ทางการยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทง เช่น ในเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้ข้อมูลว่า ประเพณีการลอยกระทงของไทยนั้นรับ วัฒนธรรมประเพณีมาจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในอินเดียเรียกประเพณีนี้ว่า ‘ทีปะวารี’ (ทีปาวลี) และประเพณีลอยกระทงนี้ยังเป็นพิธีบูชาพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีอีกด้วย
เช่นเดียวกันกับที่ทางการยังโปรโมตว่าลอยกระทงมีกำเนิดที่อาณาจักรสุโขทัย ทั้งหมดนี้ สะท้อนถึงการไม่ค้นคว้าและติดตามการเปลี่ยนแปลงของความรู้ ไม่แปลกใจที่คุณภาพของการศึกษาไทยจะไปไม่ถึงไหน
ทำไมคนไทยจึงเชื่อว่าลอยกระทงมีมาแต่ครั้งยุคสุโขทัยเพราะ หนึ่งเชื่อตามวรรณกรรมเรื่อง นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งมีฉากและชื่อตัวละครเป็นยุคสุโขทัย แต่แท้จริงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระวินิจฉัยว่าแต่งในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
สองเชื่อตามที่อธิบายไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งอธิบายว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นในรัชสมัยของพระอรุณมหาราช ซึ่งความรู้ชุดนี้ก็เผยแพร่ในแบบเรียนและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนับแต่ปี พ.ศ. 2520 มีการจัดงานลอยกระทงที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ก็ยิ่งทำให้คนในสังคมจดจำ ยากที่ จะรื้อถอนความทรงจำนี้ออกไป
ความจริงในกลุ่มนักประวัติศาสตร์ทางเลือกต่างนำเสนอมานานแล้วว่า ลอยกระทงไม่ได้กำเนิดขึ้นที่สุโขทัย และไม่ได้มีเฉพาะในไทย หากแต่เป็นประเพณีที่แชร์ร่วมกันหลายประเทศ
ภาพสลักเล่าเรื่องลอยกระทงที่ปราสาทบายน อายุราว พ.ศ. 1750 แถวล่างเป็นนางในที่กำลังถือกระทง
หลักฐานเก่าสุดอยู่ที่เขมร
แม้ว่าไม่มีใครสามารถชี้ชัดลงได้ว่าลอยกระทงกำเนิดขึ้นเมื่อใดและมาจากไหน แต่มีความเป็นไปได้ที่ลอยกระทงเป็นพิธีขอขมาผีน้ำมาก่อน ดังจะเห็นได้จากบางท้องที่ทุกวันนี้ยังใช้กระทงรูปเรือใส่อาหารและเงินลงไปเพื่อลอยไปให้ผี
ต่อเมื่อรับศาสนาจากอินเดียเมื่อสัก 2,000 ปีที่แล้ว จึงแปลงผีน้ำให้เป็นพระแม่คงคา เพื่อทำให้ประเพณีศักดิ์สิทธิ์ขึ้น แต่ร่องรอยบูชาผีก็ยังเห็นได้จากการใส่เงินลงไปในกระทง
สุจิตต์ วงษ์เทศ เชื่อว่าลอยกระทงเป็นประเพณีที่สืบมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ และไม่ใช่ของสุโขทัย เพราะไม่ปรากฏในจารึกหลักใด มีเพียงคำว่า ‘เผาเทียนเล่นไฟ’ อีกทั้งสุโขทัยเป็นเมืองแล้งน้ำ จึงต้องขุดตระพังเพื่อกักเก็บน้ำ ไม่ได้ใช้ลอยกระทงแบบที่เห็นในสื่อทุกวันนี้ แต่ลอยกระทงนั้นเป็นของเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือกรุงศรีอยุธยา
นางในถือกระทงเตรียมลอยกันที่ท่าน้ำ ภาพสลักหินที่ปราสาทบายน กัมพูชา
กรุงศรีอยุธยามีวัฒนธรรมร่วมกับเขมรอย่างสูง จึงคงจะสืบทอดประเพณีลอยกระทงมาจากเขมร เมืองพระนคร มีหลักฐานให้เห็นอยู่ที่ภาพสลักที่ปราสาทบายน (อายุราว พ.ศ.1750 เก่ากว่าสุโขทัย) เป็นรูปนางในถือกระทงเรียงกันเป็นแถว เพื่อลอยกระทงลงในแม่น้ำ เหนือภาพของนางในมีภาพของกษัตริย์นั่งในเรือ แวดล้อมด้วยนางสนมที่มีกระทงในมือ แสดงว่าลอยกระทงเป็นประเพณีที่ราชสำนักให้ความสำคัญ
ภาพวาดการลอยกระทงในจีนสมัยโบราณ กระทงทำเป็นรูปดอกบัวแบบไทย
Photo: history.sina.com.cn
ลอยกระทงมาจากจีน?
นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า ลอยกระทงอาจมาจากจีน ดร.ศิริวรรณ วรชัยยุทธ สาขาวิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่า วัฒนธรรมจีนมีลอยกระทง แต่เรียกว่า ‘ลอยโคม’ (ฟั่งเหอเติง) รูปร่างของโคมก็คล้ายกับกระทงของไทย แต่ไม่ได้ลอยเพื่อขอขมาพระแม่คงคา หากแต่ลอยเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ และยังส่องทางให้ผีขึ้นมาสู่โลกมนุษย์
ประเพณีนี้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ราชวงศ์ถัง และแพร่หลายทั่วจีนในสมัยราชวงศ์หยวน โคมในตลาดของจีนสมัยราชวงศ์หมิง-ชิง ทำเป็นรูปดอกบัว มีทั้งลอยในแม่น้ำและทะเล นอกจากเป็นงานอุทิศส่วนกุศลให้คนตายแล้ว ยังเป็นงานสนุกสนานรื่นเริงด้วย
เป็นไปได้เหมือนกันว่า ลอยกระทงอาจมาจากลอยโคม พระยาอนุมานราชธนให้ความเห็นว่า การลอยกระทงนี้แต่เดิมเรียกว่า ‘ชักโคมลอยโคม’ ซึ่งปรากฏอยู่ในนางนพมาศ รูปร่างโคมจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ แต่นางนพมาศมาประดิษฐ์ให้เป็นรูปดอกบัว (พระยาอนุมานราชธน 2504:6) แนวคิดการทำกระทงรูปดอกบัวของนางนพมาศ ซึ่งเป็นวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ คงได้มาจากจีน
*ทีปาวลี เป็นพิธีบูชาเทพเจ้า *
ทีปาวลีถือเป็นเทศกาลแห่งแสงสว่าง และปีใหม่ของอินเดีย เพราะเป็นการเปลี่ยนฤดูจากฝนไปหนาว จึงจัดในช่วงราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ในเทศกาลนี้จะมีการจุดประทีปใส่ถ้วยเล็กๆ วางตามบ้าน ท่าน้ำ และบางที่ลอยในแม่น้ำคงคา แต่ไม่ทำเป็นรูปกระทงแบบไทยหรือจีน
มีเพียงเมืองพาราณสีที่เดียวที่พบว่ามีการลอยประทีปลงแม่น้ำ ประทีปนี้ทำจากใบไม้แห้งเป็นรูปทรงคล้ายชามเล็กๆ ใส่ดอกไม้ จากนั้นจึงเอาไปลอยในแม่น้ำคงคา หรือตั้งตามท่าน้ำเพื่อบูชาเทพเจ้า
เหตุที่คนอินเดียทำพิธีทีปาวลี เพราะมีตำนานเล่ากันว่า เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการนิวัตินครอโยธยาของพระรามและพระนางสีดา ชาวเมืองต่างปีติยินดีจึงต่างพากันจุดประทีปประดับประดาทั่วเมือง
แต่มีอีกความเชื่อว่า เป็นเทศกาลบูชาพระแม่ลักษมี ซึ่งเป็นเทพีแห่งความร่ำรวยและโชคลาภ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พ่อค้าจุดประทีปบูชากันมาก เพื่อหวังให้ชีวิตร่ำรวยสว่างไสว
ดังนั้น ทีปาวดีจึงไม่เกี่ยวกับการบูชาพระแม่คงคา หรือพุทธประวัติแต่อย่างใด
ลอยกระทง ประเพณีเชื่อมโลกวิญญาณ
ไม่ว่าจะเป็นลอยกระทง ลอยประทีป หรือลอยโคม จะพบว่าประเพณีเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับโลกหลังความตาย
ในจีนเชื่อว่า แม่น้ำเป็นทางเชื่อมหรือแดนต่อระหว่างยมโลกกับมนุษยโลก การลอยโคมก็เพื่อส่องทางให้ผีข้ามแม่น้ำไน่เหอ
