โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ในระบบและรูปแบบ - ปราบดา หยุ่น

THINK TODAY

เผยแพร่ 19 ก.ค. 2561 เวลา 09.14 น. • ปราบดา หยุ่น

คอลัมน์ สัญญาณรบกวน

ไม่มีอะไรสะท้อนว่าคนเราตกอยู่ภายใต้การตีตารางโดยระบบ (systems) และรูปแบบ (patterns) ได้ชัดไปกว่าชีวิตเมือง ยากจะเชื่อเรื่องการมีอยู่ของเจตจำนงเสรีในพื้นที่ดำรงชีพซึ่งถูกวางกรอบไว้แล้วแทบทุกกระเบียดนิ้ว นับตั้งแต่ที่เกิด ที่อยู่ ถนนหนทางในการจราจร ศูนย์กลางของการสังสรรค์ จุดพักผ่อนหย่อนใจ มุมกราบไหว้บูชา ตัวเลือกสำหรับหน้าที่การงาน ไปจนถึงที่นอนสุดท้าย เมื่อเราเหลือเพียงร่างไร้ลมหายใจแน่นิ่งในโลง

เราต่างใช้ชีวิตประจำวันอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกอย่างเกิดขึ้นและเป็นไปจากการตัดสินใจเชิงปัจเจก แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ในทางรูปธรรมเราก็จำต้องปฏิบัติตามเส้นสายโยงใยของระบบที่ถูกสร้างให้เป็นทั้งต้นเหตุและสิ่งรองรับการตัดสินใจของเราทั้งสิ้น

โดยผิวเผินดูเหมือนว่าเราจะมีเหตุผลส่วนตัวในการเลือกไปดูหนังเข้าใหม่เรื่องหนึ่งจากสามสี่เรื่องที่ฉายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลตามกระแสหรือจากรสนิยมเฉพาะบุคคลก็ตามที แต่ต้นเหตุแท้จริงของกิจกรรมนั้นคือการมีหนังเข้าฉาย (นั่นคือมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์) และสิ่งรองรับการเลือกสรรคือการมีอยู่ของโรงภาพยนตร์ (มีธุรกิจทำโรงภาพยนตร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และธุรกิจยิบย่อยอื่นๆมากมาย เช่น ธุรกิจที่ดิน ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ธุรกิจผลิตน้ำอัดลม ขนมหวาน การตลาด ฯลฯ) และหากสาวลึกลงไปกว่านั้น การตัดสินใจทำกิจกรรมต่างๆของเราล้วนมาจากค่านิยมที่ถูกสร้างหรือฝังรากไว้ก่อน และเป็นฝ่ายดึงเราเข้าหามัน การเลือกดูหนังที่โรงภาพยนตร์มีต้นเหตุมาจากระบบค่านิยมในการดูหนังและรูปแบบทางวัฒนธรรมของการไปดูหนัง ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยมโนทัศน์บริโภคนิยมของสิ่งประดิษฐ์เชิงพาณิชย์เพื่อความบันเทิง เสริมเติมด้วยการให้คุณค่าทางศิลปะ ด้วยเหตุนี้ ความต้องการและการเลือกที่จะไปดูหนังที่โรงหนังจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจเชิงปัจเจกอย่างที่เรารู้สึก หากแต่เพราะเราต่างถูกขับเคลื่อนโดยกลไกหลายมิติของระบบและรูปแบบ  

