โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ท้องถิ่น ผู้นำประวัติศาสตร์ชุมชน อำคา แสงงาม - กุสุมา สุ่มมาตร์

LINE TODAY SHOWCASE

เผยแพร่ 08 เม.ย. 2565 เวลา 02.57 น. • กุสุมา สุ่มมาตร์

ท้องถิ่น ผู้นำประวัติศาสตร์ชุมชน อำคา แสงงาม

“มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น” เป็นแนวคิดทำงานของอำคา แสงงาม ประธานสภาวัฒนธรรม ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด แนวคิดนี้เป็นกรอบดำเนินงานประวัติศาสตร์กระแสรอง ซึ่งหมายถึง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต ประเพณี ฮีตคองของผู้คนในท้องถิ่น นามว่า “กู่กาสิงห์ ศูนย์กลางอารยธรรมทุ่งกุลาร้องไห้” โดยมีวัฒนธรรมข้าวเป็นพื้นที่แก่นแกนร้อยเรียงวิถีอารยธรรมผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน

จากการคิดนอกกรอบ มองทะลุประวัคิศาสตร์กระแสหลักอันประกอบด้วยสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นชุดความรู้ที่เป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักบรรจุในแบบเรียนของไทย อำคา มีแว่นท้องถิ่นส่องทาง ประวัติศาสตร์อารยธรรมทุ่งกุลาร้องไห้กำกับทิศการดำเนินงาน และนำเสนอในขั้นเริ่มต้น “หลักสูตรท้องถิ่น” จัดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา 3 - 6 ณ โรงเรียนบ้านกู่กาสิงห์ เมื่อปี พ.ศ.2540 และนำยุวชนกู่กาสิงห์ที่กำลังศึกษาชั้นป.3 - 6 ทัศนศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอำคาเป็นครูประจำการโรงเรียน และผู้รับผิดชอบหลักสูตรท้องถิ่นดังกล่าว

องค์ความรู้ที่ได้การทัศนศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย คือ มัคคุเทศก์ที่กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาให้ความรู้ปราสาทหินพิมายให้นักท่องเที่ยว จากนั้นอำคาก็ปั้นมัคคุเทศก์น้อย ยุวชนกู่กาสิงห์ ป.3-6 บ่มเพาะชุดความรู้ประวัติศาสตร์กู่กาสิงห์ ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณสถานควบคู่ไปกับชุดความรู้“กู่กาสิงห์ ศูนย์กลางอารยธรรมทุ่งกุลาร้องไห้” 

จากการเคี่ยวกรำ ฝึกฝนต่อเนื่องผู้นำเที่ยวรุ่นเยาว์ต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 – 2545 ซึ่งเทศบาลตำบลกู่กาสิงห์สนับสนุนงบประมาณพัฒนายุวชนผู้นำเที่ยว โอกาสทองแสดงฝีมือก็มาถึง “งานกินข้างทุ่ง นุ่งผ้าไทย” ครั้งที่ 1 17 พฤศจิกายน 2545 ก็เกิดขึ้น ท่ามกลางสายลมหนาว แดดร้อนแรงแผดแสงทอนสายลมหนาวให้เจือจาง ยุวชนผู้นำเที่ยวแสดงไหวพริบปฏิภาณกล่าวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สรอรรถ กลิ่นประทุม “เชิญรัฐมนตรีเข้าร่ม ส่วนมัคคุเทศก์ยืนแดดได้ค่ะ” 

ประโยคของยุวชนผู้นำเที่ยวดังกล่าวสร้างความพอใจให้รัฐมนตรีสรอรรถยิ่งนัก นาทีนั้นอำคาอิ่มเอมใจในฐานะคนเบื้องหลังสร้างยุวชนกู่กาสิงห์ มีแรงมุ่งมั่นพัฒนายุวชนให้มีความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นควบคู่ไปกับอารยธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ และในปีพ.ศ.2546 ยุวชนผู้นำเที่ยวกู่กาสิงห์ได้บันทึกเทปรายการทุ่งแสงตะวัน

