เข้าสู่ช่วงของการเปิดเส้นทางการเดินทางในหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทย แน่นอนว่านอกจากการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกครื้นกันอีกครั้ง ยังมีเรื่องของความสนุกรื่นเริงความบันเทิงต่างๆ ก็กลับมามีสีสันด้วยเช่นกัน เริ่มจากงานคอนเสิร์ตเทศกาลดนตรีนานาชาติที่จัดในต่างประเทศ และก็เป็นเวลาของการเดินสายของเหล่าศิลปินที่ได้ฤกษ์เรียกกลับด้อมด้วยเเช่นกัน
และด้วยสาเหตุนี้จึงเริ่มเห็นงานคอนเสิร์ตทะยอยจัดเรียงคิวกันมาแบบเดือนต่อเดือน บางทีก็ชนกันในเดือนเดียวเสียด้วยสิ และแน่นอนว่าทุกงานต้องการการซัพพอร์ตจากเหล่าแฟนคลับทั้งนั้น โดยเฉพาะบัตรคอนที่มักจะขายดีขายหมดอย่างรวดเร็ว ตามประสาคนคิดถึงเมน (main) นั่นแหละ ซึ่งแต่ละงานบัตรค่าเข้าก็ราคาไม่ใช่เบาๆ อย่างต่ำๆก็มีหลักพันซึ่งถ้าอยากเข้าใกล้ เห็นศิลปินได้ชัดๆ ก็ต้องทุ่มจ่ายไปให้สุดเพื่อไปหยุดที่ขอบเวที
ทีนี้จะเตรียมกำลัง(ทรัพย์)มาสนับสนุนศิลปินที่รักกันยังไงดี เพราะแม้ว่าทุกวันนี้ข้าวของจะราคาแพง แต่เราก็อยากให้ศิลปินในดวงใจอันได้มีแรงและกำลังใจที่จะผลิตผลงานที่ดีต่อใจเราไปเรื่อยๆ วันนี้เรามี 5 วิธีเซฟมันนี่เพื่ออปป้ามาฝาก
วิธีที่ 1 วางแผนเก็บเงินแต่เนิ่นๆ
ไม่ต้องรอข่าวประกาศจากอฟช.(ออฟฟิศเชียล) ว่าจะมาไทยเมื่อไหร่ อาจดูเป็นการรอแบบไม่เห็นวี่แวว แต่ก็ไม่ใช่การรออย่างไม่มีความหวัง เพราะอย่างไรสักวันจะต้องมีโอกาสเป็นแน่ ลองเปิดบัญชีแยกเอาไว้สำหรับการไปคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ ใส่เงินวันละเล็กละน้อยตามที่ไหว แต่ต้องตั้งใจใส่เงินเข้าไปวันละครั้ง นานวันเข้าเมื่อถึงวันที่เป็นของเรา ก็จะมีเงินก้อนนี้ทันที หรือหากมันนานเหลือใจ รอเท่าไหร่ก็ไม่มากันสักที เงินก้อนนี้อาจมากพอที่จะบินไปหาศิลปินถึงคอนเสิร์ตที่คอนในประเทศใกล้ๆก็ได้คอนเทนต์แบบสับไม่เหมือนเก๋ไก๋ใครอยู่
วิธีที่ 2 ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด
เวลาที่ศิลปินบินมาที่ไทยแน่นอนว่าทางค่ายจะต้องมีการโปรโมทล่วงหน้าและมักให้เวลาเป็นเดือนเพื่อให้แฟนๆได้มีเวลาเตรียมตัว และบางคอนเสิร์ตก็จะมีการเปิดรอบขายบัตรที่เรียกว่ารอบ Early Bird ซึ่งที่มาของคำว่า Early Bird แปลแบบตรงตัวก็คือ นกที่ตื่นเช้า ซึ่งมักจะได้กินหนอนก่อน จึงหมายถึงคนที่เตรียมตัวก่อนก็คือคนที่ได้เปรียบนี่เอง นั่นจึงทำให้บัตร Early Bird (ถ้ามี) มักมีราคาโปรโมชั่นที่ดีกว่าบัตรรอบปกติ (Regular)
และเมื่อรู้ข่าวการจะมาของศิลปินที่รัก ก็จัดแจงเช็ควันที่เขาจะมา เทียบกับเวลาที่เหลืออยู่ เพื่อคำนวณดูว่าต้องออมเงินให้ได้วันละเท่าไหร่
วิธีที่ 3 อดเปรี้ยวไว้รอกินหวาน
งดการออกไปเที่ยวคาเฟ่ หรือกดเอฟของซื้อเสื้อผ้าเครื่องสำอางลงบ้าง และอีกหนึ่งสิ่งที่คล้ายเป็นหลุมพรางสร้างอุปสรรคในการเก็บเงินก็คือของที่ระลึกที่เกี่ยวกับศิลปิน หากมีจุดมุ่งมั่นตั้งใจว่าจะต้องไปคอนเสิร์ตให้จงได้ สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนราคาไม่แรงมาก แต่ก็อาจทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ขยับออกไปโดยไม่รู้ตัว ดั้งนั้นต้องตัดสินใจให้ได้ว่าจะมุ่งไปเป็นสายตะลุยคอน หรือจะเป็นสายสะสม หากจำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
วิธีที่ 4 บังคับตัวเองให้เก็บเงิน
ยังมีอีกสารพัดวิธีที่จะช่วยให้มีเงินพร้อมเปย์ เช่น
- เก็บแต่แบงค์ 50ได้แบงค์นี้มาเมื่อไหร่ อย่าหวังว่าจะกระเด็นออกไปจากกระเป๋าได้เป็นอันขาด มีหลายคนพิสูจน์แล้วว่าการเก็บเงินวิธีนี้ได้เงินเป็นกอบเป็นกำน่าชื่นใจไม่น้อย และสาเหตุที่นิยมเลือกธนบัตรชนิด 50บาทก็เพราะเป็นชนิดที่มีการหมุนเวียนน้อย ถ้าได้มาคือเป็นการส่งสัญญาณ(ให้ตัวเอง)ว่าต้อง ‘เก็บ’!
- เก็บก่อนใช้ทีหลัง ไม่ว่าจะเป็นการได้เงินมาแบบรายวัน หรือรายสัปดาห์ เมื่อได้มา จะต้องกำหนดในใจเองว่าจะเก็บเท่าไหร่ แล้วจึงค่อยใช้ที่เหลือจากเก็บ พยายามใช้ให้พอ
- หยอดกระปุกรายวัน น่าจะเหมาะกับเพื่อนๆ ที่ได้เงินมาแบบรายวัน เมื่อหมดวัน เลิกเรียนกลับถึงบ้าน มีเงินเหลืออยู่ทั้งหมดเท่าไหร่ หาที่เก็บไว้ทันทีให้มิชิด
- เก็บเงินตามจำนวนวัน กำหนดวันใดก็ได้ เมื่อเริ่มเป็นวันที่หนึ่ง ก็เริ่มเก็บหนึ่งบาท, วันที่สอง เก็บสองบาท, วันที่สาม เก็บสามบาท … เพิ่มจำนวณเงินตามจำนวณวันไปเรื่อยๆ หากมีเวลาทำครบ 1ปี จะมีเงินมากถึง หกหมื่นกว่าบาท แต่ถ้ามีเวลาไม่มาก ลองปรับวงเงินเก็บวันแรกสิบบาท วันที่สองยี่สิบบาท หนึ่งเดือนก็จะมีเงินราวสี่พัน น่าจะได้ที่นั่งชั้นดีอยู่
วิธีที่ 5 หางาน-หารายได้เสริม
เมื่อลองนับดูแล้วมั่นใจว่าเก็บเงินไม่ทันแน่ๆ ก็รีบหาเงินเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการขายต่อของมือสองที่ยังสภาพดีแต่ไม่ได้ใช้งาน หรือจะลองรับจ้างกดบัตรคอนงานอื่นๆ ก็ถือเป็นงานที่น่าสนุก แถมได้ฝึกปรือฝีมือ ได้วอร์มนิ้วก่อนที่จะไปกดบัตรคอนในใจด้วยอีกทาง คิดซะว่าเป็นการซ้อมกดคอนรอบที่ตัวเองอยากไป
….
เก็บตังค์ซื้อตั๋วได้ ก็อย่าลืมออมเงินไว้ยามฉุกเฉินกันด้วยนะ
ความเห็น 3
Jimmy Dew
แพงทั้งแผ่นดิน เก็บตังค์ไว้กินก่อน เที่ยวเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้ายังไม่ตาย
05 ก.ค. 2565 เวลา 14.39 น.
wana
ทยอย ไม่ใช่ทะยอย
14 ส.ค. 2565 เวลา 13.50 น.
ดูทั้งหมด