ประชุมวิป 3 ฝ่าย หาข้อสรุปไม่ได้ ชื่อ “พิธา”โหวตรอบ 2 ได้หรือไม่ “ชลน่าน” โยนที่ประชุมรัฐสภาลงมติชี้ขาด ประกาศหากเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาล เล็งฉีกเอ็มโอยู 8 พรรค ปรับแก้เนื้อหา ดึงพรรคอื่นเติมเสียงสนับสนุน
ที่ รัฐสภานายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมวิป 3 ฝ่ายว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า ในการโหวตนายกรัฐมนตรี วันที่ 19 ก.ค.นี้ จะยึดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ที่กำหนดห้ามเสนอญัตติชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯซ้ำ จะทำได้หรือไม่ เพราะมีความเห็นจากอีกฝ่ายระบุว่า เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับข้อบังคับที่ 41 เพราะได้แยกเป็นอีกหมวดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ตรงกับข้อ136- 139 และรัฐธรรมนูญไม่ระบุชัดเจนว่า ห้ามเสนอชื่อซ้ำ ดังนั้นจึงต้องฟังเสียงสมาชิกรัฐสภาให้ครบถ้วนก่อน และต้องดูหน้างานอีกครั้ง จะวินิจฉัยเองหรือขอมติจากที่ประชุม ในการหารือวิป 3 ฝ่าย มีผู้เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาอภิปรายเรื่องนี้ไม่เกิน 2ชั่วโมง แต่ต้องดูหน้างานอีกเช่นกัน ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ หากชื่อนายพิธาไม่ได้เป็นนายกฯแล้ว จะเสนอชื่อบุคคลอื่นเพื่อโหวตนายกฯต่อได้ทันทีในวันเดียวกันเลยหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ตอบว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้ เมื่อถามว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 สามารถพิจารณาในวันที่ 19ก.ค. ได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ตอบว่า ยังไม่สามารถพิจารณาได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องของญัตติและชื่อผู้เสนอ เมื่อการโหวตนายกฯเสร็จสิ้นสามารถพิจารณาได้เลย แต่ถ้าการเลือกนายกฯยังไม่จบ กระบวนการบรรจุต้องอยู่ในลำดับหลังการเลือกนายกฯ
เมื่อถามว่า หากยังไม่ได้ชื่อนายกฯในวันที่ 19 ก.ค. การโหวตครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นเมื่อใด นายวันมูหะมัดนอร์ตอบว่า ไม่ทราบ ต้องดูหน้างาน สิ่งที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่ 2 เคยระบุเป็นวันที่ 20ก.ค.เป็นการพูดล่วงหน้า ขณะนี้ประชาชนรอคอย ต้องการได้นายกฯที่ไม่ช้าเกินไป เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง หลายฝ่ายเรียกร้องให้กระบวนการสภาฯไม่ช้าเกินไป แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่า จะแล้วเสร็จเมื่อใด อยู่ที่กระบวนการของสภาฯ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการประชุมรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค. เมื่อเปิดประชุมแล้ว 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอชื่อนายพิธา ให้โหวตนายกฯรอบ2 โดยพรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้เสนอชื่อ แต่ถ้ามีคนเห็นต่างอยากให้ญัตติดังกล่าวตกไป ต้องมาอภิปรายถกเถียงกันด้วยเหตุผล หลังอภิปรายเสร็จสิ้นจะใช้วิธีลงคะแนนตัดสิน ถ้าญัตติตกไป ถือว่าจบ ต้องไปนัดประชุมรอบใหม่ ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าต้องเสนอชื่อนายพิธาโหวตเป็นนายกฯรอบ3 จะต้องได้คะแนนรอบ2 เท่าใด จึงจะชอบธรรมเสนอชื่ออีกรอบได้ นพ.ชลน่านตอบว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเคยคุยกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยกตัวอย่างการโหวตรอบ3ว่า ต้องมีแนวโน้มสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ยังไม่มีข้อสรุป แต่นายพิธาไปบอกว่า ควรมีคะแนนเพิ่มขึ้น 10% หรือ 344-345 คะแนน ถ้าดูคำว่า 10% หมายความว่าต้องได้เพิ่มอีก 32 คะแนน เมื่อไปรวมกับ 324 เสียง จากรอบแรก ต้องได้คะแนน356-360 เสียง จึงเป็นไปตามเงื่อนไขที่พูดคุยกันได้ พรรคเพื่อไทยเคารพพรรคอันดับ1 แต่พรรคก้าวไกลยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการให้พรรคอันดับ2 ตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะมาทึกทักเป็นโอกาสของตัวเองไม่ได้ โดยความชอบธรรมต้องรอให้มีแถลงการณ์ของพรรคอันดับ1ก่อน
จากนั้นพรรคเพื่อไทยจะบอกได้ว่า จะเสนอชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยต้องการเวลาหาเสียงสนับสนุนนานเท่าไหร่ ในการตั้งรัฐบาล หากชื่อนายพิธาไม่ผ่านการโหวตรอบ 2 นพ.ชลน่านตอบว่า พรรคเพื่อไทยมีความพร้อม แต่ต้องรอให้ผ่านกระบวนการภายในพรรคฯก่อน หากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลและประธานรัฐสภาจะบรรจุญัตติเลือกนายกฯในสัปดาห์หน้า เราก็พร้อม แต่หลายเรื่องต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเนื้อหาสาระเอ็มโอยู 8พรรค หลายเรื่อง+ต้องเปลี่ยน แต่ไม่ใช่ยกเลิก เช่น ชื่อนายพิธาจะเปลี่ยนไปเป็นใคร การเติมเสียงพรรคที่9 พรรคที่10 การหาเสียง ส.ว.มาสนับสนุนเพิ่มเติม ผู้สื่อข่าวถามว่า ส.ว.ยืนยันว่าถ้ามีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล จะไม่โหวตให้พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่านตอบว่า เป็นแค่สถานการณ์สมมุติ การจะได้ 375 เสียง ต้องดูว่า 8พรรคร่วมรัฐบาลเห็นอย่างไร พรรคเพื่อไทยจะปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง การฟังเสียงของส.ว. ต้องนำองค์ประกอบเหล่านี้มาประกอบกัน ดังนั้นอย่าเพิ่งไปคาดการณ์อะไรถึงขั้นนั้น
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ระบุว่าจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เสนอชื่อชิงนายกฯในนามพรรคเพื่อไทย หากนายพิธาไปต่อไม่ได้ นพ.ชลน่านตอบว่า เป็นความเห็นของน.ส.
แพทองธาร จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมพรรคก่อน ส่วนจะนำชื่อนายเศรษฐาเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 19ก.ค.ได้ทันทีหรือไม่ หากชื่อนายพิธาไม่ผ่านนั้น ในทางปฏิบัติไม่ควรยื่นญัตติซ้อนไป เพราะชื่อนายเศรษฐาไม่เคยนำเข้าที่ประชุม 8 พรรคร่วมฯ เพื่อหารือมาก่อน คงต้องรอดูเหตุการณ์ในวันที่ 19 ก.ค.อีกครั้ง