โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คิดแบบ สยามศิลาดล ธุรกิจตอบโจทย์ BCG อย่างยั่งยืน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 14 ก.ย 2566 เวลา 12.34 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย 2566 เวลา 01.12 น.
ศิลาดล

“ศิลาดล” มาจากภาษาฝรั่งเศส (Celedon) ส่วนภาษาไทยแปลว่า “เครื่องสังคโลก” อันเป็นชื่อที่คนไทยคุ้นชินจากภาชนะเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือเมื่อ 700 กว่าปีก่อน แต่ความเป็นจริงแล้วเครื่องสังคโลกสามารถสืบย้อนไปถึงอารยธรรมจีนโบราณกว่า 1,000 ปี สมัยทำการค้าขายในแถบสุวรรณภูมิ

แต่สำหรับ “สยามศิลาดล” ที่มี “นิตย์ วังวิวัฒน์” ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ และ “เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามศิลาดลพอตเทอรี่ จำกัด สองสามีภรรยาที่ช่วยกันปลุกปั้นธุรกิจศิลาดลมาเมื่อ 40 กว่าปีก่อน จนทำให้ “สยามศิลาดล” ในเจเนอเรชั่นที่ 1 กลายเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ทั้งยังได้รับรางวัลมากมายจากองค์การยูเนสโก Unesco-Ahpada 2001 Seal of Excellence for Handicraft Products in Southeast Asia และรางวัลจาก World Craft Council (WCC)-Award of Excellence For Handicrafts 2014 South East Asia Programme และอื่น ๆ อีกมากมาย

ส่งไม้ต่อ เจเนอเรชั่นที่ 2

ที่ปัจจุบันเริ่มส่งไม้ต่อทางธุรกิจให้กับ “รุ่นหลาน” ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 คือ “อนุสิทธิ์ มานิตยกุล” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ บริษัท สยามศิลาดลพอตเทอรี่ จำกัด ขยายช่องทางทางการตลาด พร้อมกับนำพา “สยามศิลาดล” ไปอวดโฉมนานาประเทศให้มากกว่าที่เป็นอยู่ จึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

เพราะ “สยามศิลาดล” ไม่เพียงเป็น “green product” ทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หาก “สยามศิลาดล” ยังผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติทั้งหมด ที่สำคัญ ตลอดห่วงโซ่การผลิตยังเกิดจากการทำ “มือ” ของ “สล่า” หรือ “ศิลปินท้องถิ่น” ทางภาคเหนือของประเทศไทยที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านออกแบบ ปั้น เผา และผลิตเครื่องสังคโลกแตกลายงาออกมาทีละชิ้น ๆ จนทำให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ทรงคุณค่าอย่างมากมาย

“เพ็ญพรรณ” เล่าให้ฟังในเบื้องต้นว่า เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ตอนเริ่มก่อตั้งธุรกิจ สามี (นิตย์) และเพื่อน ๆ ของเขาเป็นคนบริหารจัดการ เพราะสามีเขาจบวิศวะ จุฬาฯมา ก็ช่างคิดอยากทำโน่นทำนี่ อีกอย่างอำเภอสันกำแพงมีชื่อเสียงในการทำร่มบ่อสร้าง และผ้าไหม ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครทำศิลาดลเท่าไหร่ พอตอนหลังพวกเขาแยกตัวออกไปทำธุรกิจอื่น ก็เลยกลายเป็นภาระของเรา

“ดิฉันจบเกษตรฯ ไม่มีความรู้อะไรพวกนี้เลย จึงต้องวิ่งไปขอความรู้จากอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่บ้าง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่บ้าง พูดง่าย ๆ เราวิ่งไปทุกที่ที่เขาจะให้ความรู้เกี่ยวกับงานเซรามิกและงานศิลาดล จนทุกคนเมตตาดิฉัน และส่งมอบความรู้ต่าง ๆ ให้ ทั้งยังแนะนำต่อว่า ถ้าจะทำธุรกิจศิลาดลจะต้องทำอย่างไร แหล่งวัตถุดิบในการนำดินมาใช้อยู่ที่ไหน ออกแบบอย่างไร และตลาดเป็นอย่างไรบ้าง”

ที่สำคัญ ศิลาดลเป็นงานหัตถกรรมดั้งเดิมของชาวล้านนา และคนสันกำแพงเองมีเลือดของความเป็นศิลปิน บวกกับความเป็นช่างฝีมือ หรือที่ภาคเหนือเรียกสล่า เราจึงต้องคงความเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยใช้กรรมวิธีแบบภูมิปัญญาชาวบ้านโบราณมาเป็นหลักในการผลิต

ขณะเดียวกัน เราก็พัฒนารูปแบบการดีไซน์ สีสัน รูปทรงให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพราะศิลาดลปัญหาเยอะ ถ้าเราหันไปใช้กรรมวิธีการผลิต โดยใช้สารเคมีก็ไม่ยุ่งยากเท่านี้ เราจึงต้องปรับตัวอยู่เสมอ