ความสำเร็จจากการออกรายการโทรทัศน์ไม่ได้ทำอำคา “แช่แข็งความรู้” แต่เขาสานต่อความสำเร็จด้วยการค้นคว้า พัฒนาความรู้ด้วยรูปแบบงานวิจัย โดยเสนอวิจัยเรื่อง “การจัดกิจกรรมและการจัดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับศักยภาพชุมชนกู่กาสิงห์ จ.ร้อยเอ็ด” ต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปีพ.ศ.2546-2547 ซึ่งสกว.อนุมัติงบประมาณงานวิจัย และทำให้กู่กาสิงห์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมสร้างแบรนด์ให้มีอัตลักษณ์อีกด้วย

กล่าวได้ว่าอำคาทำงานวิจัยควบคู่กับการผลิตยุวชนผู้นำเที่ยวกู่กาสิงห์ โดยงานวิจัยทำให้เขาหาหลักคิด ทฤษฎีมาใช้เป็นกรอบการสร้างชุดความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นำเสนอในรูปแบบการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวจากภายใน ภายนอกชุมชนกู่กาสิงห์เข้ามาแวะเวียนเที่ยวชมกู่กาสิงห์ไม่ขาดสาย ยุวชนกู่กาสิงห์ก็ได้ฝึกฝนแสดงฝีมือนำเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ สานสายใยความรักความผูกผันระหว่างยุวชนกู่กาสิงห์รุ่นพี่ รุ่นน้อง สร้างฐานคิดสำนักรักท้องถิ่น พร้อมทั้งจรรโลงประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดำรงสืบต่อไป เช่น ประเพณีสรงกู่ 

  ประเพณีสรงกู่จัดขึ้นในวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 5 ของทุกปี โดยยุวชนกู่กาสิงห์เข้าร่วมสรงกู่ 3 กู่ ได้แก่ กู่กาสิงห์ กู่โพนวิท และกู่โพนระฆัง ทำให้ยุวชนกู่กาสิงห์มีประสบการณ์ตรงฐานะผู้ร่วมพิธีกรรมร่วมกับชุมชนชาวกู่โพนวิท ชุมชนชาวกู่โพนระฆัง และทำความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยอำคาเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารดังกล่าว และให้ความรู้ยุวชนกู่กาสิงห์ว่าเป็นการศึกษานอกสถานที่เสริมความรู้หลักสูตรท้องถิ่นมิติสัมพันธ์กับชุมชนอื่น

สืบเนื่องมายังปี พ.ศ.2560 ช่วงสุดท้ายใกล้อำลาชีวิตข้าราชการครู อำคายังคงทักทอ ต่อยอดพัฒนางานวิจัยประวัติศาสตร์กระแสรองและเสนอขอทุนสกว.เรื่อง “การสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววิถีชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด” โดยมี 22 กิจกรรม เช่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมีชีวิต “พิพิธภัณฑ์มรดกภูมิปัญญาชาวนากู่กาสิงห์” เทศกาลกินข้าว กินปลา แซบนัวอาหารวิถีคนทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น

ผลงานอำคา แสงงาม เป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่ง มีรางวัลการันตีความสามารถหลากหลายด้าน เช่น รางวัลปราชญ์ภูมิปัญญาสาเกตนคร สาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปีพ.ศ.2562 จากวิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ สาขาวัฒนธรรม ปีพ.ศ.2561 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

อำคา กล่าวปิดท้ายว่า “ทวนกระแสการท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่าสู่การพัฒนาชุมชน สังคม และวัฒนธรรม” คุณค่านี้เกิดจากคนในชุมชนรู้จัก ตระหนักคุณค่าชุมชนของตน มียุวชนกู่กาสิงห์เป็นผู้เล่าเรื่อง ให้เรื่องราว เรื่องเล่ากู่กาสิงห์ ศูนย์กลางอารยธรรมทุ่งกุลาร้องไห้สะกดใจผู้มาเยือน และถวิลหาอย่างมิรู้เสื่อมคลาย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0