บทความ ภาษาถิ่นใต้ – 🎤จะเลิกคุยทั้งอำเภอเพื่อเธอคนเดียวน่ะรู้หม้าย จะไม่ยอมแหลงกับใคร จะยกให้เธอไปทั้งใจ จะมีเพียงเธอเท่านั้น🎼🎧
สวัสดีค่ะ น้องๆ วันนี้ครูพี่โบว์บังเอิญเห็นเพลงนี้ที่มีเพื่อนๆ แชร์กันในเฟซบุ๊ก ชื่อเพลงก็ว่าเตะตาแล้ว พอเปิดเข้าไปฟังเท่านั้นแหละ อื้อฮือ!!! น่าร้ากกกอ่ะ
ภาษาถิ่นใต้ …
เดี๋ยวน้องๆ จะหาว่าวันนี้ครูพี่โบว์มาโปรโมตเพลง ไม่ใช่นะค้า เรื่องของเรื่องก็ตามที่ได้บอกไปว่าบังเอิญได้ฟัง แต่ที่บังเอิญเข้าไปอีกคือ เพลงนี้มีภาษาถิ่นใต้ปะปนอยู่ด้วย “ภาษาถิ่นใต้” เป็นภาษาถิ่นที่ครูคุ้นเคย เพราะครูพี่โบว์เกิดและโตที่จังหวัดตรัง และย้ายเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพก็ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ค่ะ เรียกได้ว่า 18 ปีแรกของชีวิตก็คนใต้อย่างแรงเลยแหละ พี่น้องเฮ้อ _
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เพลงภาษาใต้ก็มี ละครแหลงใต้ก็เยอะ ไหนจะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และที่สำคัญเรื่อง “ภาษาถิ่น” ก็เป็นเรื่องหนึ่งในเนื้อหาในหลักภาษา วิชาภาษาไทยที่เรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษามัธยมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษากันเลยทีเดียว ถ้าเช่นนั้นเราจะช้าอยู่ไย ขอต้อนรับน้องๆ สู่เกร็ดความรู้เรื่อง“ภาษาใต้ ได้แรงอ๊ก” กันเลยจ้า
ถึงแม้ภาษาไทยกลางจะเป็นภาษามาตรฐาน หรือภาษาราชการที่ใช้ติดต่อกันเป็นหลัก แต่ในแต่ละภูมิภาคก็จะมีภาษาถิ่นเป็นภาษาย่อยที่ใช้พูดจากันในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อต้องการใช้สื่อความหมาย ความเข้าใจกันระหว่างผู้คนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งภาษาถิ่นแต่ละภาค แต่ละถิ่นจะมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านเสียง คำและความหมายที่เป็นลักษณะเฉพาะซึ่งถือเป็นข้อตกลงร่วมกัน
ภาษาถิ่นแสดงถึงเอกลักษณ์ สะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่
นอกจากภาษาถิ่นจะแสดงถึงเอกลักษณ์แล้ว ยังสะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องราว ประสบการณ์ วัฒนธรรมของผู้คน เนื่องจากภาษาถิ่นแบ่งตามภูมิศาสตร์หรือท้องถิ่นที่ผู้พูดภาษานั้นอาศัยอยู่ ได้แก่ ภาษาถิ่นกลาง ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอีสานและภาษาถิ่นใต้ และนอกจากภาษาถิ่นจะแบ่งตามภูมิภาคแล้ว ยังมีภาษาถิ่นย่อยๆ ลงไปอีก เช่น ภาษาถิ่นใต้ มีภาษาถิ่นสำเนียงสงขลา สำเนียงตรัง สำเนียงสุราษฎร์ เป็นต้น
ภาษาถิ่น ใช้สื่อสารในภาคใต้ 14 จังหวัด
ภาษาถิ่นใต้ เป็นภาษาถิ่นที่ใช้สื่อสารอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทยทั้ง 14 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ตรัง สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สำเนียงและลีลาการพูดของภาษาใต้ ได้รับอิทธิพลมาจากภาคกลางหรือภาษากลาง แต่มีการตัดคำหรือรวบคำให้เป็นพยางค์ที่สั้นลง และมีรูปแบบการเปล่งเสียงบางเสียงที่แตกต่างกันออกไป เช่น นากา (นาฬิกา) ลอกอ (มะละกอ) หลาบ (เข็ดหลาบ) เฮิน (เงิน) โผ้ (ตัวผู้) เหมีย (ตัวเมีย) หวัน(ตะวัน) หรืออาจมีการใช้คำที่ตกลงกันเฉพาะถิ่น เช่น แม่เฒ่า (ยาย) พี่บ่าว (พี่ชาย) สายเอว (เข็มขัด) เริน (บ้าน) เป็นต้น
ตัวอย่างคำ ภาษาถิ่นใต้
ภาษาใต้ : ภาษากลาง
ชมพู่ : ฝรั่ง
หน่ามต๊าว, น้ำเต้า : ฟักทอง
ดีปลี : พริก
ดานเชี้ยง, ดานเฉียง : เขียง
หน่ำฉุบ, น้ำชุบ : น้ำพริก
ฮั้วฉ่าว, หัวเช้า : ตอนเช้า
เนือย : หิว
ยิก : ไล่
ส้มนาว : มะนาว
ตอฉ่าว, ต่อเช้า : พรุ่งนี้
แหลง : พูด
หรอย : อร่อย
หยบ : ซ่อน
หย่านัด, ย่านัด : สับปะรด
หวันมุ้งมิ้ง : โพล้เพล้
เคย : กะปิ
ขี้หก : โกหก
โกปี๊ : กาแฟ
ท้ายครก : เม็ดมะม่วงหิมพานต์
แขว็ก, แคว็ก : แคะ
“พันปรือม้าง น้องบ่าว สาวนุ้ย ภาษาใต้ ได้แรงอ๊กม้าย?” (เป็นยังไงบ้างคะ น้องชาย น้องสาว ภาษาใต้ หรอยมั้ย เอ๊ย! สนุกมั้ยคะ
ถึงแม้จะเป็นตัวอย่างคำภาษาถิ่นใต้เพียงนิด แต่น้องๆ ก็พอจะได้เห็นลักษณะคร่าวๆ ของภาษาถิ่นใต้กันแล้วนะคะ บทความหน้าครูพี่โบว์จะมีเกร็ดความรู้เรื่องอะไร นำมาเล่าเอามาฝาก อย่าลืมติดตามกันนะค้า
ความเห็น 1
Tandy
เขียนโดยไม่เข้าใจการออกเสียงและรากศัพท์ของมันแต่เดิมมา อ่านแล้ว มึน
22 ก.ค. 2562 เวลา 15.18 น.
ดูทั้งหมด