มีตำนานหนึ่งน่าสนใจเล่าว่า พระมารดาของพระโมคคัลลานะได้ทนทุกข์อยู่ในนรก ด้วยความอยากช่วยพระมารดา พระโมคคัลลาจึงได้ถวายเครื่องไทยทานให้ ส่งผลให้พระมารดาพ้นทุกข์ ต่อมาในยุคราชวงศ์เหนือใต้ได้ผนวกความเชื่อนี้เข้ากับงานลอยโคม
ในส่วนของตำนานรอยพระพุทธบาทนั้น พระยาอนุมานราชธนได้อธิบายว่า ที่นางนพมาศลอยโคมเพื่ออุทิศสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานทีในอินเดีย ซึ่งพญานาคอัญเชิญให้พระพุทธเจ้าทรงเหยียบไว้นั้น มีการบันทึกไว้ว่า เมื่อได้สอบถามพบว่า ‘ผู้ชำนาญบาลี ก็ว่าเรื่องนี้ไม่เคยพบในที่ใดในพระคัมภีร์ เห็นจะเป็นเรื่องปรัมปราแต่งขึ้นทีหลัง เพื่ออธิบายถึงต้นเหตุลอยกระทง แต่เรื่องเงินปลีกใส่ในกระทงไม่มีกล่าวเลย และก็ไม่เห็นเหตุว่าถ้าเป็นเรื่องบูชาพระพุทธบาท ที่ใส่เงินปลีกไปด้วยเพื่อประโยชน์อันใด’ (พระยาอนุมานราชธน 6)
สรุปสั้นๆ คือ ลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธบาทไม่มีในอินเดีย เป็นตำนานท้องถิ่น แต่เอาเป็นว่า ตำนานนี้ก็บอกเราว่า กระทงนั้นเชื่อมโยงกับนาค ซึ่งคนโบราณถือว่า นาคหรืองูเป็นสะพานเชื่อมต่อกับโลกหลังความตาย
มีอีกตำนานหนึ่งที่น่าสนใจ จะขอเล่าอย่างสั้นๆ คือ เมื่อครั้งดึกดำบรรพ์ กาเผือกสองตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นไม้ วันหนึ่งเกิดพายุ ไข่ของแม่กา 5 ใบจึงตกลงไปในน้ำ ไข่ทั้ง 5 ใบนี้มีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์ เอาไปอุปการะอย่างละฟอง เมื่อไข่ฟักได้เกิดเป็นมนุษย์ และไปบวชเป็นฤษี ซึ่งแต่ละองค์มีนามตรงกับพระพุทธเจ้า 5 องค์ ได้แก่ กุกุตสันโธ โกนาคมโน กัสสโป โคตโม เมเตโย
ภายหลังเมื่อทั้งหมดตรัสรู้กลายเป็นพระพุทธเจ้า พระมารดาซึ่งกลายเป็นท้าวพกาพรหมจึงจำแลงลงมาเป็นกาเผือก และบอกลูกทั้งหมดว่า หากวันใดคิดถึงตน ในวันเพ็ญเดือน 12 ให้เอาด้ายดิบผูกเป็นตีนกา และปักธูปเทียนบูชาลอยกระทงลงในแม่น้ำ
สรุปตำนานข้างต้นก็คือ กระทงเป็นเครื่องสื่อสารถึงคนในโลกหลังความตาย
นอกจากนี้กระทงยังอาจมีต้นเค้าและสัมพันธ์กับเรือส่งวิญญาณ พระยาอนุมานราชธน (2504:8) เล่าว่า ในประเพณีของหลวงสมัยก่อนในกลางเดือน 11 จะทำเป็นกระทงรูปเรือขนาดเล็กลอยกัน
ทางภาคเหนือในวัดใหญ่หลายหมู่บ้านจะจัดทำกระทงใหญ่เป็นรูปเรือ เรียกว่า ‘สะเปา’ (คำนี้คงมาจากคำว่า สำเภา) ซึ่งจะตั้งไว้กลางลานวัด ภายในบรรจุของกินของใช้เอาไว้ จากนั้นเมื่อตกเย็น ชาวบ้านก็จะนำกระทงเล็กพร้อมกับเรือสะเปาไปล่องในแม่น้ำ โดยมีเป้าหมายอย่างหนึ่งคือเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษ (ปัจจุบันการลอยสะเปาบางที่ถูกจัดเป็นประเพณีใหญ่โต เพราะการท่องเที่ยวและกระแสท้องถิ่นนิยม)
