ขอมือขวาหน่อย!!!ใครเกิดทันดู“ไมโคร” วงร็อกในตำนานวงการเพลงไทย
ขวัญใจขาโจ๋ กับความสนุกของคอนเสิร์ตยุค 80's “วงไมโคร” ผู้เป็นอีกหนึ่งตำนานของวงการเพลงร็อกเมืองไทย เตรียมชูมือขวา แล้วมาย้อนกลับไปรำลึกถึงความหลัง ในวันที่เสื้อยืดสีดำ กางเกงยีนส์ เป็นไอเทมของวัยรุ่นแดนสยาม
เพลงร็อก เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงยุค 70’s หลังสงครามเวียดนาม แต่ก็จะเป็นแนว เฮฟวี่เมทัล( Heavy Metal ) และฮาร์ดร็อก( Hard Rock ) ซึ่งกลิ่นดนตรีแนวนี้มีผู้ฟังอยู่จำกัด ภาพลักษณ์ของวงร็อก จึงมีไว้เพื่อทหารอเมริกันที่นั่งฟังแถวอ่าวท่าเรือ มีสุรา เบียร์แก้วโต นารีคลอเคลีย โดยมีผู้บุกเบิกยุคแรก ได้แก่ “แหลมมอริสัน” และ “ดิโอฬารโปรเจ็คต์” เพลงร็อกเป็นของต้องห้ามจากผู้ปกครอง ก็คล้ายมอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์ หรือ บิ๊กไบค์ ที่อุดมไปด้วยความอันตรายอยู่รายล้อม วัยรุ่นในยุค 80’s จึงมีแต่ดนตรีป็อปเท่านั้น ที่ได้รับการสนับสนุน ถ้าไม่ใช่ วงฟรุตตี้หรือเรนโบว์ วัยรุ่นก็อย่าหวังจะได้ไปนั่งฟังเพลง ดนตรีร็อกแบบ คาราวานคาราบาว มีไว้ให้คนแนวเพื่อชีวิต ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีชื่อเรียกกลุ่มผู้ฟังประเภทนี้ด้วยซ้ำ
ร็อกอาบน้ำ เมื่อวงดนตรีเล็ก ๆ จากจังหวัดระยอง ฟอร์มทีมกันเล่นตามผับบาร์ จนไปเข้าตา คุณอา “เปี๊ยกโปสเตอร์” ( ปี 2527 ภายในชื่อวง เดอะ แคร็บ ) จึงทำให้นักร้องนำหนุ่มหล่อเข้าสู่วงการบันเทิง นำร่องชื่อเสียงด้วยการเล่นหนัง ก่อนจะมีภาพยนตร์ดัง 4 เรื่องติดกัน ได้แก่ น้ำพุ , ข้างหลังภาพ , แรงเงา และ ปัญญาชนก้นครัว จากชื่อเสียงของนักร้องนำของวงนี้เอง ทำให้วงไมโคร ได้มีโอกาสออกอัลบั้มภายใต้ชื่อวงไมโคร ซึ่งมีภาพลักษณ์แตกต่างจากวงร็อกทั่วไปที่ทยอยถือกำเนิดขึ้น โดยนักร้องนำ อำพลลำพูน “หนุ่ย” มีใบหน้าอันหล่อเหลา ไม่ได้ผมยาวรุงรัง แถมเป็นพระเอกเบอร์ต้นของวงการบันเทิงไทย ( ดารานำชายยอดเยี่ยม เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เอเชีย-แปซิฟิก ) จึงทำให้ วงไมโครเป็นที่รู้จักได้รวมเร็วและมีพื้นที่บนสื่อเสมอ ร็อกเริ่มไม่ใช่ของสกปรก ไม่ต้องไว้ผมเผ้ายาวคล้ายไม่ได้สระ ไม่ต้องมีเหล้า ยา อยู่ในทุกคอนเสิร์ตไป