ไม่ใช่เพียงระบบและรูปแบบของบริโภคนิยมที่บงการชีวิตประจำวันของเรา พื้นฐานไปกว่านั้นคือการติดบ่วงควบคุมผ่านวิธีจัดผังเมืองของกลุ่มอำนาจ ถนนหนทางทั้งหลายที่เราใช้ในการจราจรไม่ได้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันสร้างโดยผู้คนทั่วไปเพื่อประโยชน์ใช้สอยส่วนรวม หากแต่มีจุดเริ่มที่แนวคิดและนโยบายของระบบอำนาจแห่งยุคสมัย ครั้งหนึ่งเส้นทางหลักของเมืองใหญ่หรือเมืองหลวงเคยเป็นถนนทอดสู่ราชวัง ในปัจจุบันถนนหนทางถูกสร้างเพื่อเชื่อมต่อท่อน้ำเลี้ยงทางเศรษฐกิจ ต้นทางของอำนาจอาจเปลี่ยนไป แต่ความเป็นฟันเฟืองของผู้คนยังคงสืบสานตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ชุมชนที่เคยกันดารห่างไกลศูนย์กลางไม่ได้คึกคักเข้มข้นและเพิ่มมูลค่าขึ้นเพราะจู่ๆคนในท้องที่มีความตื่นตัวสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นพิเศษ หากแต่เพราะมีสถานีรถไฟฟ้า มีห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ หรือมีคอนโดฯระฟ้าแห่งใหม่ไปผุดโผล่ จากที่เคยถูกชักใยโดยกลไกของระบบและรูปแบบอำนาจปกครองเบ็ดเสร็จ เราเพียงเปลี่ยนเข้ามาสู่กรอบบงการของระบบและรูปแบบอำนาจอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งจะดีหรือเลวกว่าเดิม อาจขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่และกลุ่มคน ไม่มีคำตอบตายตัว

อำนาจของภาครัฐและอำนาจทางเศรษฐกิจมีความผูกพันถักสานกันอยู่อย่างแนบแน่นลึกซึ้ง บางคนเชื่อว่าการมีเงินซื้อรถขับคือหมุดหมายหนึ่งของชีวิตสมัยใหม่ มันเป็นสัญลักษณ์แทนสถานภาพและความสำเร็จบางอย่าง สำหรับบางครอบครัวมันอาจเป็นความจำยอมเพื่อแลกกับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย แต่การให้ค่าหรือให้ความหมายกับการมีรถเป็นเรื่องมาทีหลัง เกิดจากโฆษณาชวนเชื่ออันชาญฉลาดที่กลายสถานะเป็นอุดมคติและสัจธรรมสำหรับคนจำนวนมาก แต่สิ่งที่ถูกสร้างก่อนหน้านั้นคือการวางระบบและการจัดรูปแบบโดยภาครัฐ ชี้นำทิศทางของสังคมและพื้นที่ การออกแบบถนนหนทางเพื่อรองรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และธุรกิจพ่วงท้ายต่างๆที่มีขึ้นได้เพราะมีถนนและมีรถยนต์ ความภูมิใจหรือกระทั่งความปลื้มเปรมที่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์คันหนึ่งจึงมีต้นกำเนิดห่างไกลจากความหมายที่ปัจเจกมอบให้ตัวเองอยู่หลายมิติ โดยลึกๆแล้วมันคือความสำเร็จอันงดงามของระบบและรูปแบบที่ควบคุมปัจเจกเอาไว้ คือการเฉลิมฉลองความราบรื่นไร้ร่องรอยขรุขระของกลุ่มอำนาจ

ในเมืองที่ผู้คนพร้อมจะทนอยู่กับการมีคุณภาพชีวิตต่ำ เพราะการออกเสียงเรียกร้องใดๆไม่เคยส่งผลลัพธ์ในทางบวกให้เห็นบ่อยนัก (ส่วนใหญ่เพราะกลุ่มอำนาจในสังคมที่ครอบเมืองนั้นไม่ “เห็นหัว” สามัญชน) ระบบและรูปแบบจะยิ่งแข็งแกร่งในการสานต่อและขยายอานุภาพของตัวมันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันสามารถเกลี้ยกล่อมให้ผู้คนคล้อยตามว่าการอยู่ในกรอบในกรงเป็นเรื่องเหมาะสมกว่าความเปลี่ยนแปลง (เช่น “เป็นแบบนี้มานานแล้ว” แปลว่ามีคุณค่าเชิงอนุรักษ์ และน่าไว้เนื้อเชื่อใจกว่าสิ่งใหม่ๆที่คาดเดาทิศทางไม่ได้) นั่นคือมันประสบความสำเร็จในการสร้างฝักฝ่ายในหมู่ผู้คนธรรมดาสามัญด้วยกันเอง สร้างฝ่ายที่พร้อมจะปกป้องอิทธิพลเก่าเอาไว้จากฝั่งที่ต้องการรื้อล้างระบบหรือปรับปรุงรูปแบบเพื่อชีวิตที่อาจน่าพิสมัยกว่า และสร้างวาทกรรม “ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด” ขึ้นเพื่อกลบเกลื่อนบทบาทบงการของมัน (เพราะ “หน้าที่” เหล่านั้นถูกสร้างโดยระบบและรูปแบบ) ส่งผลให้ผู้คนเวียนวนอยู่ในวัฏจักรแห่งระบบและรูปแบบเก่าๆด้วยความคิดที่ว่านั่นคือการ “ทำประโยชน์” ต่อสังคมอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดแล้ว

