โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

SMEs-การเกษตร

เพาะ-ขายพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย แนวธรรมชาติใช้ปลานิลช่วยบำบัด สร้างรายได้ดี 2 เท่า

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 29 มิ.ย. 2565 เวลา 06.37 น. • เผยแพร่ 30 มิ.ย. 2565 เวลา 21.16 น.
SN 11 พนักงานช่วยกันจับลูกปลาเล็ก

การเพาะพันธุ์ปลาดุกในปัจจุบันนิยมใช้การผสมเทียม เพราะเป็นวิธีการที่ให้ผลผลิตได้ดีกว่า มีความชัดเจนมั่นใจได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการค้า ส่วนปลาดุกที่นิยมนำมาเพาะพันธุ์คือ บิ๊กอุย ซึ่งเป็นลูกผสมจากการดัดแปลงข้ามสายพันธุ์ ระหว่างแม่พันธุ์ปลาดุกอุย (ปลาดุกนา) กับพ่อพันธุ์ปลาดุกเทศ (ปลาดุกรัสเซีย) จึงทำให้ลูกปลาดุกบิ๊กอุยติดตลาดอย่างรวดเร็ว ด้วยลักษณะเฉพาะตัวที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ให้ปริมาณเนื้อสูงเหมือนพ่อ ประกอบกับคุณภาพเนื้อรสชาติดีเหมือนแม่

คุณสำเนา เกาะกาเหนือ ชาวนครนายก เจ้าของฟาร์ม “สำเนาพันธุ์ปลา” เป็นอีกคนที่ยึดอาชีพเพาะ-จำหน่ายลูกพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย จนประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ด้วยแนวคิดการลดต้นทุนจากการใช้วิธีธรรมชาติเกื้อกูลโดยนำปลานิลมาช่วยบำบัดน้ำ สามารถใช้น้ำหมุนเวียนได้อย่างปลอดภัย และประหยัด รวมถึงยังใช้วิธีควบคุมการให้อาหารลูกปลาอย่างพอดี สร้างความสมดุล ลดการเน่าเสียของน้ำ ไม่สร้างปัญหาต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมคุณสำเนา เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครนายก มีบ้านอยู่เลขที่ 250 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ภายหลังเรียนจบชายผู้นี้มุ่งหน้าทำงานในตำแหน่งโฟร์แมนช่างซ่อมบำรุง ของโรงงานถลุงเหล็กแห่งหนึ่ง จนเมื่อเข้ายุคฟองสบู่แตก ในราวปี 2540 การเป็นมนุษย์เงินเดือนของเขาเริ่มส่งสัญญาณไม่มั่นคง ทำให้คิดว่าเพื่อความปลอดภัยของครอบครัว จึงควรจะหาอาชีพที่สองรองรับไว้ดีกว่า

มือใหม่เลี้ยงลูกปลาดุกขาย รายได้สุทธิ หลายหมื่นต่อเดือน

ในระหว่างที่ยังคงทำงานเป็นพนักงานอยู่ คุณสำเนา เกิดแรงจูงใจที่ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนที่อยู่ในวงการเลี้ยงปลาให้ลองเพาะ-ขายลูกปลาดุกบิ๊กอุย เพราะจากข้อมูลก่อนการตัดสินใจทดลองเลี้ยง คุณสำเนา ทราบว่ารายได้จากการเลี้ยงลูกปลาดุกในช่วงเวลา 30 วัน หากมีการดูแลอย่างดี จะมีกำไรสุทธิตกบ่อละหลายหมื่นบาท ซึ่งดีกว่าเงินเดือนที่เป็นพนักงานที่ได้รับเพียงเดือนละหมื่นกว่าบาทเท่านั้น

