ศูนย์ข่าวขอนแก่น-นักศึกษา มข.เจ๋ง ผุดนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) นับจำนวนคนเข้างาน หวังแก้สถานการณ์เบียดกันตาย เช่นที่เคยเกิดขึ้นในเหตุโศกนาฏกรรมอีแทวอน ประเทศเกาหลีใต้ เผย AI สามารถวิเคราะห์ได้ซับซ้อน แม่นยำ เพิ่มความสะดวกสบาย ประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
จากเหตุโศกนาฏกรรมอีแทนวอน เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกต่างเศร้าสลดกับเหตุสุดสะเทือนขวัญ จากเหตุฝูงชนเบียดกันจนเสียชีวิตระหว่างการเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีน ย่านอีแทวอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ การเข้าไปเบียดของผู้คนจำนวนมากโดยไม่มีการจำกัดจำนวนคนเข้างาน ในถนนความยาวเพียง 40 เมตร กว้าง 3.2 เมตร แถมมีความลาดชัน
ด้วยจำนวนคนที่เข้าไปรวมกันอย่างหนาแน่น แต่ละคนไม่สามารถทราบสถานการณ์ภายในงานว่าหนาแน่นเพียงใด ไม่สามารถระบุคนในตำแหน่งในถนนแต่ละสายได้ เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดสถานการณ์ เบียดกันตาย หรือ crowd crush มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 157 ราย และบาดเจ็บจำนวนมากเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565 เวลา 22:15 น. (เวลาเกาหลีใต้)
จากเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว นายชนม์สวัสดิ์ นาคนาม นักศึกษาโครงงานปัญญาประดิษฐ์ วิทยาลัยคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงคิดค้นนวัตกรรม “AI นับจำนวนคนเข้างานนิทรรศการ” โดยนายชนม์สวีสดิ์เปิดเผยว่า AI สามารถวิเคราะห์ได้ซับซ้อนมากกว่าสมองหรือดวงตามนุษย์ที่จะมองเห็น และมีความแม่นยำ เพิ่มความสะดวกสบาย ประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ เหตุการณ์ สถานที่ได้อย่างเหมาะสม
ยกตัวอย่างโครงการของตน คือ การใช้ AI นับจำนวนคนเข้างานนิทรรศการ หรือสถานที่ที่มีคนหนาแน่น โดยโครงงานดังกล่าวสามารถระบุได้ว่าตรงไหนมีจำนวนคนหนาแน่น โดยปกติสายตามนุษย์จะสามารถประเมินจำนวนคนในบริเวณนั้นได้คร่าว ๆ แต่อาจเกิดความล่าช้าและอาจเกิดความผิดพลาดสูง
“ปัจจุบันเราไม่จำเป็นต้องเหนื่อยขนาดนั้น เราสามารถใช้ AI ระบุได้ว่าจุดนี้ คือคน นับได้ว่ามีกี่คนได้ไวมากๆ เพียงแค่เห็นผ่านกล้อง ประมวลผลด้วย AI โดยเราไม่ต้องนับเลย เช็คจำนวนคนเข้างาน มุ่งไปพื้นที่นั้นเลย ป้องกันเกิดสถานการณ์ การเบียดกันตาย หรือ crowd crush ดังโศกนาฏกรรมที่อิแทวอนประเทศเกาหลีใต้เป็นข่าวดังทั่วโลก
เราสามารถใช้นวัตกรรม AI นี้นับจำนวนคน ติดตามคนเดินในงาน เมื่อคนบริเวณนั้นมีจำนวนมากเกินไป ตั้งระบบส่งสัญญาณเตือนเป็นเสียง หรือแสดงเป็นแผนภาพสีบริเวณที่มีจำนวนคนหนาแน่น จะลดอัตราการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังที่เป็นข่าวได้ และเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยด้วยการใช้ AI” นักศึกษาด้าน AI กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถชมต้นแบบโครงการ AI นับจำนวนคนเข้านิทรรศการได้ที่https://drive.google.com/file/d/1iS36ATOdNMpgQ8ERZ6UnZUECEMNnx6DL/view?ts=6361f0ef
สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์ หรือ Bachelor of Science Program in Artificial Intelligence การพัฒนาหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดรับสมัครแล้ววันนี้
สำหรับนักเรียนระดับมัธยมที่สนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งวิทยาลัยคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ควรมีคุณสมบัติ ช่างคิด มีความคิดสร้างสรรค์ คิดเป็นระบบเป็นขั้นตอน นำทักษะนี้ไปเขียนอัลกอลิทึม ขั้นตอนหรือลำดับการประมวลผลในการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งได้ มีความเห็นอกเห็นใจต้องการแก้ปัญหาให้กับคนหมู่มาก ควรเป็นคนที่มีความรู้พื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เพื่อใช้สื่อสารหรือค้นคว้าข้อมูลสากล เพื่อให้การนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้เกิดขึ้นได้จริงในโลกปัจจุบันและอนาคต
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO