โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วัคซีนอีสุกอีใส ให้ลูกฉีดตอนไหนดีนะ

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 06 ส.ค. 2562 เวลา 07.30 น. • Motherhood.co.th Blog
วัคซีนอีสุกอีใส ให้ลูกฉีดตอนไหนดีนะ

วัคซีนอีสุกอีใส ให้ลูกฉีดตอนไหนดีนะ

โรคติดต่อยอดฮิตที่เด็กเล็กนิยมเป็นกันคงหนีไม่พ้นโรคอีสุกอีใส คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกๆยังไม่เคยเป็นก็คงไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญ ก็คงต้องให้ "วัคซีนอีสุกอีใส" เป็นตัวช่วยแล้วละค่ะ แต่จะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง เด็กอายุเท่าไหร่ถึงจะสามารถรับวัคซีนตัวนี้ได้ ฉีดมาแล้วจะป้องกันได้นานแค่ไหน หรือเด็กที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาแล้วจะไปฉีดป้องกันได้อีกหรือเปล่าถ้ากลัวจะติดมาอีกรอบ คุณพ่อคุณแม่ที่ยังคาใจอยู่สามารถติดตามได้ในบทความตอนนี้ค่ะ

เริ่มฉีดเข็มแรกให้ลูกได้เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป
เริ่มฉีดเข็มแรกให้ลูกได้เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป

ทำความรู้จักกับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella Vaccine/Chickenpox Vaccine) เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสมีชีวิตที่ชื่อว่า วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส ในคน แต่มันถูกทำให้ฤทธิ์อ่อนลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ เพื่อเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและป้องกันการเกิดโรคอีสุกอีใส โดยแพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนตัวจำนวน 2 เข็ม ตามเกณฑ์ที่กำหนด

การฉีดวัคซีนอีสุกอีใสเป็นวิธีป้องกันโรคอีสุกอีใสอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันยาวนานถึง 20 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังคงติดเชื้อโรคอีสุกอีใสได้ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน อาจเกิดผื่นขึ้นเพียงเล็กน้อย มีไข้อ่อนๆ หรือบางรายก็ไม่มีไข้เลย และอาการมักหายเร็ว

ในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสทั้งรูปแบบวัคซีนเดี่ยว (VZV) และวัคซีนรวม (MMRV) ซึ่งเป็นวัคซีนฉีดป้องกันโรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน และโรคอีสุกอีใสไปพร้อมกัน โดยจะฉีดจำนวน 2 เข็ม เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนเดี่ยว

คำเตือนสำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

  • ผู้ที่มีปฏิกิริยาการแพ้รุนแรงหลังได้รับวัคซีนเข็มแรก หรือมีอาการแพ้ส่วนประกอบใดๆจากวัคซีน รวมทั้งอาการแพ้สารเจลาตินหรือยานีโอมัยซิน (Neomycin) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนในเบื้องต้น เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ตามมา
  • ผู้ที่กำลังป่วยและมีอาการค่อนข้างรุนแรง เกิดการติดเชื้อ มีไข้ หรือเป็นวัณโรคและไม่ได้รับการรักษา ควรรอให้อาการดีขึ้นหรือหายขาดเสียก่อนที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส อีกทั้งควรแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงประวัติการป่วยดังกล่าว
  • หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ควรรอจนกว่าจะคลอดเรียบร้อย เพราะยังไม่มีรายงานยืนยันความปลอดภัย และมีความเสี่ยงทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือติดเชื้ออย่างรุนแรงได้ นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้มารดาได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายในด้วย
  • หญิงที่กำลังวางแผนจะมีบุตรควรทิ้งระยะเวลาการตั้งครรภ์หลังการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1-3 เดือน
  • ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นโรคเอดส์ รวมถึงโรคอื่นๆที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง กำลังอยู่ในช่วงรับประทานยาที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน หรือเคยเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายแสงหรือรับประทานยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนก่อนทุกครั้ง
  • ผู้ที่เพิ่งได้รับการถ่ายเลือด ได้รับอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) หรือส่วนประกอบอื่นของเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนนี้
แม้ได้รับวัคซีนแล้ว ก็ยังติดโรคได้ แต่อาการจะไม่หนักเท่ากับเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
แม้ได้รับวัคซีนแล้ว ก็ยังติดโรคได้ แต่อาการจะไม่หนักเท่ากับเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

ปริมาณการฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสที่แนะนำโดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี แพทย์จะแนะนำให้เริ่มฉีดตั้งแต่เด็กมีอายุ 1 ปีขึ้นไป โดยควรฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 12-18 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการระบาดของโรค ก็สามารถไปฉีดเข็มที่ 2 ก่อนอายุ 4 ปีได้ แต่ต้องทิ้งระยะห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
  • เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปและไม่เคยฉีดวัคซีนนี้มาก่อน ควรได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็มเช่นเดียวกัน ซึ่งจะฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
  • วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส (MMRV) ใช้ฉีดแทนวัคซีนอีสุกอีใสแบบเดี่ยวได้ เริ่มฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 1-12 ปี

การฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส

การรับวัคซีนอีสุกอีใสจะต้องฉีดโดยผู้เชี่ยวชาญและอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น โดยก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน พ่อแม่ควรแจ้งโรคประจำตัว ภาวะผิดปกติ หรืออาการแพ้ต่างๆของลูก ให้แพทย์ทราบ ส่วนในกรณีที่ลืมไปฉีดวัคซีนตามนัดก็ควรแจ้งแพทย์และกลับไปรับวัคซีนทันทีที่ทราบ เพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะไม่จำเป็นต้องได้รับการฉีดเข็มแรกใหม่

