หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ
เห็นกับตา‘โพธิ์ลังกา’
รายงานตัวว่าผมเพิ่งกลับมาจากศรีลังกาได้เพียงไม่กี่วันครับ
เรื่องเล่าสู่กันฟังวันนี้จึงหนีไม่พ้นเรื่องของศรีลังกาและเรื่องของพระพุทธศาสนาซึ่งพัวพันกันอย่างแนบแน่นมาช้านานแล้วแถมยังผูกโยงมาถึงเมืองไทยของเราด้วย
การเดินทางไปศรีลังกาครั้งนี้เป็นการเดินทางครั้งที่สามในชีวิตของผม ครั้งแรกนานจนแทบจำไม่ได้แล้วครับว่าไปมาเมื่อไหร่ จำได้เลือนรางแต่เพียงว่าเป็นการไปเที่ยวเมื่อตอนเริ่มทำงานสอนหนังสือได้เพียงไม่กี่ปี รอบนั้นได้ไปถึงเมืองแคนดี้และได้ไปที่วัดพระเขี้ยวแก้วด้วย
ส่วนรอบที่สองนั้นเป็นการเดินทางไปศรีลังกาเมื่อพุทธศักราช 2546 ปีนั้นเป็นการเฉลิมฉลองวาระของการก่อตั้งคณะสงฆ์นิกายสยามวงศ์ขึ้นในประเทศศรีลังกาครบ 250 ปี ฝ่ายเจ้าภาพได้เชิญผู้แทนจากประเทศไทยไปร่วมงานด้วย
เวลานั้นถึงแม้ว่าผมรับราชการอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม แต่ก็จับพลัดจับผลูได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนประเทศไทยไปร่วมงาน
ไปรอบนี้ไม่ค่อยเห็นอะไรหรอกครับเพราะอยู่แต่ในงานพิธีและห้องประชุมเสียเป็นส่วนใหญ่
เวลาผ่านไป 20 ปีพอดิบพอดี ปีนี้ผมได้ย้อนกลับไปประเทศศรีลังกาอีกครั้งหนึ่งในภารกิจที่เชื่อมโยงกับวาระครบรอบ 260 ปีแห่งการก่อตั้งคณะสงฆ์นิกายสยามวงศ์ขึ้น
โดยผมได้ติดตามเจ้าประคุณ สมเด็จพระธีรญาณมุนี นำพระพุทธรูปขนาดใหญ่พอสมควรที่จำลองมาจากหลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง จังหวัดพิจิตรไปมอบให้แก่รัฐบาลศรีลังกาตามที่ท่านเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบได้ประสานขอเมตตาไว้ เพื่อทางประเทศศรีลังกาจะได้เชิญไปประดิษฐานไว้ในที่อันสมควรเพื่อเป็นนิมิตหมายแห่งโอกาสสำคัญดังกล่าวพร้อมกันกับเป็นการฉลองวาระครบรอบ 75 ปีของการประกาศเอกราชของเขาด้วย
นอกจากงานพิธีการดังว่าแล้ว ผมยังมีโอกาสเดินทางออกไปนอกกรุงโคลัมโบ เพื่อไปไหว้พระและปูชนียสถานตามหัวเมืองของเมืองศรีลังกา
ที่สะดุดใจเป็นพิเศษและขอนำมาเป็นประเด็นพูดคุยกันในวันนี้ คือการเดินทางไปที่เมืองอนุราธปุระ ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าแก่เมืองแรกของประเทศศรีลังกาก็ว่าได้
เมืองอนุราธปุระนี้ ยูเนสโกเขายกย่องว่าเป็นมรดกของโลกมาหลายปีแล้ว
จะเรียกว่าเป็นรุ่นพี่ของเมืองศรีเทพมรดกโลกสดๆ ร้อนๆ ของประเทศไทยก็เห็นจะได้
สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมตั้งใจไปกราบไหว้และพบเห็นคือต้นโพธิ์สำคัญ อันที่เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่านำหน่อมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาจากอินเดีย ข้ามน้ำข้ามทะเลมาประเทศศรีลังกาซึ่งเวลานั้นควรจะเรียกแต่เพียงว่าลังกาทวีป เมื่อประมาณพุทธศักราช 200 ต้นๆ
ภารกิจสำคัญดังกล่าวเป็นพระกรณียกิจสำคัญเอกอุของพระราชธิดาในพระเจ้าอโศกมหาราช พระนามว่าพระนางสังฆมิตตาเถรี ผู้ทรงเป็นภิกษุณีด้วย พระนางได้ทรงนำกิ่งด้านขวาของพระศรีมหาโพธิ์ที่เมืองพุทธคยาไปถวายแด่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ พระเจ้ากรุงอนุราธปุระในเวลานั้น