จริงอยู่ ความเป็นสังคมอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะพึ่งพาการสร้างระบบและการมีรูปแบบบางอย่าง และไม่ว่าในมิติใดมิติหนึ่งคนเราล้วนตกอยู่ภายใต้บงการของระบบและรูปแบบ ซึ่งอาจเป็นความหมายจริงแท้ที่สุดของการมีชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน อำนาจในการวางระบบและสร้างสรรค์รูปแบบทางสังคมก็สามารถเปลี่ยนมือได้อย่างไม่ต้องสงสัย ประวัติศาสตร์มีตัวอย่างการต่อสู้แย่งชิงอำนาจนั้นมาไม่น้อย ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว

เพราะเมืองใหญ่มักเป็นศูนย์กลางของอำนาจที่สร้างระบบและรูปแบบบงการสังคมนั้นๆ คุณภาพชีวิตของคนเมืองจึงมักเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจกับประชาชนทั่วไปได้ดีด้วยเช่นกัน และระยะเวลาของความอดทนอดกลั้นที่ผู้คนจะยอมอยู่กับคุณภาพชีวิตต่ำๆอย่างซ้ำซาก ก็เป็นตัววัดความเชื่อง ความกลัว ความมัวเมา ความปลดปลงไร้ทางสู้ที่ผู้คนมีต่อระบบและรูปแบบ รวมทั้งยังวัดระดับความโหดเหี้ยม เฉยเมย เย็นชา ที่กลุ่มอำนาจมีต่อมนุษย์ในสังคม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 30

  • absorn
    ถ้ามองข้ามความรกรุงรังของการประดิษฐ์คำ บทความนี้ก็วิพากษ์สังคมได้อย่างน่าคิด แต่นั่นแหละชุดสูทกับเนคไทคงเหมาะกับงานเลี้ยงหรูๆหรือห้องแอร์ ประชาชนธรรมดาในประเทศนี้คงไม่ใส่เดินถนนกระมัง
    19 ก.ค. 2561 เวลา 13.37 น.
  • montree
    ขึันอยู่ที่ว่าเราจะกำหนดตัวเองหรือให้คนอื่นกำหนดให้ แค่นี้แหละ
    19 ก.ค. 2561 เวลา 15.01 น.
  • @...
    สังคมเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดทุกอย่างขึ้นมาได้.
    19 ก.ค. 2561 เวลา 13.00 น.
  • ใครว่ะ
    19 ก.ค. 2561 เวลา 12.51 น.
  • ประยูร พลเสน
    ขอบคุณสำหรับบทความที่สะท้อนสังคมในรูปแบบ ปัจเจก ในมุมมองของท่านบรรณาธิการมีทางออก สั้นๆที่เข้าใจง่ายๆสำหรับชาวบ้านต่างจังหวัดที่ค่าใช้จ่าย พอๆกับเมืองหลวง ซึ่งในอดีตได้อ่าน ขบวนการแก้จนของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ท่านบรรณาธิการเห็นอย่างไรครับ การแก้ไขทำไมต้องยกบทเรียนเก่า ข้อมูลในอดีตกลับมาใช้ในการแก้ปัญหา ขอบคุณครับ
    23 ก.ค. 2561 เวลา 17.34 น.
ดูทั้งหมด