โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

เกิดอะไรขึ้น ‘KBANK’ ตั้งสำรองสูงถึง 5 หมื่นล้าน

The Bangkok Insight

อัพเดต 23 ม.ค. 2566 เวลา 14.30 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2566 เวลา 01.40 น. • The Bangkok Insight
เกิดอะไรขึ้น ‘KBANK’ ตั้งสำรองสูงถึง 5 หมื่นล้าน

เกิดอะไรขึ้น 'KBANK' ตั้งสำรองสูงถึง 5 หมื่นล้าน ขณะที่ผลประกอบการปี 2565 กำไรสุทธิทะลุ 3.5 หมื่นล้าน

ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลประกอบการไตรมาส 4/2565 มีรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ 49,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กลับมีกำไรสุทธิ 3,191 ล้านบาท ลดลง 67.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งผลให้ตลอดทั้งปี 2565 KBANK มีกำไรสุทธิรวม 35,770 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 38,053 ล้านบาท

งบ KBANK ที่ประกาศออกมารอบนี้ เรียกว่าช็อคทุกสำนักก็ว่าได้ เพราะต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ก่อนหน้านี้พอสมควร ซึ่งนักวิเคราะห์จาก 10 โบรกเกอร์ ประเมินกำไรไตรมาส 4/2565 ไว้ในช่วง 7,700 - 10,759 ล้านบาท แต่ตัวเลขจริงออกมาเพียง 3,191 ล้านบาทเท่านั้น

คำถามคือเกิดอะไรขึ้น? เมื่อเจาะลึกจุดสำคัญของ KBANK จะพบว่ากำไรจากการดำเนินงานปกติก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้รวม นั้นยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยไตรมาส 4/2565 เท่ากับ 28,357 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.63% จากปีก่อน ส่วนปี 2565 อยู่ที่ 8,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.72% จากปีก่อน

ขณะเดียวกัน รายได้ดอกเบี้ยในปี 2565 ก็ยังเติบโตได้ดีที่ระดับ 11.4% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SMEs อีกทั้งยังมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) ที่สูงขึ้นอยู่ในระดับ 3.33% ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 43.15%

ตั้งสำรอง
ตั้งสำรอง

อย่างไรก็ตาม รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ลดลง 8.42% จากปีก่อน เกิดจากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย ที่ลดลงตามสภาวะตลาด นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้น 5.22% จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า แต่นี่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักที่กระทบงบการเงินบริษัท

เพราะสาเหตุสำคัญก็เนื่องด้วย KBANK ได้มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในไตรมาส 4/2565 เป็นจำนวนมากถึง 22,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้ทั้งปี 2565 มีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้นถึง 51,919 ล้านบาท

การตั้งสำรองขนาดนี้ ถือว่าสูงกว่าธนาคารอื่น ๆ มากทีเดียว จึงทำให้กำไรปรับตัวลดลง เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ตลาดเทขายหุ้น KBANK ร่วงลงกว่า 5.86% ภายในวันเดียว

ธนาคารให้เหตุผลของการตั้งสำรองว่าเพื่อรองรับกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว และมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทยยังคงเปราะบาง ประกอบกับต้องการเสริมความแข็งแกร่ง และเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ โดยธนาคารจึงยังคงดำเนินธุรกิจตามหลักความระมัดระวังรอบคอบภายใต้ทิศทางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน

ตั้งสำรอง
ตั้งสำรอง

คงต้องติดตามกันต่อไปว่าการตั้งสำรองสูงขนาดนี้ สะท้อนถึงความกังวลที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในอนาคตแค่ไหน และมาจากคุณภาพลูกหนี้ของธนาคารที่แย่ลงหรือเปล่า เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักของ KBANK คือ SMEs ซึ่งอาจยังมีความเสี่ยงในปี 2566 โดยพบว่า Coverage ratio ของ KBANK ลดลงจาก 159% เหลือ 154% แปลว่าระหว่างปีมีการใช้เงินสำรองตัดจำหน่ายหนี้เสียออกไปจำนวนมากเหมือนกัน

แต่หากเป็นแค่กลยุทธ์ของบริษัทที่ต้องการดำเนินนโยบายแบบระมัดระวัง และเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว สุดท้ายเงินสำรองก้อนนี้ก็จะถูกบุ๊กกลับมาเป็นกำไรบริษัทอยู่ดี และตลาดก็จะค่อยๆ คลายความกังวลไปเอง ทำให้หุ้น KBANK ยังมี Upside อยู่มาก จากปัจจุบันเทรดที่ PBV ปี 2566 เท่ากับ 0.6 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 1.3 เท่า จึงเป็นโอกาสสำหรับใครที่อยากเข้าสะสม และยอมรับกับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น