หลายสิ่งบนโลกที่รอวันพิสูจน์ให้เห็นคุณค่า เช่นเดียวกับต้นไม้ที่รอวันเติบโตออกดอกออกผลงดงาม
เมื่อกล่าวถึง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท ซึ่งมีที่ตั้ง ณ ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร นอกจากความร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์เขียวขจีที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "หน้าบ้านหน้ามอง" ของกรุงเทพมหานครแล้ว ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะของ "ว่าที่นักวิทยาศาสตร์" ซึ่งเป็นนักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญา - หลังปริญญาที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ในโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ที่หลายคนอาจยังมองไม่เห็นคุณค่า แต่ในเวลาต่อมาจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เสมอ
ไม่ว่าจะเป็นในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่เมื่อก่อนหลายคนอาจยังไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าจะต้องศึกษาดูปริมาณออกซิเจนในเลือดไปเพื่ออะไร แต่พอเมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นทั่วโลกจนต้องมีการกักโรค และเฝ้าระวังกันอย่างจริงจัง ความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานดังกล่าวจึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน โดยปริมาณออกซิเจนในเลือดที่ลดลง จะหมายถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสชนิดดังกล่าวไปด้วย
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพของสังคม และเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรค่าต่อการลงทุนของประเทศ จึงได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะฯ ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมคุณภาพ เพื่อร่วมแสดงในนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ (Science Project Exhibition) หรืองาน "SciEx" ประจำปีอย่างต่อเนื่องตลอดมา
โดยในปีนี้จัดเป็นปีที่ 23 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จึงได้ขยายขอบเขตสู่การเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัดสู่รูปแบบออนไลน์ ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีส่วนทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น จากตัวเลขผู้ลงทะเบียนที่เพิ่มขึ้นจากหลักร้อยสู่หลักพันราย
มาในปี 2565 นี้ เราได้รับเกียรติจาก สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานและพิจารณารางวัล
นอกจากการแสดงผลงานโปสเตอร์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อแข่งขันชิงรางวัลแล้ว ไฮไลท์อยู่ที่การบรรยายพิเศษ หัวข้อ "Can AI really see now? วิทยากรโดย ดร.ศุภศรณ์ สุวจนกรณ์ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งจะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโลกยุคปัจจุบัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยวิทยาการสมัยใหม่ดังกล่าวสำหรับเยาวชน
ร่วมด้วย 8 "Plenary Talks" โดยตัวแทนนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ตัวอย่างโครงงานที่จะได้มีการนำเสนอในงานนิทรรศการออนไลน์ "SciEx 2022" ได้แก่ "Machine learning ในการคาดการณ์ตัวแปรทางภูมิศาสตร์" "การวิเคราะห์ลมหายใจเพื่อประเมินด้านสุขภาพ" "การห่อหุ้มสารสกัดจากรกหมูด้วยอนุภาคนาโน" และ "การจำแนกความชอบดนตรีด้วยกิจกรรมอิเล็กโทรด" เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังจะได้มีการเล่าเรื่องราวโครงงานวิทยาศาสตร์ภายใน 3 นาที จำนวน 24 เรื่อง ซึ่งเราเรียกว่า "Short Talks" รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ในศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ ร่วมกับรุ่นพี่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี เชื่อมั่นว่า ด้วยความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ และการนำความรู้วิทยาศาสตร์ไปใช้ได้อย่างเหมาะสม จะสามารถนำพาประชาชนในชาติสู่การมีความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัย และในที่สุดจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมไทย และมวลมนุษยชาติต่อไปได้
สำหรับปีต่อไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งใจจะขยายโอกาสในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์สู่น้องๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นช่วงสำคัญในการเรียนรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีรากฐานที่มั่นคง และได้ตามรอยทางแห่งความสำเร็จของนักศึกษารุ่นพี่ สำหรับน้องๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความสนใจจะศึกษาต่อ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แห่งนี้ต่อไปอีกด้วย
รวมถึงการขยับงานนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์นี้ให้ขึ้นไปสู่ระดับชาติ โดยจะเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษาจากต่างสถาบันในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของประเทศในอนาคต
นิทรรศการออนไลน์ "SciEx 2022" กำหนดจัดในวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2565 เปิดให้ลงทะเบียนแล้วโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันนี้ - 20 พฤษภาคม 2565 ทาง https://science.mahidol.ac.th/sciex2022
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO
ความเห็น 0