“สภา กทม.” ผ่านขอบัญญัติควบคุมการเลี้ยง “หมา-แมว” กำหนดจำนวนการเลี้ยงตามขนาดพื้นที่ ต้องฝังชิปสุนัข-แมว ทุกตัว
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติ เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. … โดย นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ เพื่อกำหนดเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ และเป็นการป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญและอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ กทม. สมควรปรับปรุงข้อบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ประกอบกับมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
การควบคุมการเลี้ยงสุนัขและแมว โดยให้ กทม.เป็นเขตห้ามเลี้ยงสุนัขและแมว เกินจำนวนที่กำหนด เช่น
- พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่า 20-80 ตารางเมตรขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว หากเกินเลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
- เนื้อที่ดินไม่เกิน 20 ตร.ว. เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
- เนื้อที่ดิน 20-50 ตร.ว. เลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว / -เนื้อที่ดิน 50-100 ตร.ว. เลี้ยงได้ไม่เกิน 4 ตัว
- เนื้อที่ดิน 100 ตร.ว.ขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว
รวมทั้งต้องมีใบรับรองการจดทะเบียน โดยเจ้าของ ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปทำเครื่องหมายระบุตัว อย่างถาวรจากสัตวแพทย์ โดยการฝัง ‘ไมโครชิป’ ตามมาตรฐานที่ กทม. กำหนด พร้อมนำใบรับรองไปแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย
นอกจากนี้ ยังกำหนดสุนัขควบคุมพิเศษ ประกอบด้วย พิทบูลเทอร์เรีย บูลเทอร์เรีย สเตฟอร์ดเชอร์บูลเทอร์เรีย รอทไวเลอร์ ฟิล่าบราซิเลียโร รวมถึงสุนัขที่มีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคน เมื่อออกนอกสถานที่เลี้ยงต้องใส่อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรง และจับสายจูงห่างจากคอสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตรตลอดเวลา
นายนภาพล เปิดเผย จะมีการใช้ข้อบังคับให้สุนัขและแมวต้องมีการฝังไมโครชิป เพื่อให้ทราบเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ซึ่งจะแก้ปัญหาสัตว์เลี้ยงสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น รวมถึงสำนักอนามัยมีหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการทำหมันสัตว์จรจัดในแต่ละพื้นที่เพื่อลดจำนวนสัตว์จรจัด และในส่วนของสุนัขที่มีความดุร้ายสร้างความเดือดร้อน หน่วยงานจะนำไปไว้ที่ศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัขของ กทม. ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตประเวศ
ส่วนกรณีที่ต้องการเลี้ยงเป็นคู่เพื่อผสมพันธุ์สัตว์ หรือประกอบธุรกิจนั้น สามารถขออนุญาตเพิ่มเติมได้ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข
ที่ประชุมสภากทม. มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติดังกล่าว และจะเสนอร่างดังกล่าวให้ ผู้ว่าฯ กทม. ลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยจะมีผลบังคับใช้วันถัดจากวัรประกาศในราชกิจจานุเบกษาไป 360 วัน
วันนี้ (3 พ.ย. 67) นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงข้อกังวลถึงจำนวนของสัตว์เลี้ยงเดิมที่เลี้ยงไว้ในบ้าน เพราะไปขัดจำนวนตามข้อบัญญัติใหม่ของ กทม. โดยนายนภาพลยืนยันว่า ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เกินกำหนดไม่ต้องกังวล ขอเพียงแจ้งยอดที่แท้จริงให้กับ กทม. หลังจากนั้นก็ให้นำสัตว์เลี้ยงทุกตัวของตัวเองมาฝังชิบและทำหมันฟรีโดยทาง กทม.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
นายนภาพลยังระบุถึงการกำหนดพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ว่า ที่มีการกำหนดพื้นที่การเลี้ยงต่อสัตว์เลี้ยงไว้ ตนเองไม่ได้เขียนโดยลอยๆ แต่เป็นการเชิญองค์กรกว่า 50 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมถึงสัตวแพทย์ โดยทั้งหมดได้ลงความเห็นที่เป็นกลางในการกำหนดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้สัตว์มีสวัดิภาพที่ดีขึ้น รวมถึงการลดปัญหาที่จะกระทบต่อส่วนรวมด้วย ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางเสียง กลิ่น เป็นต้น
ส่วนไทม์ไลน์ของข้อบังคับนี้ ในวันพรุ่งนี้ 4 พฤศจิกายน2567 ประธานสภา กทม. จะลงนาม เพื่อเสนอไปยัง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่า กทม. เพื่อลงนามและกประกาศในราชกิจจาราชนุเบกษา ซึ่งหาก ผู้ว่า กทม. ประกาศใช้แล้ว อีก 360 วัน ข้อบังคับนี้จะบังคับใช้
ติดตามเราได้ที่
ความเห็น 1
thijith
ดีค่ะ น่าจะออกเรื่องการซื้อรถด้วยนะ
2 วันที่แล้ว
ดูทั้งหมด