ฝ่ายพระเจ้ากรุงอนุราธปุระทรงปลาบปลื้มยินดีเป็นที่สุด ที่ได้ส่วนแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์มาเป็นมิ่งขวัญ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ปลูกไว้กลางเมืองและยังปรากฏให้ผู้คน (รวมทั้งผม) กราบไหว้มาจนถึงทุกวันนี้
ตรงนี้ขออธิบายเสริมความหน่อยหนึ่งว่า หลังพุทธปรินิพพานแล้ว ยุคแรกทีเดียวยังไม่มีพระพุทธรูปเกิดขึ้นในโลกนะครับ ปกติการสร้างรูปเหมือนมนุษย์เป็นเรื่องที่อินเดียและประเทศตะวันออกทั้งหลายเราไม่นิยมทำกัน
เวลาผ่านไปประมาณ 500 ปีแล้ว ถึงยุคสมัยที่พระเจ้ามิลินท์ หรือพระเจ้าเมนานเดอร์ที่ 1 ซึ่งเป็นชาวกรีกเข้ามาปกครองแคว้นคันธาระ เนื่องจากพระเจ้ามิลินท์ท่านเป็นฝรั่งชาวกรีก ท่านจึงนำคติเรื่องการสร้างรูปเหมือนมาสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรก ทำนองเดียวกันกับการสร้างรูปเทวดาของเมืองฝรั่งทั้งหลาย
ตั้งแต่นั้นมาความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปด้วยพุทธศิลป์ที่งดงามของพุทธศาสนิกชนประเทศต่างๆ ก็เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไปถามตัวเองว่า แล้วช่วงเวลา 500 ปีก่อนที่จะมีพระพุทธรูปเกิดขึ้นในโลกนี้ ชาวพุทธทั้งหลายกราบไหว้สิ่งใดเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์สมเด็จพระบรมศาสดา
นอกจากการปฏิบัติตามพระบรมพุทโธวาทก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานที่ให้เคารพนับถือพระธรรมคำสอนแทนพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ชาวพุทธเวลานั้นก็หาที่ยึดเหนี่ยวที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้เพิ่มเติม เช่น การไปจาริกแสวงบุญอย่างสังเวชนียสถานสี่แห่ง คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ทรงแสดงปฐมเทศนาและปรินิพพาน รวมตลอดถึงการเคารพรูปสมมุติหรือเครื่องหมายสมมุติต่างๆ
ตัวอย่างเช่น การสร้างรูปธรรมจักร พร้อมด้วยกวางคู่หนึ่งหมอบอยู่ด้านหน้า นี่ก็เป็นรูปเคารพสักการะที่ทำเพื่อเรานึกถึงพระมหากรุณาที่สมเด็จพระบรมศาสดาของเราได้ทรงแสดงพระธรรมคำสอนให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและดำเนินชีวิตของเรา
ถ้าเราพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นว่า เมื่อเดินทางไปถึงพุทธคยาซึ่งเป็นสังเวชนียสถานสำคัญยิ่งด้วยเป็นสถานที่สมเด็จพระบรมศาสดาของเราทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมโพธิญาณ ใครไปถึงที่นั่นแล้วก็ต้องไปกราบไหว้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งเป็นพยานแห่งเหตุการณ์สำคัญทั้งนั้นด้วยกันทุกคน
พุทธคยากับต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรงนั้นจึงผูกพันกันอย่างแยกไม่ออก
คราวนี้ต้องเอามานึกถึงพระทัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะบ้าง ท่านนับถือพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวด แต่ไม่ใช่ของง่ายเลยที่ท่านจะเสด็จจากลังกาทวีปผ่านประเทศอินเดียไปเกือบทั้งประเทศขึ้นไปจนถึงพุทธคยาซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ
