วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2564) ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงนโยบายการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สู้ภัยโควิด-19 และความร่วมมือการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรร และเรื่อง “การบริหารจัดการวัคซีน Covid-19 ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ” ณ อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (โยธี )
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ระบุว่า สธ. และ อว. ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สธ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และ อว. ทำงานร่วมกันในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการสนับสนุนทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ และชี้แจ้งสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศทุกวัน รวมถึงการดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุข
- 6 ประเด็นที่ต้องรู้ กับวัคซีนกว่า 200ล้านโดสที่ฉีดทั่วโลก
สำหรับวัคซีน ซึ่งใช้ทั่วโลกไปแล้วเกิน 200 ล้านโดส ภายในเวลา 2 เดือนเศษ โดยเริ่มฉีดเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 64รวม 75 วัน กว่า 200 ล้านโดส เป็นเรื่องน่าทึ่ง โดยเฉพาะ 100 ล้านโดสหลัง ใช้เวลาในการฉีดเร็วขึ้น แต่ละวันมีคนได้รับวัคซีนกว่า 6 ล้านคน โดยขณะนี้ มี 5 ข่าวดี และ 1 ข่าวที่ต้องระวัง คือ 1) ประสิทธิภาพของวัคซีน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง ตรวจพบทั้งแอนติบอดีและการตอบสนองภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ จากเดิมตั้งความหวังว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพ 60-70% แต่ผลจากที่ใช้จริงนั้น ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งวัคซีนจากผู้ผลิตหลักแต่ละบริษัทนั้นให้ผลใกล้เคียงกัน
2) ประสิทธิผลของวัคซีน สามารถป้องกันการเกิดอาการและความรุนแรงจากการติดเชื้อได้ดีมาก ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแม้ว่าได้รับเชื้อ โดยวัคซีนสามารถลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมาก และเมื่อฉีดในประชากรจำนวนเพียงพอในหลายประเทศได้ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลง และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน
3) ความปลอดภัยของวัคซีน ผลการติดตามผลการฉีดในคนจำนวนมากนั้นพบว่า วัคซีนที่ใช้แล้วนั้นมีความปลอดภัยสูง มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบคือการเจ็บที่บริเวณฉีด ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว หรืออ่อนเพลีย ซึ่งหายโดยเร็วในไม่กี่วัน ไม่พบผลข้างเคียงชนิดรุนแรง การแพ้วัคซีนแบบอาการหนักนั้นพบน้อยมากเพียงไม่กี่รายและยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากผลข้างเคียงของวัคซีน
4) วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดีหลังการฉีดเข็มแรก หลังฉีดวัคซีนเข็มแรก จะเริ่มมีภูมิคุ้มกันซึ่งอาจจะสูงเพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อได้แล้วในระดับหนึ่ง พบว่าการยืดเวลาการฉีดเข็มที่สองออกไปทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันดีขึ้นด้วย ดังนั้น จึงอาจจะสามารถยืดระยะเวลาระหว่างการฉีดเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สองได้ เป็นการลดภาระในการเร่งฉีดเข็มที่สอง ทำให้สามารถกระจายวัคซีนที่มีอยู่ไปฉีดให้ครอบคลุมประชากรจำนวนมากขึ้น โดยแทนที่จะเร่งฉีดเข็มที่สองก็จะนำวัคซีนนำไปฉีดเป็นเข็มที่หนึ่งให้กับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงจะมีจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วเพิ่มมากขึ้นอีก
5) ความคงทนของวัคซีน ในช่วงต้นของการพัฒนาวัคซีน พยายามเก็บรักษาและขนส่งวัคซีนในตู้แช่อุณหภูมิต่ำมากเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของวัคซีน ต่อมาพบว่าสามารถเก็บและขนส่งวัคซีนได้ในอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ ลดข้อจำกัดในการขนส่งและการกระจายวัคซีนที่ต้องควบคุมเป็นพิเศษ ซึ่งจะทำให้สามารถกระจายวัคซีนได้ในวงกว้างและเร่งฉีดได้จำนวนมากขึ้น
และ 6) วัคซีนได้ผลลดลงต่อเชื้อไวรัสโควิดบางสายพันธุ์ เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และมีข้อกังวลเรื่องผลการป้องกันต่อเชื้อที่กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ โดยวัคซีนมีประสิทธิผลลดลงต่อเชื้อโควิด-19 บางสายพันธุ์โดยเฉพาะจากแอฟริกาใต้ จึงต้องเตรียมพัฒนาวัคซีนต่อเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆด้วย
"วัคซีนได้ผลดี และประเทศไทยมาถูกทางแล้วในเรื่องนโยบายรวมทั้งการบริหารจัดการเกี่ยวข้องกับวัคซีน เมื่อเริ่มใช้วัคซีนในปลายเดือน ก.พ. นี้ ประเทศไทยจะมีระบบในการติดตามและศึกษาวิจัยให้แน่ใจว่าประชาชนมีความปลอดภัยและได้รับประโยชน์จากวัคซีน ซึ่ง ทาง อว.”
“โดย วช. จะสนับสนุนการวิจัย โดยมีนักวิชาการชั้นนำของประเทศจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และร่วมมือกับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องต่อไปนี้ คือ ตามความปลอดภัยของวัคซีน, ประสิทธิภาพ มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นหรือไม่และนานแค่ไหน, ประสิทธิผล ลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการตายได้หรือไม่, การกลายพันธุ์และมีสายพันธุ์แปลก ๆ ที่ไม่ได้ผลหรือไม่ และบริหารจัดการวัคซีน เช่น วัคซีนพาสปอร์ต การกักตัว การเดินทางระหว่างประเทศ" ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว
- 3 เป้าหมายสำคัญ ในการฉีดวัคซีน
ด้าน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สธ. มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่เริ่มระบาดในระยะแรกจนถึงปัจจุบันที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี แม้ระลอกใหม่จะควบคุมได้ล่าช้า แต่ก็สามารถควบคุมได้ในระยะเวลาอันสั้น และสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือเรื่องการใช้วัคซีนโควิด-19 ซึ่งในช่วงแรกต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพื่อให้ได้คุณภาพและความปลอดภัย
“โดยเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข คือ ต้องการใช้วัคซีนเพื่อป้องกัน ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับประเทศ โดยไทยได้เตรียมการเพื่อให้ได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมีการจองวัคซีนโควิด-19 แล้วถึง 63 ล้านโดส กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อฉีดให้ครบทั้ง 63 ล้านโดสภายในปีนี้ เพราะหากไม่เกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศ เราก็เปิดประเทศไม่ได้ และเมื่อมีภูมิคุ้มกันระดับประเทศก็สามารถทำให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้”
ทั้งนี้ สธ. มอบให้กรมควบคุมโรควางแผนการฉีดวัคซีนตั้งแต่ปี 2563 และมีเป้าหมายสำคัญ คือ 1. ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ซึ่งวัคซีนของแอสตราเซเนก้าและซิโนแวค ได้ผ่านการพิสูจน์เรียบร้อยแล้ว 2. เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจากการทำงาน จึงต้องฉีดเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย 3. เพื่อให้คนไทยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทย
และที่สำคัญต้องฉีดให้ครอบคลุมคนไทยมากที่สุด เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศและจะไม่เกิดการระบาดของโรคต่อไป โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 3 ระยะ คือ ระยะแรก ที่มีวัคซีนปริมาณจำกัด เมื่อผ่านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และ อย. จะฉีดให้คนไทยกลุ่มเสี่ยงทันที โดยในระยะนี้จะฉีดในช่วงกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2564 ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น และระยะที่ 3 เมื่อมีวัคซีนอย่างกว้างขวาง เริ่มตั้งแต่ มิถุนายนเป็นต้นไป และจะเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด
- ศึกษาวิจัยประสิทธิผลวัคซีนหลังฉีด
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคณะทำงานด้านวิชาการขึ้นมาเนื่องจากวัคซีนนี้เป็นของใหม่ ยังขาดความรู้ จำเป็นต้องมีคณะทำงานเพื่อศึกษาและติดตามให้เกิดการใช้วัคซีนอย่างเหมาะสมกับการรับวัคซีนโควิด-19 ที่ระยะแรกมีอย่างจำกัด และการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมในระยะต่อไป ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ในฐานะประธานคณะทำงานด้านวิชาการจึงได้จัดทำแผนงานวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการโครงการวิจัยวัคซีนและประเมินประสิทธิผลเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย” เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่จำเป็นในการตัดสินใจเชิงนโยบายและบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
ในส่วน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกจากประเทศจีน ได้แก่ ซิโนแวคจำนวน 2 แสนโดส จะมาถึงประเทศไทย วช. ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์และการวิจัยและพัฒนา ภายใต้ อว. และ สธ. เห็นร่วมกันว่าควรมีการสนับสนุนและเร่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลและอาการข้างเคียงของวัคซีนที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย
