โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

อาชญากรรม

กลุ่มจีนเทาย้ายฐาน "แก๊งค้ามนุษย์" ระบาดหนักทั่ว "อาเซียน"

Thai PBS

อัพเดต 2 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 2 วันที่แล้ว • Thai PBS
กลุ่มจีนเทาย้ายฐาน

หลังพบตัว"ซิงซิง (Xing Xing)" หรือ หว่าง ซิง (Wang Xing) นักแสดงหนุ่มดาวรุ่งของจีน ซึ่งหายตัวในขณะเดินทางมาไทย ภาพจากกล้องวงจรปิดจับได้ว่า ซิง ซิง นั่งรถแท็กซี่ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2568 และจุดสุดท้ายพบว่า ลงจากรถที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีผู้มารับ ไม่ได้มีลักษณะถูกข่มขู่คุกคาม

ซิง ซิง ให้การว่า ได้รับการติดต่อจากโมเดลลิง เพื่อแคสต์บทซีรีย์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการบันเทิงของไทย แต่เหตุการณ์พลิกผัน เพราะบริษัทที่ถูกแอบอ้างไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลายเป็นนักแสดงหนุ่มถูกหลอกข้ามแดนให้ไปทำงานกับแก๊งค์คอลเซนเตอร์ ต่อมาทางการไทยได้ประสานไปยังทางการเมียนมาและชนกลุ่มน้อยที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าว จนได้รับความช่วยเหลือนำตัวกลับมา

เหตุการณ์ดังกล่าว ตำรวจตั้งข้อสงสัยว่า อาจเป็นการ "ค้ามนุษย์ (Human Trafficking)"ของกลุ่มจีนเทาที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่เพียงล่อลวง คนไทย หรือ โรฮิงจา ไปทำงานเท่านั้น แต่ยังใช้วิธีการหลอกลวงชนชาติเดียวกัน หรือที่เรียกว่า "จีนต้มจีน" โดยมีกลุ่มนายทุนสีเทาเป็นหัวขบวน ว่ากันว่า แก๊งนี้ต้องการใช้ชาวจีนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี เพื่อใช้หลอกลวงคนจีนด้วยกัน และคุณสมบัติของ ซิง ซิง เข้าข่ายพอดี

มีคำถามสำคัญว่า ไทยในฐานะที่เป็นประเทศต้นทางและปลายทาง แม้ไม่ใช่ฐานที่ตั้งของกลุ่มจีนเทา จะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกมองว่า ไร้มาตรการป้องกัน เนื่องจากคนต่างชาติและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ มักถูกส่งออกตามช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดน

เส้นทางสายไหม จุดเคลื่อน ทุนจีนเทา?

บทความวิจัย Human Trafficking in the People’s Republic of China และ บทความวิจัย Human trafficking in China เสนอในทิศทางเดียวกันว่า การค้ามนุษย์ในจีนนั้น มีจำนวนลดน้อยลงไปมาก จริง ๆ คือ บรรดาอาชญากรรมทั้งหมดลดน้อยลง เพราะรูปแบบการปกครองของประเทศนั้น เอื้อให้ดำเนินนโยบายปราบปรามได้ง่าย

โดยเป้าหมายหลักของรัฐบาล สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ต้องการนำประเทศให้มีความใกล้เคียงสากลโลกมากขึ้น ดังนั้น การลดอาชญากรรมจึงจำเป็นที่จะดึงเม็ดเงินลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นแก่คู่ค้าได้ หากทุนจีนผู้ใดร่ำรวยเกินหน้าเกินตา จะถูกตรวจสอบและ "บอนไซ" อย่างถึงที่สุด แน่นอน ขนาดบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) หรือ ซูหนิง (Suning Holdings Group) ยังไม่รอด ไม่ต่างกับกลุ่มทุนจีนสีเทาและกลุ่มธุรกิจมืดโดยเฉพาะการค้ามนุษย์ ที่ถึงแม้จะเล็ดรอดสายตาของรัฐบาลไปได้ แต่การดำเนินธุรกิจในประเทศย่อมเสี่ยงสูงที่จะถูกปราบปราม

ประกอบรัฐบาลจีนปัดฝุ่น "เส้นทางสายไหม" หรือ นโยบาย "Belt and Road Initiative (BRI)" ที่ส่งเสริมให้ทุนจีนออกไปสรรหาพื้นที่ลงทุนในต่างแดนที่มีความรร่วมมือกับรัฐบาล ดังนั้น ทุนจีนค้ามนุษย์นี้ จึงเปลี่ยนสถานที่ตามนโยบายต่างประเทศ ไปสู่ในจุดที่ "กฎหมายจีน" เอื้อมไม่ถึง โดยเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ ASEAN

จากสถิติของ Blue Dragon ระบุว่า หลังจากยุค Covid-19 อัตราการค้ามนุษย์ใน ASEAN เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากร้อยละ 8 ในจำนวนการค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก สู่ร้อยละ 30 ส่วนการค้ามนุษย์ในจีนกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 92 สู่ร้อยละ 70

แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนสามารถไล่ปราบปราม "นอกอาณาเขต" ของตนเองได้ เพราะมีทั้งสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ และอำนาจทางการทูต แต่รัฐบาลเลือกที่จะ "ปิดตาข้างหนึ่ง" เนื่องจากการมีอยู่ของบรรกดาทุนจีนค้ามนุษย์นี้ ทำให้เกิด GDP ส่งกลับประเทศ ช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน และจูงใจให้ผู้คนในประเภทหลักพันล้านคน ออกมาแสวงหาความร่ำรวยภายนอกดินแดน ทำให้ประหยัดการดูแลประชากรไปได้พอสมควร

"สีหนุวิลล์" ทุนจีนเทา -ขบวนการค้ามนุษย์

ยากปฏิเสธว่า การเหยียบเรือสองแคมของรัฐบาลจีน ด้านหนึ่งแม้จะมุ่งปราบปราม แต่ในทางอ้อม เม็ดเงินจากกลุ่มจีนเทาได้ถูกส่งกลับเข้าประเทศจำนวนไม่น้อย และหนึ่งในกรณีศึกษานี้ คือ การเข้าไปลงทุนของกลุ่มธุรกิจจีนเทาที่ "สีหนุวิลล์ (Sihanoukville)" ประเทศ "กัมพูชา"

บทความวิจัย Chinese capital, regulatory strength and the BRI: A tale of ‘fractured development’ in Cambodia เขียนโดย ลินดา คาลาเบรส (Linda Calabrese) และ หยวน หวัง (Yuan Wang) เสนอว่า การลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment: FDI) ของจีนต่อกัมพูชา ข้อบังคับแลกเปลี่ยนที่เป็นเงื่อนไขสำคัญมีเพียงอย่างเดียว คือ "Autonomy" ในที่นี้ หมายถึง การให้ทุนจีนหรือชาวจีนมีอิสระในการดำเนินธุรกิจ แตกต่างจากการรับ FDI โลกตะวันตก ที่เงื่อนไขเยอะมาก เช่น ต้องเป็นประชาธิปไตย สร้างเสริมสิทธิมนุษยชน หรือต้องปกป้องสันติภาพของโลก

ตามหลักการ Rational Choice แล้ว รัฐบาล ฮุน เซน ที่มีลักษณะแบบอำนาจนิยม จึงเลือกให้จีนเข้ามาตั้งฐานในประเทศ โดยเฉพาะ สีหนุวิลล์ ที่แทบจะกลายเป็นมณฑลหนึ่งของลูกหลานมังกร แม้ว่าปัญหาหลายอย่างจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะ การค้ามนุษย์

จากสถิติของ United Nations Inter-Agency Project on Human Trafficking (UNIAP) พบว่า การค้ามนุษย์จากต่างประเทศในกัมพูชา เพิ่มขึ้นในอัตรากว่าร้อยละ 400 เลยทีเดียว

โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ด้าน "กามารมณ์" ยังคงครองอันดับที่ 1 ในกัมพูชา ที่สีหนุวิลล์ มีหญิงขายบริการเป็นเหยื่อมากที่สุด บทความวิจัย 'Behind closed doors': Debt-Bonded sex workers in Sihanoukville, Cambodia เขียนโดย ลาริสซา แซนดี (Larissa Sandy) เสนอว่า โสเภณีนั้นอยู่ในลักษณะ "ขัดดอก (Debt-Bonded)" หมายถึง เป็นทาสกามารมณ์ด้วยการที่ไม่มีเงินจ่ายหนี้ หรือคนในครอบครัวเป็นหนี้และส่งตนมาใช้หนี้ด้วยร่างกาย

แต่การเรียกสิ่งนี้ว่า "ค้ามนุษย์"กลับทำได้ไม่เต็มปาก เพราะสาวขัดดอกเหล่านั้น บางครั้งก็ "เต็มใจทำ" และได้รับ "ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ" จากการได้ทิปหรือเป็นที่พิศวาสของเจ้าหนี้ ส่วนใหญ่เป็นทุนจีนทั้งสิ้น จุดนี้ เป็นส่ิ่งที่ปราบปรามได้ยาก และมีปัญหาเรื่อง "การพิสูจน์ทราบเจตนา" แม้กระทั่งรัฐบาลจีนเองก็ตาม

และที่น่ากลัวกว่านั้น คือ หลังจากสีหนุวิลล์เสื่อมความนิยมจากทุนจีนลง การดำเนินธุรกิจค้ามุนษย์ของจีนก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่เร่หาเหยื่อเป็นประชาชนในพื้นที่ ก็ปรับเปลี่ยนเป็น "นำเข้าเหยื่อ" จากมาตุภุมิ โดยใช้ประเทศใน ASEAN เป็นสื่อกลาง

ซินดี้ ชู (Cindy Yik-Yi Chu) เสนอในบทความวิจัย Human Trafficking and Smuggling in China ความว่า ขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ ทำในเขต มลฑลยากจนของจีนมานาน เช่น ฟูเจี้ยน และ ยูนนาน มีทั้งรูปแบบการจัดหางานในต่างประเทส ไปจนถึงหลอกมาค้าอวัยวะภายในร่างกาย