ผลิตภัณฑ์ green product

“อนุสิทธิ์” กล่าวเสริมว่า ผลิตภัณฑ์ของเราเป็น green product ทั้งหมด ดินดำของเรานำมาจากอำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นดินคุณภาพดี เหมาะสำหรับนำมาผลิตศิลาดล และทุกขั้นตอนเราใช้กรรมวิธีการผลิตด้วยมือของช่างฝีมือทั้งสิ้น ตั้งแต่เตรียมดิน, หล่อพิมพ์, ขึ้นรูปใช้แป้นหมุน, จิ๊กเกอร์, แกะสลัก-ตกแต่ง, เผาดิบ (ครั้งแรก 800 องศา), เขียนลาย, ชุบน้ำเคลือบขี้เถ้าไม้รกฟ้า (ตอนหลังใช้ไม้ลำไย), ตกแต่งเคลือบ และเผาครั้งที่ 2 ที่อุณหภูมิ 1,280-1,300 องศา

“พูดง่าย ๆ ผลิตภัณฑ์ของสยามศิลาดลทั้งหมดไม่ปนเปื้อนสารเคมีเลย ทั้งยังเป็นงาน handmade 100% แต่เมื่อตอนหลังลูกค้านิยมมากขึ้น เราจึงค่อย ๆ ปรับตัวจากงานหัตถพาณิชย์ที่ใช้คนเป็นหลัก มาเป็นการนำเครื่องจักรบางส่วนมาปรับใช้บ้าง แต่ก็ไม่เป็นอุตสาหกรรม 100% เพราะเรายังคงอนุรักษ์กรรมวิธีการผลิตแบบโบราณอยู่ แรก ๆ เราอาจใช้เตาเผาแบบโบราณ แต่ตอนหลังเริ่มเปลี่ยนมาใช้เตาอบเครื่องปั้นดินเผาแทน ซึ่งเราจะควบคุมอุณหภูมิได้ดีกว่า”

ส่วนตัวน้ำเคลือบเรายังใช้กรรมวิธีแบบโบราณ ซึ่งเป็นขี้เถ้าไม้ที่มาจากการรีไซเคิล อย่างที่บอกเมื่อก่อนเราใช้ไม้รกฟ้า ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของเชียงใหม่ แต่ตอนนี้เป็นไม้อนุรักษ์แล้ว เราจึงหันมาใช้ไม้ที่เหลือจากการทำการเกษตร เช่น ไม้ลำไย เพราะภาคเหนือต้นลำไยหมดอายุมีค่อนข้างเยอะ ชาวบ้านจะตัดมาทำขี้เถ้าขายให้เรา ฉะนั้น ทุกขั้นตอนการผลิต นอกจากเป็น green product แล้ว โรงงานของเรายังเป็น green factory อีกด้วย

“อนุสิทธิ์” กล่าวต่อว่า ยิ่งตอนหลังภาครัฐและเอกชนหันมาส่งเสริม และให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแนวใหม่มากขึ้น เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม (environment), การลดปัญหาโลกร้อน (global warming) ที่กำลังเป็นตัวบั่นทอนทรัพยากรโลก ด้วยการเน้นพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างทั่วถึง บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “BCG economy” อันประกอบด้วย bioeconomy (เศรษฐกิจชีวภาพ), circular economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ green economy (เศรษฐกิจสีเขียว) ยิ่งทำให้ธุรกิจของเราต้องปรับตัวตามมาทางนี้ด้วย

“จริง ๆ เราทำเรื่อง BCG มาก่อนตั้งนานแล้วโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อภาครัฐ ภาคเอกชนพูดถึงโมเดล BCG, ESG และ SDGs เราก็รู้ว่ามาถูกทางแล้ว เพราะเราไม่ได้ขายเฉพาะลูกค้าในประเทศ หากลูกค้าต่างประเทศเราก็ขาย ยิ่งลูกค้าต่างประเทศ เขาจะเน้นมาก ว่าผลิตภัณฑ์ของเราตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และจะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก”

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ผลิตภัณฑ์ของ “สยามศิลาดล” ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร, อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน, ภาชนะชา-กาแฟ และอีกมากมาย จึงได้เครื่องหมาย GI (geographical indication) หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อันเป็นเครื่องหมายในระดับมาตรฐานสากลที่ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์มาก ๆ

ดังนั้น เมื่อถามว่ากลุ่มลูกค้ามีใครบ้าง “อนุสิทธิ์” ตอบว่า เมื่อก่อนลูกค้าของเราเป็นคณะทูตานุทูตจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงข้าราชการผู้ใหญ่ทางภาคเหนือ จนทำให้ใครต่อใครชอบคิดว่าผลิตภัณฑ์ของสยามศิลาดลราคาแพง เพราะมีแต่ลูกค้าไฮโซ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย สินค้าของเรามีตั้งแต่ 60 กว่าบาทไปจนถึงหมื่นกว่าบาท หรือมากกว่านั้น ถ้าเป็นสินค้าออร์เดอร์ หรือสั่งทำพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะ

“ถึงตอนนี้ลูกค้าหลัก ๆ จะมีกลุ่มธุรกิจโรงแรมระดับ 5-6 ดาวทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้เป็นหลัก นอกนั้นก็เป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรมจากญี่ปุ่น, สวิตเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศในยุโรป เพราะผมดูฝ่ายการตลาดต่างประเทศด้วย จึงพยายามเจาะกลุ่มลูกค้าเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น”

ทั้งยังเชื่อแน่ว่า ต่อไปในอนาคตผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “สยามศิลาดล” จะได้รับการยอมรับมากกว่านี้ ยิ่งเทรนด์ของโลกมาทางด้าน “ESG” และ “sustainability development-SD” ด้วย สินค้าของ “สยามศิลาดล” ก็มีโอกาสไปปรากฏโฉมในระดับนานาประเทศมากขึ้นด้วย

“ผมเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น