มีรายงานว่าการเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยในเบื้องต้น คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรือดำน้ำจีนของกระทรวงกลาโหม ซึ่งนำโดยพลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับตัวแทนหน่วยงานด้านยุทโธปกรณ์ ของกระทรวงกลาโหมจีน และ ตัวแทนบริษัท CSOC บริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำชั้นหยวน รุ่น S26Tซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงกลาโหมระหว่างวันที่ 14 –15 พ.ค. 2567 นั้น มีข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะดำเนินโครงการต่อ โดยใช้เครื่องยนต์ CHD 620ของจีน แทนที่เครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนี
และฝ่ายจีนยินดีที่จะสนับสนุนทางการทหาร เช่น การสนับสนุนยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ ทั้งเครื่องช่วยฝึก หรือ Simulator และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นรวมถึงเรื่องระบบประกัน / การฝึกศึกษา ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทแต่ทางจีนยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากขอรอความชัดเจนในการเดินหน้าต่อโครงการจากทางฝ่ายไทยก่อน
มีรายงานว่าในการประชุม มีการหารือถึง 2 แนวทางได้แก่ เดินหน้าต่อ หรือยกเลิก ซึ่งการเปลี่ยนโครงการเป็นเรือฟริเกตนั้น ก็เท่ากับการยกเลิกโครงการเรือดำน้ำไปด้วย และจากการหารือเห็นว่าการยกเลิกนั้น ฝ่ายไทยจะได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากฝ่ายไทยจะต้องดำเนินการฟ้องร้องค่าเสียหายเรื่องเงินค่างวดที่จ่ายไปล่วงหน้าและอาจจะได้คืนไม่ครบแต่การเดินหน้าโครงการต่อ จะช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานระหว่างทั้ง 2 ประเทศ และทางจีนยินดีให้การสนับสนุนทางทหารเพิ่มเติมดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นมีรายงานว่านายสุทิน คลังแสง รมว. กลาโหมได้เข้าร่วมการประชุมเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ด้วย และสำหรับขั้นตอนการดำเนินการขั้นต่อไป กระทรวงกลาโหมจะต้องสรุปผลการเจรจา เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณา เนื่องจากจะต้องมีการแก้ไขสัญญาใน 2 ส่วน ได้แก่ การขยายเวลาสัญญาต่อเรือดำน้ำออกไปอีกราว 1,200 วัน และ การเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเยอรมัน MTU 396 เป็นเครื่องยนต์จีน CHD620ในขณะที่ฝ่ายจีนจะนำกลับไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการกลางทหารของจีนอีกครั้งด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้รัฐบาลไทยต้องมีความชัดเจนในการเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำ และการเปลี่ยนเครื่องยนต์ก่อน ทำให้ทางไทยยังไม่เปิดเผยรายการที่ทางจีนจะให้กับไทยอย่างละเอียดสำหรับเครื่องยนต์ CHD620นั้น ทางฝ่ายจีนได้ส่งเครื่องยนต์ดังกล่าว ให้สมาคมจัดชั้นเรือ Lloyd’s Register(LR) แห่งสหราชอาณาจักร ทำการรับรองมาตรฐาน และได้รับการรับรองแล้ว
ความเห็น 0