ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยคาดการณ์ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2567 โต 4.4% มาตรการภาครัฐกระตุ้นและภาคส่งออกฟื้นเป็นบวก
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ที่ 2.8% ในปี 2566 และ 4.4% ในปี 2567 โดยการขยายตัวในปีหน้าจะสูงขึ้นจากหลายแรงขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการต่าง ๆ เข้ามากระตุ้นเพิ่ม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน่าจะมาเพิ่มขึ้นคาดว่าจะทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มเติม และการส่งออกน่าจะฟื้นตัวขึ้นเป็นบวกจากฐานที่ต่ำในปีนี้โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 4.2% ในปี 2567 รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
ส่วนในปี 2566 คาดว่า GDP จะโตต่ำกว่าคาดจากข้อมูลช่วงไตรมาส 2 ซึ่งมีแรงกดดันมาจากในหมวดบริการเป็นหลักแต่จากเครื่องชี้วัดต่าง ๆ เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด จึงยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อ
ข้อมูลล่าสุดช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้วที่ 20 ล้านคน โดยทั้งปีประเมินไว้ที่ 28.5 ล้านคนซึ่งมีการปรับลดจากเดิมที่ 29 ล้านคน ส่วนในปี 2567 ประเมินไว้ที่ 35 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดอื่น ๆ เช่น อัตราการเข้าพักโรงแรมและการจ้างงานต่าง ๆ ยังอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก ดังนั้นมองไปข้างหน้าภาคการบริการน่าจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องแม้ไตรมาส 2 จะต่ำกว่าคาด
ดังนั้นภาพรวมเศรษฐกิจไทยในแง่ของความเสี่ยงด้านสูงโดยเฉพาะในปีหน้าถึงแม้จะมีรวมมาตรการที่จะมากระตุ้นไปแล้วบางส่วนแต่ผลของมาตรการอาจจะออกมาสูงที่คาดได้ ส่วนความเสี่ยงด้านต่ำหลัก ๆ มาจากเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
อย่างไรก็ตามโจทย์สำคัญคือจะต้องทำให้การเติบโตหรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนโดยมีตัวแปรที่สำคัญคือตัวเงินเฟ้อ ซึ่งหากดูในปี 2565 เงินเฟ้อมีการเร่งตัวขึ้นไปในระดับสูงและเป็นภาพในระยะสั้น ก่อนปรับลดลงมาตามคาดการณ์และเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ในปีนี้ดังนั้นตอนนี้จะเห็นว่าเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในโลกและต่ำที่สุดในอาเซียน
แต่หากมองไปข้างหน้าในเรื่องเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงพอสมควร โดยเฉพาะปัจจัยด้านสูงไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านอุปทานเรื่องเอลนีโญ และด้านอุปสงค์เรื่องเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี จึงประเมินเงินเฟ้อในปี 2567 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และจะเริ่มปรับลดลงในปี 2568
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินได้กลับเข้าสู่ระดับปกติ (Neutral State) และในระยะต่อไปต้องดูเรื่องของแนวโน้มเศรษฐกิจเป็นหลัก ทั้งนี้ ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ธปท.ได้ให้หลักการสำคัญที่ใช้ในการประเมินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คือการมองไปข้างหน้า (Outlook Dependence) และการมองผ่านความเสี่ยงต่าง ๆ การใช้นโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็นและการตระหนักถึงต้นทุนในการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงในอนาคตตามมาได้
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามและจะมีผลต่อการใช้นโยบายการเงิน มีทั้งเรื่องของความเสี่ยงด้านสูงในเรื่องของแรงส่งจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ผลกระทบเงินเฟ้อจากนโยบายรัฐอื่น ๆ รวมถึงความเสี่ยงด้านต่ำที่เกี่ยวเนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศและความผันผวนในตลาดการเงิน