แม้ในปัจจุบันการให้ 'วัคซีนโควิด-19' ยังแนะนำให้วัคซีนชนิดเดียวกันทั้งเข็มที่หนึ่งและสอง แต่ด้วยเหตุผลว่าบางคนฉีดเข็มแรกแล้วแพ้ จำเป็นต้องฉีดเข็มที่สองต่างชนิดกัน เช่น เข็มแรกฉีด 'ซิโนแวค' เข็มที่ 2 ฉีดเป็น 'แอสตร้าเซนเนก้า' หรือกรณี 'ฉีดเข็ม 3' ทำให้ปัจจุบัน ศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ ทำการศึกษาเพื่อดูประสิทธิภาพและผลที่จะเกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน ไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง คาดว่าคงไม่สิ้นสุดที่สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่หลายคนกังวลว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์ครองโลกแทนสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์เดลต้า แม้จะแพร่กระจายง่าย แต่ความรุนแรงไม่เปลี่ยน
วานนี้ (22 มิ.ย.64) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส ผ่านระบบ ZOOM ว่า การเปลี่ยนแปลงของไวรัสเป็นเรื่องปกติ สายพันธุ์ใดก็ตามที่แพร่ระบาดง่ายและรวดเร็วก็กลบสายพันธุ์ดั้งเดิมไป จึงเห็นว่า สายพันธุ์ G ที่พบในทางยุโรป เริ่มกระจาย มี.ค. เม.ย. พ.ค. หลังจากอูฮั่นระบาดประมาณ 4-5 เดือน และครองโลก ซึ่งแพร่กระจายง่ายแต่ความรุนแรงไม่เปลี่ยนไป จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) มาแทนที่เริ่ม ต.ค. และระบาดเต็มที่หลังจากปีใหม่ และเดือน ก.พ. มี.ค.ก็กระจายค่อนข้างมาก
“สายพันธุ์อัลฟ่า แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ G ประมาณ 1.7 เท่า จึงทำให้สายพันธุ์อัลฟา หรือสายพันธุ์อังกฤษมาครอง ซึ่งตามวัฎจักรจะอยู่ประมาณ 4-5 เดือน อย่างไรก็ตาม สำหรับสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เราพบเริ่มต้นในแคมปคนงานแถวหลักสี่ เริ่มจากคนวัยทำงาน โดยสายพันธุ์เดลต้า แพร่ง่ายกว่าอัลฟ่า 1.4 เท่า ซึ่งตามวัฎจักรนั้น เราก็ต้องพยายามต่อสู้เดลต้าให้ได้ โดยหากเราพยากรณ์อีก 4-5 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์ที่จะระบาดในประเทศไทยจะค่อยๆเป็นเดลต้า และในที่สุดทั่วโลกสายพันธุ์เดลต้าจะกลบสายพันธุ์อัลฟา หรืออังกฤษต่อไป และเราเชื่อว่าตามวัฎจักรจะไม่สิ้นสุดแค่สายพันธุ์เดลต้า จะมีสายพันธุ์อื่น ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ไม่ว่าจะสายพันธุ์เดลต้า หรืออัลฟา ความรุนแรงไม่ได้เปลี่ยนแปลง” ศ.นพ.ยง. กล่าว
- ไวรัสกลายพันธุ์ กับประสิทธิภาพวัคซีน
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า วัคซีนทุกบริษัทในโลกนี้ล้วนพัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมของจีน ที่เรียกว่า อูฮั่น ดังนั้น เมื่อมาเจอสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ที่วัคซีนจะลดประสิทธิภาพลดทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนเจเนอเรชั่น 2 แบบไข้หวัดใหญ่ ที่มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน มีการศึกษาสายพันธุ์เดลต้าในสก๊อตแลนด์ ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ตัวลดลงประมาณ 10% เศษๆ ซึ่งยังป้องกันได้ แต่ประสิทธิภาพลดลง