ซึ่งขณะนี้ยังต้องการข้อมูลจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอกับการติดตามประเมินประสิทธิผล ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในประเทศ การศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัคซีนจึงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนควบคู่กับการดำเนินการบริหารการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไทย โดยให้ความสำคัญกับระยะเวลาที่มีการให้วัคซีน รวมถึงการติดตามผลลัพธ์และผลกระทบไปข้างหน้า
ทั้งนี้ วช. ภายใต้ อว. โดยคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้พิจารณาความสำคัญและให้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมใน ประเด็นการศึกษาวิจัยที่สำคัญให้แก่ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์เป็นผู้บริหารแผนงานวิจัยดังกล่าวใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ด้านนโยบาย และระบบสุขภาพ 2. ด้านประสิทธิผล และภูมิคุ้มกัน 3. ด้านการบริหารแผนงาน 4. ด้านการประกัน ควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัย 5. ด้านการสื่อสาร และ 6. ด้าน new variants
ภายใต้แผนงานวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการโครงการวิจัยวัคซีนและประเมินประสิทธิผลเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย” โดยมี ท่านอธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย ในรูปแบบ Director โดยจะทำหน้าที่สำคัญในการกำกับทิศทางและเป้าหมายของโครงการให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ และนำผลงานวิจัยที่ได้มาใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายและบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิผล ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากโควิด-19
- จับมือ 6 ผู้เชี่ยวชาญ วิจัย ติดตามผลวัคซีน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากหลายคำถามที่สงสัยว่าภูมิคุ้มกันในคนไทยแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างไร เป็นที่มาที่กรมการแพทย์ ร่วมมือกับ วช. และ อาจารย์จากทุกภาคส่วน ทั้ง ร.ร. แพทย์ กรมการแพทย์ และงานนโยบายอย่าง โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) มาร่วม เพราะอยากรู้ว่าภูมิคุ้มกันในคนไทย อาการแพ้ทางระบบประสาท หรือกลุ่มผู้ป่วย เช่น โรคไต มะเร็ง เป็นอย่างไร
“รวมถึงในคนที่หายแล้ว ผู้ที่ได้รับวัคซีน และในเชิงนโยบายเช่น วัคซีนพลาสปอร์ต ก็เป็นจุดหนึ่งที่ HITAP เข้ามา โดยร่วมมือกับสิงคโปร์ เพราะประเทศที่เดินทางออกและเดินทางเข้า นโยบาต้องไปด้วยกัน ดังนั้น จึงต้องทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เพื่อทำงานร่วมกันในแถบอาเซียน รวมถึงเดินหน้าเรื่องอื่นๆ ไปพร้อมกันได้อย่างไร ทั้งการเปิดประเทศ เศรษฐกิจ ส่งออก ส่งเข้า ดูทุกมิติ”
ทั้งนี้ แผนงานวิจัยดังกล่าวมีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยภายใต้แผนงานจากหลากหลายสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่
1.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ในประเด็นความปลอดภัย และผลกระตุ้นภูมิต้านทานของวัคซีนโควิด-19 ในประชากรผู้ใหญ่ พร้อมทั้งการจำแนกสายพันธุ์ย่อยของไวรัสและการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ
2.) กรมการแพทย์ รอ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ในประเด็นการประเมินอัตราการแพร่เชื้อไวรัสในวันที่ 7 และ 10 ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และมีอาการไม่รุนแรง
3.) กรมการแพทย์ นพ.เมธา อภิวัฒนากุล ในประเด็นอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทจากการฉีดวัคซีนโควิด-19
4.)คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รศ.พญ.ณสิกาญจน์ อังคเศกวินัย ในประเด็น การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ในบุคลากรทางการแพทย์
5.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ ในประเด็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัสหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและผู้ป่วยปลูกถ่ายไต
6.) โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ภญ.เบญจรินทร์สันตติวงศ์ไชย ในประเด็นการจัดตั้งเครือข่ายวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายโควิดวัคซีนพาสปอร์ตในอาเซียน
ความเห็น 0