กลายเป็นคลิปที่แชร์ว่อนโลกออนไลน์ในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่เด็กชายคนหนึ่งกำลังนั่งเล่น “เกมออนไลน์” พร้อมกับไลฟ์สด จู่ ๆ น้องก็ของขึ้น ตะโกนด่าทอคนในเกมอย่างหัวเสีย เท่านั้นไม่พอ ยังกระหน่ำทุบ ทุบ ทุบ หน้าจอคอมฯ และคีย์บอร์ดไม่ยั้ง…
เพียงเพราะเล่นเกมแพ้แล้วถูกฝ่ายตรงข้ามยึดเอาไอเท็มไป (สันนิษฐานว่าส่วนหนึ่ง ฝ่ายตรงข้ามอาจจะมีการกลั่นแกล้ง ใช้คำพูดเยาะเย้ย ป่วนจนน้องคุมสติไว้ไม่อยู่)
ร้อนถึงอาม่าของน้องที่ปรี่เข้ามาห้ามปรามด้วยความหวังดี “อย่าทำอย่างนี้สิ มันไม่ดี เดี๋ยวของเราเสีย”
อย่างไม่เป็นผล ความเดือดดาลของน้องกลับยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น อารมณ์ชั่ววูบนั้นเอง น้องพลั้งปากสบถข่มขู่จะทำร้ายอาม่า ซ้ำร้าย เหตุการณ์มาประทุสุด ๆ เมื่อน้องเห็นสภาพหูฟังของตนที่ถูกแม่ปาทิ้งจนพังยับ ด้วยบันดาลโทสะจึงถือมีดอีโต้วิ่งไปจะทำร้ายแม่…
หลังคลื่นแห่งความพิโรธสงบลง น้องได้ทำคลิปขอโทษแม่ โดยเข้าไปกราบเท้าขอขมาที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม หากตามข่าวต่ออีกนิดก็จะทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่าน้อง “ติดเกม” กอปรกับป่วยเป็น “โรคสมาธิสั้น” ทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ ต้องทานยาอยู่เป็นประจำ
เหตุการณ์นี้ ทำให้ “เกม” ตกเป็นจำเลยสังคมอีกครั้ง เด็กคนไหนที่ข้องแวะกับเกม ภาพลักษณ์จะดรอปลงทันที โดยเฉพาะในสายตาผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่มองเกมค่อนไปในเชิงลบ
“เกมอาจเป็นตัวร้ายทำลายอนาคตลูกหลาน เป็นบ่อเกิดแห่งความก้าวร้าว เลียนแบบ และทำให้เด็กเสียการเรียน”
เกมมันเลวร้ายขนาดนั้นเชียวหรือ…
“เกม” คือ “วายร้าย”?
เจอกับตัวเองเลยค่ะ สมัยผู้เขียนยังเป็นนักศึกษา ตอนนั้นอยู่บ้านวันหยุด เปิดแลปท็อปนั่งหาข้อมูลทำรายงานส่งอาจารย์ แต่ผู้ปกครองกลับบอกว่า “งานการไม่ทำ เอาแต่เล่นคอมฯ ทั้งวัน”
ทัศนคติของผู้ใหญ่สูงวัยบางคนจึงเท่ากับสมการที่ว่า ใช้คอมฯ = เล่นเกม = เรื่องไร้สาระ
อารมณ์ตอนนั้นคือน้อยใจสารพัด ครั้นพออธิบายว่านี่ทำงานนะ ไม่ได้เล่นเกม ก็โดนหาว่าเถียง -- ฮืออออ ความรู้สึกเหมือนกำลังรับบทอีเย็น เป็นคุณกบ-สุวนันท์ คงยิ่ง ในละครนางทาส
จากชุดความคิดข้างต้น จึงพออนุมานได้ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเด็กติดเกม ส่วนหนึ่งมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เกิดจาก "ช่องว่างระหว่างวัย" (Generation Gap) การสื่อสารระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจกัน บางครั้ง ผู้ใหญ่พร้อมที่จะพูดสิ่งที่ตนเองคิด แต่น้อยนักที่จะรับฟัง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีแนวโน้มที่จะ "เลือกรับฟัง" ฟังเฉพาะในสิ่งที่ผู้ใหญ่อยากฟัง
จะให้ดี ผู้ใหญ่ควรจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน อันที่จริง ลองเปิดใจมาเล่นเกมกับเด็กดูบ้างก็ได้ จะได้รู้ว่าเกมนั้นเป็นอย่างไร หากเกมไหนมีความรุนแรงผู้ปกครองจะได้สอนหรือให้คำแนะนำได้ถูกวิธี ในทางกลับกัน เมื่อผู้ใหญ่เข้าใจเด็ก เด็กก็ต้องฝึกเข้าใจผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน พ่อแม่อยากให้ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ ก็ทำให้เสร็จก่อน แล้วค่อยไปเล่นเกม
บางทีเราก็เผลอให้เกมเป็น "แพะ" แล้วซุกปัญหาครอบครัวไว้ใต้พรม
พฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมเลียนแบบที่อาจมาพร้อมกับ “เกม”?