จากเดิมไฟเซอร์ป้องกันได้กว่า 90% แต่พอมาเจอเดลต้า พบว่า ประสิทธิภาพของไฟเซอร์ที่ให้ 2 เข็มป้องกันได้ 79% ในทำนองเดียวกันสายพันธุ์เดลต้าต่อวัคซีนแอสตร้าฯที่ให้ 2 เข็ม เหลือ 60% ก่อนหน้านี้เกือบ 90% ดังนั้น ภูมิที่ต่ำกว่าจะป้องกันไม่ได้ ไม่ว่าไฟเซอร์หรือแอสตร้าฯ หากฉีดเข็มเดียว ระดับภูมิฯที่สูงไม่เพียงพอ ประสิทธิภาพป้องกันโรคก็จะลดลงเหลือ 20-30% ของทั้ง 2 ตัว แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันที่ต้องการใช้ต้องได้ปริมาณสูง ประเทศไทยจึงต้องชะลอการระบาดของเดลต้าให้มากที่สุด เมื่อรู้ว่าติดง่ายในชุมชน ในแรงงาน จึงต้องช่วยกันทั้งหมด
- เชื่อ 'ฉีดเข็ม 3' กระตุ้นภูมิฯ สูงน้องๆ ไฟเซอร์
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการศึกษาอยู่ เช่น หากเราต้องการให้ภูมิต้านทานสูงขึ้น อาจต้องให้แอสตร้าฯ เข็ม 2 เร็วขึ้นหรือแม้กระทั่งซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม เมื่อฉีด 2 เข็มแล้ว ภูมิต้านทานอาจต่ำอยู่ จึงต้องกระตุ้นเข็ม 3 เข้าไป ซึ่งเราเชื่อว่าเข็ม 3 จะกระตุ้นให้สูงเป็นน้องๆไฟเซอร์ เพราะหลักการของการให้วัคซีน เมื่อมีกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสมภูมฯจะขึ้นสูงกว่า 10 เท่า ซึ่งจะเพียงพอในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ดังนั้น เมื่อทรัพยากรเรามีจำกัด ทุกคนอยากได้วัคซีนมีภูมิฯ สูง แต่แน่นอนว่า วัคซีนที่ภูมิฯสูง ผลข้างเคียงก็สูง วัคซีนที่ภูมิฯต่ำ ผลข้างเคียงก็ต่ำกว่า แต่เมื่อทรัพยากรมีแค่นี้ ระหว่างที่รอ ทั้งไฟเซอร์หรือโมเดอร์น่า ซึ่งเชื่อว่าจะได้เดือน ต.ค.
“ ตอนนี้จึงต้องชะลอการระบาดของเดลต้า (อินเดีย) และปูพรมการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดโควิดสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ระบาดอยู่ขณะนี้ และเมื่อถึงเวลาสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีกลยุทธ์ในการปรับแผนการให้วัคซีน เพราะขณะนี้ หลายมหาวิทยาลัยมีการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมต่อไป”
- 'ฉีดเข็ม 3' สลับยี่ห้อได้หรือไม่
แม้ในขณะนี้ ข้อมูลในการศึกษา ฉีดเข็ม 3 คนละยี่ห้อหรือยี่ห้อเดียวกันประสิทธิภาพที่แน่ชัดเป็นอย่างไร ศ.นพ.ยง กล่าวว่า แต่หลักการของการให้วัคซีน ยกตัวอย่าง ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งต้องให้ 3 เข็ม เพราะเข็มแรกๆ เป็นการให้ครั้งแรกในการป้องกันโรคก่อน ส่วนเข็ม 3 ต้องทิ้งช่วง ซึ่งทั่วไปเข็ม 3 จะกระตุ้นภูมิฯ ได้มากกว่า 10 เท่า อย่างไวรัสตับอักเสบบีใช้วัคซีนตัวเดียวกันก็กระตุ้นได้ 10 เท่า ดังนั้น ขณะนี้ศูนย์ฯที่จุฬาฯ กำลังเริ่มศึกษาอยู่ว่า การตัดสินใจให้เข็ม 3 อยู่ที่ 3 เดือนหรือ 6 เดือน ซึ่งเชื่อว่าภูมิฯจะสูงขึ้นเกิน 10 เท่า แม้จะได้วัคซีนตัวเดิม หรือเปลี่ยนเป็นแอสตร้าฯ ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญต้องอยู่ที่ความปลอดภัย ซึ่งข้อมูลจะออกมาเร็วๆนี้
- รอผลศึกษา 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด' 1-2 เดือน
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กำลังศึกษามาเยอะแล้ว แต่กำลังดูเรื่องอาการข้างเคียง ส่วนตัวเลขวัดระดับภูมิต้านทานต่างๆ เรามีตัวเลขแล้ว คาดว่า 1-2 เดือนน่าจะมีผลออกมา ขณะที่ทั่วโลกมีการศึกษาเช่นกัน เช่น อังกฤษ สเปน แคนาดา แต่ส่วนใหญ่ศึกษาแตกต่างจากเรา เพราะวัคซีนเชื้อตายไม่ได้ถูกใช้ในยุโรป แต่ส่วนใหญ่เขาใช้ mRNA และไวรัลเว็กเตอร์ (ViralVector) เขาบอกว่าสลับกันได้ และภูมิคุ้มกันดีขึ้น ทั้งไฟเซอร์ และแอสตร้าฯ แต่อาการข้างเคียงของเข็ม 2 จะมากขึ้น
