โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ข้อบังคับใหม่ สภาทนายความ ทนายหญิงใส่กางเกงว่าความได้ มีผลแล้ว

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 28 มิ.ย. 2566 เวลา 08.58 น. • เผยแพร่ 28 มิ.ย. 2566 เวลา 07.08 น.
ทนายความ ทนายหญิง การแต่งกาย

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อบังคับสภาทนายความ ฉบับใหม่ ให้ทนายหญิงสามารถเลิอกสวมกระโปรงหรือกางเกงได้ โดยต้องใส่สีเข้ม ไม่ฉูดฉาด มีผลบังคับใช้แล้ว

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดยระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 และมาตรา 27 (3) (จ) และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528

โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาทนายความ ในการประชุมครั้งที่ 2-2/2566 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ให้แก้ไขข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566”

ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (2) ของข้อ 20 แห่งข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๒) ทนายความหญิงแต่งกายตามแบบสากลนิยม กระโปรงหรือกางเกงขายาวสีขาว กรมท่า ดำ หรือสีอื่น ซึ่งเป็นสีเข้มและไม่ฉูดฉาด โดยมีรูปแบบที่เหมาะสม เสื้อสีขาวหรือสีตามกระโปรงหรือกางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาลหรือดำ เข้าชุดกันกับเครื่องแต่งกาย”

ประกาศ ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

สำหรับความในข้อบังคับ ว่าด้วยการแต่งกาย จะอยู่ในหมวด 5 ซึ่งระบุไว้ว่า “หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกาย

ข้อ 20 ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

(1) ทนายความชาย แต่งตามแบบสากลนิยม เป็นชุดสีขาว หรือสีอื่นที่ไม่ฉูดฉาด เชิ้ตขาว ผ้าผูกคอสีดำหรือสีอื่นที่สุภาพไม่ฉูดฉาดแบบเงื่อนกลาสี หรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาวสีสุภาพไม่มีลวดลายแทนเสื้อชุดสากลก็ได้ รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาลหรือดำ ถุงเท้าสีคล้ายคลึงกับรองเท้า

(2) ทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น

(3) ทนายความที่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบราชการ จะแต่งเครื่องแบบราชการก็ได้

(4) ในขณะว่าความ ทนายความที่มีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิต ต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ มีคำวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตามความมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 วินิจฉัยว่าการบังคับใช้ข้อบังคับ หรือการกำหนดวิธีปฏิบัติของทั้ง 2 หน่วยงาน ต้องบังคับใช้ข้อบังคับในลักษณะที่ไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับหลักการ ห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศตามที่พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติรับรองไว้

การกระทำภายใต้ข้อบังคับหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งกายของผู้หญิงเมื่อสวมเสื้อครุยขณะว่าความในศาล จะต้องไม่กำหนดข้อบังคับในลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิ แบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์อื่นใด ที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558

จึงมีคำสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยวิธีใดที่เห็นเหมาะสม ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติให้สอดคล้องตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และไม่ขัดหรือแย้งกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อรับรองสิทธิทนายความหญิงให้สามารถสวมกางเกง หรือกระโปรงเมื่อสวมเสื้อครุยขณะว่าความในศาลได้ เพื่อระงับและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0