เมื่อได้รับคำแนะนำจากเพื่อนแล้วจึงมุ่งหาแหล่งความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร ตำรา สอบถามจากผู้รู้ จากนั้นจึงเริ่มลงมือทดลองเลี้ยงในบ่อดิน จำนวน 2 บ่อ มีขนาดพื้นที่ บ่อละ 2 ไร่ ซึ่งเป็นขนาดที่ได้มาตรฐาน โดยซื้อลูกพันธุ์ปลาขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าปลาตุ้มที่มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มาใส่ในบ่อเลี้ยง จำนวนบ่อละ 1 ล้านตัว ใช้เงินซื้อมาบ่อละ 3 หมื่นกว่าบาท เลี้ยงไปได้ประมาณ 30-35 วัน จะได้ลูกปลาโตที่มีขนาด ประมาณ 5-7 เซนติเมตร นำมาคัดแยกขนาดก่อนที่จะจับเพื่อส่งขายให้ลูกค้าหรือเกษตรกรนำไปเลี้ยงให้โต โดยมีราคาขายเฉลี่ยตัวละ 40 สตางค์

เปอร์เซ็นต์รอดของการนำลูกพันธุ์ปลาที่มีขนาดตุ้มมาเลี้ยง อาจมีผลกับการขึ้น-ลง ของรายได้ เมื่อผ่านการเลี้ยงเป็นลูกปลาขนาดเล็ก คุณสำเนา ชี้ว่าถ้ามีอัตรารอดได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าตัวเลขขนาดนี้สามารถมองเห็นกำไรในเบื้องต้น แต่ถ้าอัตรารอดสัก 30 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ขาดทุนแต่กำไรลดน้อย

ดังนั้น อัตรารอดมากหรือน้อยจะเกิดจากความเอาใจใส่เต็มที่ ดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งเรื่องน้ำ/อาหาร อย่างไรก็ตาม คุณสำเนาสามารถเลี้ยงลูกพันธุ์ปลาตุ้มให้มีอัตรารอดได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เขามีกำไรตุนไว้แน่นอนแล้ว

เลี้ยงขาย กำไรน้อย เน้นผสมเทียมแล้วเพาะ สร้างรายได้มากกว่า

ภายหลังเมื่อประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงลูกปลา คุณสำเนา มองดูลู่ทางความเป็นไปได้ว่า คงไม่เกิดความเสี่ยงหากจะยึดอาชีพนี้อย่างจริงจัง ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจลาออกจากบริษัททันที เพื่อกระโดดเข้ามาเลี้ยงลูกปลาบิ๊กอุยขายอย่างเต็มตัว

คุณสำเนา ใช้เวลาในการสร้างความคุ้นเคยกับอาชีพใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เขามองว่าหากสามารถผสมพันธุ์ปลาแล้วนำเชื้อมาผสมเพื่อการเพาะฟักได้เอง น่าจะช่วยลดต้นทุนได้อีก จากนั้นจึงได้เสาะหาความรู้จากตำราเอกสาร แล้วทดลองทำจนประสบความสำเร็จ

เจ้าของฟาร์มเผยว่า พ่อ-แม่พันธุ์ ที่นำมาผสมกันจะต้องผ่านการคัดเลือกเพื่อหาความสมบูรณ์ ขณะเดียวกันขั้นตอนการผสมเทียมต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันการเกิดลูกที่บกพร่อง เพราะทำให้เสียราคา อย่างพ่อพันธุ์ต้องสังเกตความเด่นในระหว่างการเจริญเติบโตที่มีการพัฒนาการอย่างรวดเร็ว โดยจะเลือกขนาดที่ใหญ่ที่สุดในแต่ละชุด ส่วนแม่พันธุ์จะใช้วิธีเดียวกันในการเลือก แต่อาจต้องดูไม่ให้อ้วนจาก ไขมันมากเกินไป แล้วคัดแยกพ่อ-แม่พันธุ์ อีกครั้งเพื่อหาตัวที่มีความสมบูรณ์ที่สุด

โดยธรรมชาติของลูกปลาทุกชนิดมักมีความอ่อนแอ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค เนื่องจากยังไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ลูกปลาดุกก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น การเลี้ยงลูกปลาดุกเพื่อให้มีอัตรารอดสูง คุณสำเนาชี้ว่าเกิดจากตัวแปรสำคัญคือเชื้อโรคในน้ำกับคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยง

คุณสำเนา เผยถึงวิธีฆ่าเชื้อโรคในน้ำว่า ควรใส่ยาป้องกันไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อม แล้วควรเลือกใช้ชนิดยาที่ไม่เป็นอันตรายต่อปลาและผู้บริโภค อีกทั้งยังควรเป็นยาที่มีการควบคุมการใช้ด้วย สำหรับคุณสำเนาเลือกใช้ด่างทับทิม