สมัยยังเด็ก ผู้เขียนชอบเล่นเกมแนวแอ็คชั่นอย่าง "สตรีทไฟท์เตอร์" (Street Fighter) มาก เรียกว่าเล่นทุกวันหลังกลับจากโรงเรียน ตัวละครโปรดที่ชอบเล่นคือ “ชุนลี” สาวสวยจอมบู๊จากเมืองจีน ซึ่งธรรมดาของเกมต่อสู้ก็จะมีความรุนแรงประมาณนึง ทั้งต่อย เตะ ปล่อยพลังใส่ให้ตายกันไปข้าง ทว่าผู้เขียนก็เติบโตมาได้โดยไม่เคยคิดอยากจะฉีกขาแล้วเอาเท้าไปถีบหน้าใครรัว ๆ ด้วยท่าสปินนิงเบิร์ดคิกอย่างแม่นางชุนลีสักครั้ง
พีคสุดก็แค่แอบแม่นั่งรถเมล์ไปซื้อกี่เพ้าที่เยาวราช เพียงเพราะอยากสวย หมวย เฟียร์ซ เหมือนชุนลี
เราเลือกเลียนแบบเฉพาะในสิ่งที่อยู่ในกรอบทำนองคลองธรรมได้ไหม? เราแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ไหมล่ะ?
ลูกเล่นเกมแพ้ แพ้แล้วหัวเสีย ก้าวร้าว พฤติกรรมเหล่านี้ไม่อยากโทษว่าเป็นความผิดของพ่อแม่ แต่อาจต้องตั้งคำถามกลับไปว่าพ่อแม่เคยสอนให้ลูกรู้จัก “แพ้ให้เป็น” ไหม? จริงอยู่ การจะให้คนเรายินดีกับความพ่ายแพ้นั้นเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ แต่ผู้ปกครองควรต้องสอนลูกสิว่าความพ่ายแพ้นั้นไม่ใช่จุดจบของชีวิต ต้องสอนลูกสิว่าความพ่ายแพ้อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้มองเห็นอะไรใหม่ ๆ ในตัวเรา
ครอบครัวควรเป็นด่านแรกในการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้แก่เด็ก เพื่อออกไปรับมือกับเรื่องน่าผิดหวังข้างนอกอีกมากมายที่เขาต้องเจอะเจอในอนาคต
แบบไหนเรียกว่า “อาการสาหัส” ถึงขั้น “ติดเกม”?
เด็กติดเกมที่มีปัญหาจริง ๆ นั้น จะมี “อาการป่วย” รวมอยู่ด้วย! องค์การอนามัยโลก ได้ให้นิยามอาการติดเกมไว้ว่า "เป็นรูปแบบพฤติกรรมเล่นเกมที่ขาดการควบคุม ให้ความสำคัญกับเกมมากกว่ากิจกรรมอื่น จนถึงขั้นเลือกเล่นเกมก่อนสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ หรือกิจวัตรประจำวัน และยังคงเล่นต่อเนื่องหรือมากขึ้นแม้จะมีผลเสียตามมา"
ทั้งนี้ ยังระบุอีกว่า พฤติกรรมติดเกมที่ถือว่าเป็นอาการป่วย จะต้องมีรูปแบบพฤติกรรมที่รุนแรงมากพอ ส่งผลให้เกิดความบกพร่องด้านบุคลิกภาพ ครอบครัว สังคม การศึกษา การทำงาน รวมถึงประสิทธิภาพที่สำคัญด้านอื่น ๆ และต้องปรากฏอาการให้เห็นชัดอย่างน้อย 12 เดือน!