ทั้งนี้ หลังการฉีดวัคซีนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับทารกแรกเกิด หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ เพราะอาจกระตุ้นให้บุคคลดังกล่าวติดเชื้อได้ง่าย อย่างไรก็ตาม หากลูกเกิดความผิดปกติหรือมีอาการรุนแรงหลังได้รับวัคซีน คุณพ่อคุณแม่ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบทันที

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

วัคซีนอีสุกอีใสอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นเดียวกับยารักษาโรคอื่นๆ โดยสามารถเกิดขึ้นได้หลายระดับ ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงตามแต่ละบุคคล และมักมีอาการหลังการฉีดเข็มแรกมากกว่าหลังการฉีดเข็มที่ 2 ซึ่งผลข้างเคียงที่สามารถพบได้ มีดังนี้

  • ผลข้างเคียงทั่วไป มีอาการปวด บวมแดง คัน หรือช้ำบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ต่ำ หรือเกิดผื่นขึ้นเล็กน้อย บางรายอาจมีผื่นขึ้นในช่วง 1 เดือนหลังจากการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้ใกล้ชิด แต่พบได้ค่อนข้างน้อย
  • ผลข้างเคียงรุนแรง บางรายอาจเกิดอาการชักจากไข้ ตาแข็ง กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก หรือในรายที่รุนแรงมากอาจมีอาการของโรคปอดบวมด้วย แต่มักพบได้น้อยจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้

อย่างไรก็ตาม ควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ชัก ไอ ปวดหรือรู้สึกแน่นบริเวณหน้าอก มีปัญหาในการหายใจ อ่อนเพลียมาก เกิดรอยช้ำ เลือดออกง่าย หรือมีอาการแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งจะสังเกตได้จากอาการวิงเวียนศีรษะ เหนื่อยล้าง่าย หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว มีอาการบวมตามใบหน้า ปาก ลิ้น หรือลำคอ

หากเป็นอีกหลังรับวัคซีน อาการจะไม่หนักเท่าเก่า จำนวนตุ่มจะน้อยลงมาก
หากเป็นอีกหลังรับวัคซีน อาการจะไม่หนักเท่าเก่า จำนวนตุ่มจะน้อยลงมาก

รวมคำถาม-คำตอบ ข้อสงสัยเรื่องวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส

Q: หากไม่เคยได้รับวัคซีนตัวนี้ เมื่อเป็นโรคอีสุกอีใส จะเป็นอย่างไร

A: โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรงนักในเด็กเล็ก แต่ในเด็กโตอาการจะค่อนข้างรุนแรง มีความเสียงที่จะเกิดอาการแทกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ เป็นต้น

Q: หากได้รับวัคซีนแล้ว จะยังสามารถติดอีสุกอีใสได้อีกไหม

A: ได้ เพราะวัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงแม้จะฉีดครบสองเข็มก็ยังเกิดอาการได้ แต่อาการจะไม่รุนแรงมาก มีตุ่มขึ้นไม่เยอะ ส่วนใหญ่น้อยกว่า 50 ตุ่ม ปัจจุบันสามารถตรวจภูมิคุ้มกันโรคดูภายหลังได้วัคซีนครบว่าจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเพิ่มหรือไม่

Q: เคยเป็นอีสุกอีกใสมาแล้ว ต้องไปฉีดวัคซีนอีกไหม

A: คนที่เป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกัน ไม่จำเป็นต้องไปฉีดอีก และหากกลับมาเป็นอีกรอบก็จะไม่หนักเท่าครั้งแรก

Q: ทำไมถึงแนะนำให้เริ่มรับวัคซีนหลังอายุครบ 1 ปี

A: เพราะต้องการให้สอดคล้องกับการให้วัคซีนรวม หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีกใส (MMRV) ซึ่งจะได้รับตอนอายุ 9-12 เดือน

Q: ทำไมต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 ปี หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สอง ในกรณีที่ไม่มีโรคอีสุกอีใสระบาด

A: เลือกช่วงอายุดังกล่าวก็เพื่อให้สอดคล้องกับการให้วัคซีนรวม หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีกใส (MMRV)

Q: ทำไมกับเด็กอายุมากกว่า 13 ปี ต้องเว้นระยะห่างในการให้วัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สอง

A: เพราะหลังจากฉีดเข็มแรกไปประมาณ 4 สัปดาห์ จะมีการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ร้อนละ 78 ถ้าฉีดเข็มที่สองต่อ จะกระตุ้นได้ถึงร้อยละ 99

Q: สามารถฉีดวัคซีนอีสุกอีกใสได้ที่ใดบ้าง

A: ไปฉีดได้ตามโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

Q: วัคซีนอีกสุกอีใสหนึ่งเข็มมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่

A: ในโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่เข็มละประมาณ 800-1,000 บาท โดยในโรงพยาบาลเอกชนจะมีราคาสูงกว่านี้เล็กน้อย

หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะหายข้องใจกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใสให้ลูกๆแล้วนะคะ ยังไงถ้าครบขวบนึงก็สามารถไปฉีดเข็มแรกเพื่อป้องกันไว้ก่อนเลยจะดีมากค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น