บำบัดน้ำด้วยปลานิล

แนวคิดการพัฒนาคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงปลาเกิดขึ้นภายหลังจากที่คุณสำเนามองว่าเมื่อขยายขนาดธุรกิจ มีการใช้น้ำเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันน้ำที่ใช้แล้วหลังจากปล่อยทิ้งอาจสร้างปัญหาต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม จึงคิดว่าควรทำอย่างไรกับน้ำเหล่านี้

ทั้งนี้อาจเป็นความบังเอิญเมื่อคุณสำเนานำปลานิลมาเลี้ยงไว้เป็นอาหารในบ่ออนุบาล ปรากฏว่าสังเกตน้ำที่เคยมีสีเขียวถูกปลานิลกินหมด จนทำให้กลายเป็นน้ำใส จนเกิดความคิดว่าน่าจะใช้ประโยชน์จากปลานิลในการบำบัดน้ำ ขณะเดียวกันปลานิลที่เลี้ยงยังสามารถจับมาเป็นอาหาร แล้วขายนำเงินมาเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายได้อีก ถือเป็นการแบ่งเบาภาระได้อย่างคุ้มค่า

แนวคิดนี้จึงถูกนำมาใช้ในปี 2554 ด้วยการจัดวางระบบบำบัดน้ำ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนถ่ายเทภายในฟาร์มเลี้ยงปลาเมื่อน้ำในบ่อเลี้ยงเริ่มเสื่อมคุณภาพ มีแพลงตอนพืชเพิ่มขึ้น จะถ่ายเทน้ำลงร่องส่งน้ำที่ขุดไว้รอบบ่อเลี้ยงทุกบ่อ น้ำเสียทั้งหมดจะไหลลงไปรวมที่บ่อน้ำที่มีปลานิลเลี้ยงไว้

ดังนั้น ปลานิลจำนวนมากจะช่วยกันกินแพลงตอนพืชที่มีสีเขียวให้หมดแล้วกลายเป็นน้ำใส จากนั้นจึงปล่อยน้ำกลับลงสู่บ่อพักอีกแห่ง ซึ่งเป็นชั้นดินเปรี้ยวที่จะช่วยบำบัดจนน้ำตกตะกอนกลับมาใสสะอาด (คล้ายกับการแกว่งสารส้มเพื่อให้น้ำใส) และปราศจากเชื้อโรค เพื่อส่งกลับหมุนเวียนใช้เลี้ยงปลาได้อีก ฉะนั้น แนวทางนี้ถือเป็นวิธีการทางชีวบำบัด เป็นการช่วยลดต้นทุนการใช้น้ำได้อย่างดี ตลอดจนยังไม่สร้างปัญหาต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย

ภายในพื้นที่ของสำเนาพันธุ์ปลามีทั้งหมด จำนวน 80 ไร่ แบ่งเป็นบ่อพ่อ-แม่พันธุ์ และบ่ออนุบาลกระจายอยู่ทั่ว สำหรับบ่อเลี้ยงจะใช้เป็นบ่อดิน ด้วยเหตุผลเพราะสะดวกและง่ายต่อการบริหารจัดการ อีกทั้งยังลดต้นทุนได้มาก เพียงแต่อาจต้องขยันทำความสะอาดเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับบ่อซีเมนต์หรือพลาสติกแล้ว จะลงทุนต่ำมาก ดังนั้นเกษตรกรที่มีทุนน้อยหรือเพิ่งเริ่มต้นควรเลี้ยงในบ่อดินดีกว่า

จุดเด่นอีกอย่างในเรื่องการลดต้นทุนของฟาร์มปลาแห่งนี้คือ การให้อาหาร คุณสำเนาบอกว่า ฟาร์มจะฝึกให้อาหารปลาตั้งแต่รุ่นลูกด้วยการใช้อุปกรณ์เคาะเรียกบริเวณริมข้างบ่อ วิธีนี้ช่วยทำให้ปลารู้เวลาอาหาร แล้วจะมารวมตัวกินอาหารที่จุดเดียว เป็นวิธีการให้อาหารที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น และสามารถกำหนดปริมาณอาหารให้ได้อย่างพอเหมาะ ไม่เหลือเศษอาหารตกค้างในบ่อ เป็นผลดีต่อคุณภาพน้ำ ลดโอกาสเน่าเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนลดความสิ้นเปลืองต้นทุนค่าอาหาร

ฤดูกาลสร้างผลกระทบ ต่อการเลี้ยงปลาหรือไม่

คุณสำเนา บอกว่า แต่ละฤดูในรอบปีล้วนมี ข้อดี-เสีย แตกต่างกันไป อย่างฤดูฝนถือว่าสร้างปัญหาต่อการเลี้ยงปลาดุกมากที่สุด เนื่องจากน้ำฝนที่ตกลงมาอาจนำพาสารพิษในอากาศลงมาในบ่อแล้วสร้างปัญหาต่อปลา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำ พร้อมกับต้องหว่านเกลือลงในบ่อก่อนที่จะมีฝนตก ทั้งนี้เกลือจะช่วยป้องกันค่าความเป็นด่างของน้ำฝน อีกทั้งยังช่วยให้ปลาไม่เครียด

สำหรับฤดูหนาว โดยธรรมชาติปลาไม่มีไข่ในช่วงนี้ ดังนั้น จึงไม่มีการเพาะลูกปลา ทั้งนี้อุณหภูมิในน้ำที่ลดต่ำมีผลทำให้ปลาช็อกตายเป็นประจำ

ส่วนฤดูร้อน ถือว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับการเลี้ยงปลา โดยเฉพาะการฟักลูกปลา เพราะปลามักเกิดไข่ในช่วงหน้าร้อนเพื่อใช้ผสมพันธุ์ ทั้งนี้ อุณหภูมิที่สูงจะไม่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของปลา เพราะถ้าน้ำในบ่อร้อนก็อาจใช้วิธีนำน้ำมาเติมลงบ่อเพื่อช่วยคลายร้อน

ในปัจจุบันธุรกิจเลี้ยงลูกปลาดุกบิ๊กอุยของคุณสำเนามีทั้งเพาะลูกปลาตุ้ม แล้วให้เกษตรกรในเครือข่าย จำนวน 40 ราย และเป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นำไปเลี้ยงเป็นลูกปลาโต จากนั้นจึงรับซื้อคืน โดยใช้ระบบการประกันราคารับซื้อ แต่ละเดือนฟาร์มแห่งนี้สามารถผลิตลูกปลาตุ้ม จำนวน 60-80 ล้านตัว

อีกทั้งยังขยายพื้นที่สร้างเป็นโรงเพาะฟักเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 36 อ่าง ในพื้นที่ 9 ไร่ เพื่อรองรับความต้องการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยของชาวบ้านในพื้นที่และต่างพื้นที่ ซึ่งเขาบอกว่าหากชาวบ้านนำไป แล้วสามารถเลี้ยงได้ในอัตรารอดสัก 40 เปอร์เซ็นต์ คือใน 1 ล้านตัว ถ้ารอดสัก 4 แสนตัว เท่านี้ก็มีรายได้คุ้มแล้ว

คุณสำเนา ถือเป็นบุคคลที่ทุ่มเท ให้ความใส่ใจกับการเพาะ-เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มีแนวคิดพัฒนาการเลี้ยงให้มีความสอดคล้องกับลักษณะความเป็นธรรมชาติของท้องถิ่น ตลอดจนเสาะหาวิธีเลี้ยงและอุปกรณ์เครื่องมือแบบง่ายๆ เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว ด้วยการลงทุนต่ำ

แล้วยังเป็นคนที่มีความเอื้ออารีย์ให้ความช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรร่วมอาชีพด้วยการแนะนำ อบรมให้ความรู้ ด้วยความเต็มใจ พร้อมกับชักชวนเกษตรกรมาสร้างความเข้มแข็งด้วยการจัดตั้งเป็นกลุ่ม ในชื่อ “กลุ่มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตำบลท่าเรือ” ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่คุณสำเนาได้รับคัดเลือกเพื่อให้ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เมื่อปี 2558

สอบถามรายละเอียด สั่งซื้อลูกปลาดุกบิ๊กอุยคุณภาพได้ที่ สำเนาพันธุ์ปลา โทรศัพท์ 086-849-2584

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น