สิ่งสำคัญ พ่อแม่-ผู้ปกครองต้องแยกให้ออกว่าเด็ก "ติดเกม" หรือแค่ "เล่นเกม" เพราะเด็กจะไม่ชอบคำว่า "ติดเกม" หากเขายังเรียนหนังสือ เพื่อน ๆ ก็เล่นเกมทุกคน เด็กจะรู้สึกน้อยใจ ไม่เข้าใจว่าเขาเลวร้ายขนาดนั้นเลยหรือ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง
อ้างอิง:
ความเห็น 79
แมว
BEST
เริ่มจาก พ่อแม่ ที่ไม่มีเวลาหรือ ขี้เกียจดูแลลูกที่กำลังซน ก็หาวิธีง่ายๆที่จะให้เด็กอยู่นิ่งๆ ยื่นมือถือเปิดเกมส์ ให้ ง่ายดี พ่อแม่มีเวลาทำอย่างอื่น ซึ่งก็น่าเห็นใจ แต่ใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้ เมื่อมีลูกต้องแบ่งเวลาให้ลูก สั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี มันคือหน้าที่ของพ่อแม่นะ อย่าไปโยนหรือคาดหวังผูอื่นเช่น โรงเรียน รัฐบาล ซึ่งให้ได้ระดับนึงเท่านั้น ผลลัพธ์มันจึงเป็นแบบในคลิป
24 ต.ค. 2562 เวลา 02.26 น.
JUNG
BEST
ไร้สาระ เล่นเกมส์มาตลอดชีวิต ตอนนี้ก็ไม่เคยแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกับใคร มีงานมีเงินเดือนที่ดี มันอยุ่ที่คนคิดเป็นรึเปล่า เล่นเกมส์ได้ไรตั้งหลายอย่าง
24 ต.ค. 2562 เวลา 01.01 น.
THUP
ผมเล่นเกมส์มาตั้งแต่เด็กเลยครับแล้วก็ทุกวันนี้ก็เล่น ไม่มีอารมณ์ก้าวร้าวใดใดมีแต่เมียบ่นครับเล่นนานเกินไป ตอนเด็กก็แม่บ่นไม่รู้ว่าแบบนี้เป็นปัญหาไหม เกี่ยวกับคนบางคนมากกว่านะ แบบ1ในล้านอะไรแบบนี้ คนที่คิดได้เขาก็ไม่ทำกัน
24 ต.ค. 2562 เวลา 01.38 น.
Nisit
ถ้าติดเกมหนักๆมีส่วน มันทำให้ควบคุมอารมย์ไม่ค่อยได้สำหรับบางคน แต่จะไปโทษเกมไม่ได้ หรือคนเล่นอย่างเดี๋ยวก็ไม่ได้ บางคนเจอสภาพชีวิตภายนอกที่โหดร้าย อยากเล่นเกมให้ลืมโลกความเป็นจริงที่มีแต่ปัญหา แต่พอเล่นมากๆเข้ามันก็ทำให้ ไม่แคร์โลกความจริงไดิ
24 ต.ค. 2562 เวลา 01.11 น.
ต้องจัดสรรเวลาให้เด็ก เอาใจใส่ให้เวลากับเด็ก หากิจกรรมอื่นเช่นกีฬาให้เด็กได้ออกกำลังกาย และอีกหลายๆวิธี แต่ที่สำคัญครอบครัวท่านจะต้องเอาใจใส่แหละทุกๆอย่างที่พูดไปคงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าครอบครัวแตกแยก เกิดปมด้อยกับเด็กขาดคนดูแล ก่อให้เกิดปัญหากับเด็กเมื่อเติบโตขึ้นในอนาคต
24 ต.ค. 2562 เวลา 01.31 น.
ดูทั้งหมด