แต่เมื่อผู้คนในภูมิภาคนี้รับความเชื่อในศาสนาพุทธจากอินเดียมา จึงได้ผสมผสานความเชื่อเดิม และอธิบายเสียใหม่ว่าลอยกระทงทำไปเพื่อขอขมาพระแม่คงคา หรือบูชาพระพุทธบาทนั่นเอง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ค้นคว้าเพิ่มเติมได้จาก
- พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, บรรณาธิการ. 2558. ลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมน้ำร่วมราก.กรุงเทพฯ: โครงการศิลป์เสวนาพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. สามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ที่ http://arts.tu.ac.th/culture/Master%20Kratong4.pdf
- สุจิตต์ วงษ์เทศ. “ลอยกระทง, เห่เรือ มาจากไหน?,” ใน ลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมน้ำร่วมราก.กรุงเทพฯ: โครงการศิลป์เสวนาพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.
- ศิริวรรณ วรชัยยุทธ. “ลอยโคม-ลอยกระทงในแบบวัฒนธรรมจีน,” ใน ลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมน้ำร่วมราก. กรุงเทพฯ: โครงการศิลป์เสวนาพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.
- กิตติพงศ์ บุญเกิด. “เทศกาลทีปาวลี และเทวทีปาวลีของอินเดีย,” ใน ลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมน้ำร่วมราก. กรุงเทพฯ: โครงการศิลป์เสวนาพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.
- พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ). 2504. เทศกาลลอยกระทง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
ความเห็น 10
MANDIE (王 智源)
อาจเป็นประเพณีที่เราต้องมาสรุปกันว่า จะปรับยังไงไม่ให้กระทบแหล่งน้ำ ถ้ายังต้องการคงประเพณีนี้ไว้อยู่ เนื่องจากประชากรเยอะกว่าอดีต จำนวนกระทงที่ลงแหล่งน้ำจึงมากขึ้นตาม แต่แหล่งน้ำเราก็มีเท่าเดิม
21 พ.ย. 2561 เวลา 13.15 น.
Coraggioso,Tyti
อ่านตั้งนาน สรุปคือ ก็ไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนเนอะ
แต่ตำนานบางอย่างก็ต่างจากที่เราเคยรู้นะ อย่างลูกนก5ตัว ที่เรารู้คือ ลูกนกตัวสุดท้าย พระฤาษีเป็นคนเก็บไปเลี้ยง เลยเปนที่มาของชื่อ พระศรีอริยเมตไตรย์
21 พ.ย. 2561 เวลา 14.02 น.
Ton, Terawood
อะไรก็เชื่อไม่ได้100%หรอก
เรื่องผ่านมาเปนร้อยปีพันปี
แค่เรื่องที่มันเกิดทุกวันนี้
ตามข่าวบางทียังเชื่อไม่ได้เลย
21 พ.ย. 2561 เวลา 13.57 น.
JeaB 🐥
เรายืมเค้ามาใช่ เยอะเลย เทศกาลต่างๆ ประเพณีอีกมากมาย ยืมเค้ามาใช้ ทั้งนั้น.
21 พ.ย. 2561 เวลา 12.52 น.
Fresh
ประเพณีสงกรานต์ก็เช่นกันครับ ไม่ได้เป็นของคนไทยแท้ๆ
21 พ.ย. 2561 เวลา 12.40 น.
ดูทั้งหมด