ร็อกปอนปอน ในปี 2529 กลิ่นดนตรีแบบโรแมนติกร็อก ถูกปล่อยออกมาให้ผู้ฟังได้ยินกัน ดูแลการผลิตโดย นักร้องชื่อดังระดับต้นของประเทศอย่าง อัสนีโชติกุลและเรวัตพุทธินันทร์ ซิงเกิล รักปอนปอน เนื้อร้องโดย นิติพงษ์ห่อนาค ได้ซึมลึกไปถึงหัวใจของวัยรุ่นชายยุค 80 โดยแท้ เพราะมันมีความเพ้อฝัน เหมือนเป็นละครเรื่องหนึ่งในเนื้อหา เป็นเพลงที่ชายหนุ่มพึงมอบให้หญิงสาวซึ่งตัวเองสนใจ เพลงจึงถูกขอให้เปิดมอบให้คนนั้น คนนี้ วนเวียนไปมาจนคุ้นหู นักศึกษาหาซื้อกีตาร์มาแกะคอร์ดเล่นเพลง เพื่อจะมอบมันเป็นของขวัญในยามจีบกัน เพลงที่เหลือใน "อัลบั้ม ร็อค เล็ก เล็ก" ทยอยดังขึ้น อย่าง อย่าดีกว่า, อยากจะบอกใครสักคน และ จำฝังใจ ไมโครเริ่มมีคอนเสิร์ตและกลายเป็นศิลปินงานชุกที่สุดในประเภทวงร็อก
ดวงใจเราเอาไปเลย ในปี 2531 ระยะห่างเพียง 2 ปี จากอัลบั้มแรก แต่ไมโครไม่ได้หนีหายไปจากสื่อ เพราะนักร้องนำ อำพล ลำพูน ยังมีงานภาพยนตร์ต่อเนื่อง เมื่อพระเอกเบอร์ 1 อยู่ใน วงร็อก เบอร์ 1 ทำให้วงไมโครในอัลบั้มที่ 2 ต่างเป็นที่เฝ้ารอ
เมื่อเพลง หมื่นฟาเรนไฮต์ ชื่อเดียวกับอัลบั้มถูกปล่อยออกมา แฟนเพลงยังลังเลอยู่ว่า ไมโครจะดังอีกไหม เพราะในสมัยก่อน การออกอัลบั้มที่ 2 แล้วจะโด่งดังเท่าอัลบั้มชุดแรกเป็นเรื่องยาก (จนผู้คนพากันเรียกว่า อาถรรพ์ชุดที่ 2) แต่แล้ว เมื่อเพลง ใจโทรมๆ ถูกปล่อยตามออกมา ก็ถูกใจแฟนเพลงเหมือนที่ รักปอนปอน เคยทำไว้ แล้วยังมีเพลงเร็วอย่าง พายุ หรือเพลงกินใจอย่าง บอกมาคำเดียว ให้ได้เป็นที่ชื่นชอบ กระนั้น ยังไม่มีเพลงอะไรจะกระแทกใจแฟนเพลงได้เท่ากับเพลง เอาไปเลย
คอนเสิร์ตไมโคร=มันใหญ่มากยุค80 เมื่อวัยรุ่นตั้งหน้าตั้งตารอ แต่งองค์ทรงเครื่องเป็นชาวร็อกแล้วไปเย้วกันหน้าเวที แน่นอนว่าคอนเสิร์ตร็อกเป็นคอนเสิร์ตของผู้ชาย แต่ว่าวงไมโคร สร้างปรากฏการณ์ใหม่กว่านั้น เมื่อสาวน้อยสาวใหญ่ที่คลั่งไคล้ในความหล่อของนักร้องนำ ก็สนใจที่จะมาชม จึงทำให้มีวัยรุ่นสาวซ่าแต่งตัวสไตล์ร็อกไปดูคอนเสิร์ตด้วยเช่นกัน ถ้าแว๊น กับ สก๊อย ในสมัยนี้ เป็นนิยามของวัยรุ่นยุค 4.0 แฟนเพลงไมโคร ก็คงจะเช่นนั้น หนุ่มน้อยใหญ่เตรียมตัวไปดูคอนเสิร์ต และไปเกี้ยวสาว ไปเหล่ดูความงามของเหล่า “ดอกไม้ในช่อยีนส์” แน่นอนว่า มีการทะเลาะและต่อยตี แล้วนั่น ยิ่งทำให้แต่ละคอนเสิร์ตโด่งดังขึ้นไป
เกินใจของคน(ฟัง)จะทน เมื่อปี 2532 อัลบั้มที่ 3 ของวง ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัลบั้มซึ่งมีจำนวนเพลงดังมากที่สุดของวงไมโคร ไม่ว่าจะเป็นเพลง ส้มหล่น ที่ปล่อยมาอย่างก๋ากั่นด้วยเนื้อหาที่แหวกแนว เพลงดับเครื่องชนซึ่งถูกใจคอดนตรีร็อก เพลงช้ากินใจ รุนแรงเหลือเกิน, คนไม่มีสิทธิ์ และเพลงที่อยู่ในใจแฟนเพลงอย่าง เติมน้ำมัน