แต่เมื่อเกิด BRI ทุกอย่างก็สะดวกขึ้น จากเดิมต้องลักลอบกระทำในแผ่นดินใหญ่ เปลี่ยนมาใช้แผ่นดิน ASEAN ในการดำเนินธุรกิจแทน เช่น ให้ชาวจีนเดินทางมายัง ASEAN หรือพำนักใน ASEAN ก่อน แล้วจึงหลอกล่อไปค้ามนุษย์ยังที่อื่น ๆ แบบนี้ เท่ากับว่า กระทำความผิดยังต่างแดน และกฎหมายและมาตรการป้องกันของประเทศใน ASEAN ไม่โหดเท่าจีน อะไร ๆ ก็เป็นเรื่องง่าย

ไม่เว้นแม้แต่ประเด็นของยาเสพติด เมื่อไม่นานมานี้ ที่ ป.ป.ส. มีการจับกุมทุนจีนนำเข้าสารตั้งต้น 7 ประเภท เพื่อนำมาผสมเป็น "เอโทมิเดท" ใช้เป็นยาเสพติดในบุหรี่ไฟฟ้าซอมบี้ โดยดำเนินการในประเทศไทยทั้งสิ้น

อ่านข่าว: จับตา "เอโทมีเดท" สารตั้งต้น ส่วนผสม "ยาเสพติดประดิษฐ์ใหม่"

มิตรภาพ ทางเลือก-ทางรอด ประเทศไทย

ไม่เฉพาะประเด็นค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติดที่เข่าข่ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ที่เกี่ยวข้องกับ "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้มีคำถามว่า ไทยในฐานะที่เป็นประเทศ ซึ่งกลุ่มทุนสีเทาใช้เป็นปลายทางในการส่งออกเหยื่อ จะวางบทบาทอย่างไร ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิก ASEAN

บทความวิจัย The Myth of Non-interference: Chinese Foreign Policy in Cambodia เขียนโดย โสวินดา พัว (Sovinda Poa) และ เคียร์ริน ซิมส์ (Kearrin Sims) เสนอว่า นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy) หมายถึง "การรุกราน (Interference)" อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ หรือ Soft Power ก็ตาม

แต่การรับรู้ (Perception) ของผู้คนในประเทศนั้น ๆ ว่าเป็นการรุกรานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า "สังคมเปิดกว้าง" มากน้อยเพียงใด

ใน ASEAN ส่วนใหญ่เป็นสังคมปิด ทำให้รู้สึกว่า การที่ทุนจีนเข้ามา เป็นเรื่องของการกลืนชาติ มากกว่าความช่วยเหลือ ไม่ว่าทุนจีนนั้นจะมาแบบขาวสะอาด หรือสีเทาไปจนถึงสีดำ นับเป็นการรุกรานทั้งสิ้น

โลกการเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องของ "Aanrchy" หรือ อยู่กันแบบหวาดระแวง แทงข้างหลังกันตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่สุด คือ การหาพรรคพวก จีน ในฐานะประเทศมหาอำนาจ ถือเป็นมิตรภาพที่ดี หากต้องการความอยู่รอด ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายต้องเลือกว่า แม้จะเป็นทุนจีนสีเทาหรือสีดำ แต่หากทำให้ประเทศสามารถยืนหยัดในเวทีโลกได้ จะเลือกตัดสินใจปล่อยให้เป็นไป หรือจะเลือกปกป้องคุณธรรม จริยธรรม มากกว่ากัน

แหล่งอ้างอิง

บทความวิจัย Human Trafficking in the People’s Republic of China
บทความวิจัย Human trafficking in China
บทความวิจัย Chinese capital, regulatory strength and the BRI: A tale of ‘fractured development’ in Cambodia
บทความวิจัย 'Behind closed doors': Debt-Bonded sex workers in Sihanoukville, Cambodia
บทความวิจัย Human Trafficking and Smuggling in China
บทความวิจัย The Myth of Non-interference: Chinese Foreign Policy in Cambodia

อ่านข่าว

“ซิงซิง” จิตใจดีขึ้น ตร.ยันเหยื่อค้ามนุษย์คาด 1-2 วันกลับจีน

"พล.ท.พงศกร" จี้รัฐเข้มชายแดนป้องค้ามนุษย์ จัดสมดุลท่องเที่ยว-ความมั่นคง

ตร.นำตัว "ซิงซิง" นักแสดงชาวจีน ถึงกรุงเทพฯ สอบขยายผลต่อทันที

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 1

  • แนนนี่
    ไทยปล่อยเรื่อยๆ ตัวเลขการท่องเที่ยวคือของปลอมแล้ว เพราะ นักท่องเที่ยวตัวจริงไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย ที่เข้ามาคือเหยื่อค้ามนุษย์
    1 วันที่แล้ว
ดูทั้งหมด