แล้ววันดีคืนดี พระนางสังฆมิตตาเถรีก็นำต้นพระศรีมหาโพธิ์มาถวายถึงลังกาทวีป จะไม่ให้ดีพระทัยได้อย่างไร
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เมืองอนุราธปุระ จึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสของผู้คนตั้งแต่นั้นมา
ฝ่ายเมืองไทยของเราตั้งแต่สมัยสุโขทัยก็ดี อยุธยาพอดี การเดินทางไปจนถึงพุทธคยาในประเทศอินเดียนั้นเป็นเรื่องไกลเกินคิด เรียกว่าอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวเลยทีเดียว
ที่ติดต่อสมาคมไปมาหาสู่กันอยู่เสมอก็คือลังกาทวีปกับสยามประเทศนี้เอง
ทั้งสองฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นในทางพระพุทธศาสนา ดังที่เราบอกกันอยู่แล้วว่าเมืองไทยมีพระสงฆ์ลังกาวงศ์ ส่วนศรีลังกามีพระสงฆ์สยามวงศ์ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันถึงขนาดนั้น
ในสมัยโบราณ ต้นโพธิ์ในบ้านเราที่สามารถเชื่อมโยงประวัติไปถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้ก็ล้วนแต่เป็นต้นโพธิ์ที่ได้มาจากเมืองลังกาทั้งสิ้น โดยคณะสงฆ์หรือผู้คนที่เดินทางไปมาหาสู่ได้เชิญหน่อของต้นพระศรีมหาโพธิ์จากเมืองอนุราธปุระนั้นมาปลูกไว้ที่เมืองไทย
คำว่า “โพธิ์ลังกา” จึงเป็นคำที่ติดปากและคุ้นหูของไทยเรามาแต่ไหนแต่ไร
ขออนุญาตอ้างอิงถึงวิหารโพธิ์ลังกาที่วัดมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราชเป็นพยานเอกในข้อนี้
เวลาผ่านไปอีกหลายร้อยปี จนถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การคมนาคมไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศไทยกับประเทศอินเดียสะดวกขึ้น คณะผู้แทนจากประเทศไทยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสมัยเมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ ได้เสด็จขึ้นไปถึงที่พุทธคยาเป็นคราวแรก
ครั้งนั้นเอง ได้ทรงนำหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยากลับมาประเทศไทยด้วย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์ครั้งนั้นไปปลูกไว้ตามพระอารามต่างๆ หลายแห่ง ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นเป็นเจดีย์สำคัญของพระอาราม โดยไม่ต้องสร้างพระเจดีย์เป็นการซ้ำซ้อนกัน
วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระอารามแห่งหนึ่งที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยามาปลูกไว้ข้างพระอุโบสถ
ตามคำอธิบายนี้วัดเทพศิรินทร์จึงไม่มีพระเจดีย์ครับ
ข้อมูลทั้งหมดที่พร่ำเพ้อมายืดยาวนี้ ทบทวนและปรารภนึกขึ้นได้เมื่อเดินทางนั่งรถหกชั่วโมงจากกรุงโคลัมโบไปถึงอนุราธปุระ
ระยะทางแค่ 200 กว่ากิโลเมตร แต่ต้องนั่งรถนานปานนั้นเชียวครับ เพราะถนนของเขามีเพียงแค่สองเลนและผ่านเข้าไปในที่ประชุมชนเกือบตลอดหนทาง
แต่ก็คุ้มครับ เพราะนอกจากได้บุญกุศลแล้วยังได้เห็นต้นโพธิ์เคยอ่านหนังสือมาแล้วตั้งแต่เด็กกับตาของตัวเองเสียที
เห็นแล้วก็เข้าใจซึมซาบขึ้นตั้งเยอะ
โบราณท่านถึงบอกว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น นั้นแล
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
ความเห็น 0