ตีกันมันหยด เมื่อมีเพลงร็อก ก็มีการตีกัน ฮอร์โมนเพศชายพุ่ง แถมมีสาวสวยให้แย่งกัน ทำเอาคอนเสิร์ตของไมโคร ถูกคาดหวังจากนักข่าวว่าจะต้องมีการวิวาทของแฟนเพลงในทุกการแสดง แต่ที่ทำให้ถึงกับต้องยกเลิกคอนเสิร์ตกันไป ก็คือ “คอนเสิร์ตเติมสีเขียว” มีการทะเลาะและตีกันจนคอนเสิร์ตต้องหยุดชะงักลง ทางกลุ่มผู้จัดคอนเสิร์ต ( ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ) จึงส่ง “คอนเสิร์ตเติมสีเขียวหวาน” ขึ้นมา ให้มีการขายบัตรเข้าชมแค่สตรี เท่านั้น คอนเสิร์ตนี้แม้ฝนจะตกลงมาได้ตั้งแต่ช่วงต้นจนซาวด์ดับไป ถูกร้องลั่นสนั่นลานลอยฟ้าของเซ็นทรัลลาดพร้าว เพราะผู้ฟังซึ่งมีแต่ผู้หญิงนั้น ไม่ยอมกลับบ้าน ร้องปากเปล่าท่ามกลางสายฝนจนเปียกปอน เป็นเครื่องการันตีของแฟนคลับร็อกว่า สุดติ่ง กว่าใคร
ทำไมต้องมือขวา ด้วยความที่นักร้องนำถนัดถือไมโครโฟนมือซ้าย จึงทำให้ชูมือขวาโยกตัวอยู่เสมอ และเมื่อมีแฟนเพลงชูขึ้นมาโยกตามไอดอลของเขามากขึ้น จึงมักได้ยินนักร้องนำ “ขอมือขวาหน่อย” อยู่เสมอ คนที่ไปดูคอนเสิร์ต จึงชูมือขวากันขึ้น มอบตอบแทนกลับให้วงไมโคร แสดงให้เห็นว่า พวกเขารักไมโครกันแค่ไหน
ร็อกรับแขก จะมีสักกี่ประเทศที่เอาวงร็อกไว้รับแขกบ้านแขกเมือง แต่เมื่ออดีต นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น “พลเอกชาติชายชุณหะวัณ” เลือกวงไมโครมาต้อนรับนักกีฬาซีเกมส์ แสดงคอนเสิร์ตเปิดพิธีการ และในปีเดียวกันนี้ ยังเป็นตัวแทนของประเทศไทย ไปแสดงในเทศกาลร็อกนานาชาติ ที่เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ไมโครมีทัวร์คอนเสิร์ตยาวตลอดปีพร้อมการรับงานที่เพิ่มขึ้นของนักร้องนำ
การเมืองร้อนฉ่าหมื่นฟาเรนไฮต์ระเบิดวงให้เป็นจุณ??? เมื่อความโด่งดังไปถึงขีดสุด เริ่มมีกระแสข่าวเรื่องการแยกวง ซึ่งในยุคนั้นผู้คนคิดว่า หนุ่ย และ กบ ผู้มีบทบาทในวงมีความเห็นทางการเมืองไม่ลงรอยกัน แต่ว่าวันเวลาหลังจากนั้นจนทุกวันนี้ พิสูจน์แล้วว่า เป็นเพียงแค่แนวเพลงที่อยากจะทำนั้นแตกต่างกันไป ในขณะที่ กบ เดินสายสอนดนตรี และปรับซาวด์ให้โรงเรียน มหาวิทยาลัยจนคิวแน่น ส่วน หนุ่ยก็ยังคงอยากทำเพลงแนวเดิมซึ่งประสบความสำเร็จมาโดยตลอด วงไมโครอยากได้แนวดนตรีที่พุ่งกรุ่นไปกว่าเดิม การแยกตัวจึงเกิดขึ้น
