุบันเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเจ็บป่วยต่างๆ และมีอาการเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โดยมักพบว่ามีการติดเชื้อที่ปอด ซึ่งปอดและร่างกายที่แข็งแรงนั้นเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ร่วมด้วย
ด้วยพื้นที่กว่า 40 ไร่ ที่อุดมไปด้วยต้นไม้นานาพรรณอันเขียวชอุ่มร่มรื่นกว่า 1,800 ต้น 73 ชนิด อายุมากกว่า 50 ปี ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท จนส่งผลให้ที่ผ่านมาได้รับเหรียญรางวัลพระราชทานพฤกษนครา จากโครงการแมกไม้มิ่งเมือง ระดับหน้าบ้านหน้ามอง ประเภทมหาวิทยาลัยในสวน จากกรุงเทพมหานคร ซึ่งนอกจากส่งเสริมบรรยากาศการเรียนการสอนแล้ว ยังเป็นแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งจนเรียกได้ว่าเป็น "ปอดของคนกรุงเทพฯ"
รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่คนเราได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติถือว่าเป็นคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของคนเมืองที่ต้องประสบกับปัญหามลพิษ เพื่อดูแลต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ให้สวยงามและปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท จึงได้ร่วมกับ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ริเริ่ม "หลักสูตรรุกขกรปฏิบัติการ" เพื่อพัฒนาบุคลากรที่ดูแลงานด้านการปรับภูมิทัศน์ ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลที่สนใจได้เข้าร่วมอบรมด้วย ซึ่งจะขยายผลจัดอบรมให้บุคคลภายนอกต่อไปในอนาคต โดยเชื่อมั่นว่าด้วยพื้นที่ทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท แห่งนี้ จะเป็น "ห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต" ซึ่งสามารถส่งเสริมสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล รองคณบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ประสานงานจัดการอบรมได้กล่าวถึงรายละเอียดของ "หลักสูตรรุกขกรปฏิบัติการ" ว่าแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต้น สำหรับการดูแลต้นไม้ขนาดความสูงไม่เกิน 3 เมตร ระดับกลาง สำหรับการดูแลต้นไม้ขนาด 5 เมตรขึ้นไป และระดับสูง ซึ่งจะเป็นการทบทวนทั้งหลักสูตร ซึ่งรวมถึงเรื่อง "คลินิกต้นไม้" หรือการซ่อมแซมต้นไม้ ตลอดจนการค้ำยันต้นไม้ด้วย
"ต้นไม้ใหญ่ต้องยืนต้นอยู่ได้ด้วยความแข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรากจะต้องแข็งแรง ปัญหาต้นไม้ล้มส่วนใหญ่เกิดจากนำต้นไม้ที่ขุดล้อมนำมาปลูก โดยไม่ได้มีวางแผนการปลูกอย่างถูกหลักวิธีเพื่อให้รากยึดเกาะพื้นดินได้โดยสมบูรณ์ ตามหลักต้องมีการตัดแต่งกิ่งก้านเป็นวงรอบตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เติบโตเป็นทรงพุ่มสวยงาม และแข็งแรง ศาสตร์ของรุกขกรที่จัดอบรมขึ้นเป็นครั้งแรกร่วมกับกรมป่าไม้นี้ จะช่วยทำให้ผู้เข้าอบรมสามารถดูแลต้นไม้ได้อย่างถูกหลักวิชาการ ซึ่งจะทำให้คนและต้นไม้อยู่ร่วมกันอย่างมีดุลยภาพ และยั่งยืน" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
ข่าวโดย.. ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ความเห็น 0