นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 34.17 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 34.23 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลกหลังดอลลาร์อ่อนค่า
เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลดลง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญออกมาแบบผสม โดยประมาณการตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้ของสหรัฐครั้งที่สองแย่ลง แต่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานประจำสัปดาห์ดีกว่าคาด และช่วงนี้ต้องจับตาดูทิศทางของเงินทุนต่างประเทศด้วย
"บาทแข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ ตามทิศทางตลาดโลกเรื่องดอลลาร์อ่อนค่า"
นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 34.10 - 34.30 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (26 พ.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.41880% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.57118%
FX_IDC:USDTHB โดย TradingView
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 126.97 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 126.72 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0733 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0711 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 34.290 บาท/ดอลลาร์
- ติดตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน เม.ย. และ 4 เดือนแรกของปี 65 และแถลงการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนไตรมาส 1 และเดือนเม.ย. ของปี 65
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในเวทีสภาเศรษฐกิจโลก หรือเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรั่ม ว่า ธปท.ได้นำแนวคิดเงินบาทดิจิทัลหรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (ซีบีดีซี) ไปแลกเปลี่ยนและเผยบนเวทีสภาเศรษฐกิจโลก ซึ่ง ธปท.อยู่ระหว่างศึกษาซีบีดีซีนี้ถือเป็นประเทศแรกๆ ของโลกและกำลังจะนำซีบีดีซีทดสอบในไตรมาส 4 ปีนี้ แต่อาจยังไม่จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกมาใช้
- ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อท.) เปิดเผยถึงกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศเตือนเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงความวุ่นวาย หลังจาก 30 ประเทศทั่วโลกจำกัดการส่งออกอาหารหลังจากได้รับผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ว่า มองว่า เป็นโอกาสที่ดีในการขยายตลาดการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารของไทย โดยเฉพาะข้าว ที่นำมาทดแทนข้าวสาลี ที่อินเดียระงับการส่งออก, สินค้าไก่ หลังจากมาเลเซีย งดการส่งออก ทำให้ไทยขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น จากที่ผ่านมาไม่สามารถทำตลาดได้ง่ายๆ เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชีย
- ประธานกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือกับโรคระบาด (CEPI) เปิดเผยว่า การอุบัติขึ้นอย่างฉับพลันของโรคฝีดาษลิง (monkeypox) ในหลายประเทศทั่วโลกแสดงให้เห็นถึงการแพร่ระบาดที่น่ากังวล อย่างไรก็ดี ไวรัสดังกล่าวไม่ได้มีรูปแบบความเสี่ยงที่เหมือนกับโรคโควิด-19
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/65 โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว -1.5% จากเดิมที่รายงานว่าหดตัว -1.4% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวเพียง -1.3% ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 1/65 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 8,000 ราย สู่ระดับ 210,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 215,000 ราย
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.758% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.99% หลังการเปิดเผยรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (26 พ.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวัง ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่หดตัวลงมากกว่าคาดในไตรมาส 1
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (26 พ.ค.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐยังช่วยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญวันนี้ สหรัฐจะมีการรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 65)
ความเห็น 0