3 อัลบั้มสุดท้าย ก่อนประกาศแยกวง มีเพลงที่ทิ้งไว้ให้ผู้ฟังได้รำลึกถึงอยู่เสมอ เช่นเพลง เลือดเย็น, รักซะให้เข็ด, สุริยคราส, ตายเปล่ารวมถึงเพลงทางไกล อาจเพราะด้วยแนวดนตรีที่หนักหน่วงไปจากเดิม จึงเข้าถึงผู้ฟังได้ประมาณหนึ่ง ในขณะที่ นักร้องนำ ยังคงออกอัลบั้มเดี่ยวและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องด้านยอดขาย แต่วงไมโครก็คว้ารางวัลจากสถาบันต่าง ๆ ในด้านคุณภาพ ซึ่ง รางวัลสีสันอวอร์ดครั้งที่ 4 ปี 2534 ยกให้ วงไมโคร เป็นศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยมประจำปี จากอัลบั้ม เอี่ยมอ่องอรทัย
ขายกันเป็นล้าน ฟากของ อำพลลำพูน มีงานออกเดี่ยวอีก 3 อัลบั้ม ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างเพลงฮิตขึ้นมากมาย จนเป็นไอคอนร็อกเบอร์ต้นของประเทศ ประสบความสำเร็จด้านความนิยม อัลบั้มวัตถุไวไฟ มีเพลงเอก เสียมั๊ย ( แต่งโดย แอม เสาวลักษณ์ ลีละบุตร ) ลางร้าย, หยุดมันเอาไว้, ยังไงก็โดน อีกทั้งยังมีเพลงขึ้นหิ้งตำนานร็อกอย่าง แผลในใจ คับแน่นในอัลบั้ม จนส่งผลให้ยอดขายเกินล้าน ก่อนจะมีอัลบั้มฮิตลำดับถัดมาอย่าง ม้าเหล็ก และอำพลเมืองดี ซึ่งทิ้งเพลง ม้าเหล็ก, ลองเชิงลองใจ, ไว้ใจ และ ฝากรอยเท้า ให้เป็นเพลงคลาสสิกของวงการร็อกสืบต่อเนื่องยาวนานจนทุกวันนี้ ทุกครั้งในคอนเสิร์ตเดี่ยวของ อำพล ก็จะมีวงไมโครมาขึ้นร่วมเป็นแขกพิเศษ ตอกย้ำให้แฟนเพลงได้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของวงไมโครหลังยุบวง ก็ยังแน่นแฟ้นกันดี
วงร็อกแห่งการบุกเบิก ผู้เปลี่ยนความเชื่อของวงการเพลง ผู้สร้างกระแส และครองใจคนฟังในยุคหนึ่ง เรียกได้ว่า ไม่มีใครในประเทศ ที่ละเลยผลงานเพลงของไมโคร ในความทรงจำครั้งเก่า มักถูกรำลึกถึงเสมอเมื่อได้ยินบทเพลงที่วงรังสรรค์เอาไว้ เหมือนร็อกที่ไม่มีวันตาย ชายหนุ่มยังคงนึกถึงเพลงแทนใจที่อยากบอกคนซึ่งแอบชอบ หรือเสื้อผ้าแนวร็อกที่หญิงสาวแอบแม่หยิบหามาใส่ ถูกเก็บมันเอาไว้ในนั้น ในความทรงจำของยุค 80 ที่อิ่มไปด้วยจิตวิญญาณของเสรีชน
ความเห็น 71
ซัวปาเหลา
แม้วันเวลาจะผ่านมาแล้วแต่เหมือนไม่นานเลยจริงๆ
31 มี.ค. 2562 เวลา 11.40 น.
รัตน์ ปากช่อง
ร้องได้ทุกเพลงครับผม แต่ไม่เพราะ ชอบที่สุด
30 มี.ค. 2562 เวลา 12.20 น.
แม่ปิง 32
กำลังเรียน ม.ต้น
29 มี.ค. 2562 เวลา 13.52 น.
K.Moo95
ร้องได้แทบทุกเพลง ร๊อคในตำนาน สมัยนี้ไม่มีวงไหนเล่นได้แน่น เท่านี้เลย
29 มี.ค. 2562 เวลา 13.30 น.
เคยดูไมโครมาแสดงที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ตอนนั้นเรียนอยู่ม.4 พี่หนุ่ยแม่งโคตรเท่
29 มี.ค. 2562 เวลา 13.29 น.
ดูทั้งหมด