"แต่ในไทย ที่ผ่านมาเราให้'ซิโนแวค' และตามด้วย 'แอสตร้าเซนเนก้า' อาการข้างเคียงยังเก็บไม่ได้เยอะว่ามากขึ้นน้อยลง เพราะต้องเปรียบเทียบกับการให้ภาวะปกติ แต่แน่นอนว่า การให้ 'ซิโนแวค' กับ 'แอสตร้าเซนเนก้า' สูงกว่า 'ซิโนแวค' 2 เข็ม แต่ขณะนี้สายพันธุ์ไทยยังเป็นอัลฟา (อังกฤษ) อยู่ ยังไม่ใช่เดลต้า (อินเดีย) ส่วนเบต้ายิ่งน้อยมาก ดังนั้น ข้อมูลการศึกษาจะทันกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า”
- ศึกษา 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด' ในต่างประเทศ
สำหรับประเทศ “สเปน” รอยเตอร์ส รายงานผลการศึกษา “โครงการคอมไบแวคซ์” ที่ดำเนินการโดยสถาบันสุขภาพคาร์ลอสที่ 3 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสเปน โดยใช้อาสาสมัคร อายุระหว่าง 18-59 ปี จำนวน 670 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' ในโดสแรก และในจำนวนนี้ 450 คน ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นโดสที่ 2 พบว่า มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง มีค่าแอนติบอดี อิมมูโนโกลบูลินจี (IgG) ในกระแสเลือด สูงกว่า 30-40 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' เพียงโดสเดียว
และมีค่าแอนติบอดีเพิ่มขึ้น 7 เท่า ซึ่งถือว่ามากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ฉีดวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' ทั้ง 2 โดส ซึ่งพบแอนติบอดีเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยมีเพียงร้อยละ 1.7 ของผู้เข้าร่วมการทดสอบ ที่มีรายงานพบผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว
ด้าน “อังกฤษ” มีโครงการศึกษา “มิกซ์ แอนด์ แมทช์” ซึ่งไม่นานมานี้ ได้เผยผลการศึกษาว่า ประชาชนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์หลังจากได้รับวัคซีนของ 'แอสตร้าเซนเนก้า' มีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดหัว ตัวสั่น มากกว่าที่คนเกิดผลข้างเคียงหากได้รับวัคซีนตัวเดียวกัน 2 โดส
สำหรับ “แคนาดา” ปัจจุบันมีการอนุมัติใช้วัคซีน 4 ชนิด ได้แก่ โมเดอร์นา , ไฟเซอร์ , แอสตร้าเซนเนก้า และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แต่หลายพื้นที่ในแคนาดาเริ่มระงับการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในการฉีดเข็มแรก จากความกังวลเรื่องการเกิดลิ่มเลือด
โดยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านภูมิคุ้มกันแห่งชาติแคนาดา (National Advisory Committee on Immunization: NACI) อนุญาตให้เข้ารับ 'วัคซีนโควิด-19' โดสแรกและโดสสองต่างชนิดกันได้ ใน 3 ชนิด คือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และ 'แอสตร้าเซนเนก้า' อย่างไรก็ตาม สาธารณสุขแคนาดา ก็ยังขอให้ชาวแคนาดาฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันต่อไปหากเป็นไปได้
นอกจากนี้ ในประเทศอื่นๆ เช่น จีน ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สวีเดน สหรัฐอเมริกา ยังมีการศึกษาเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
- ศึกษา 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด' ในไทย
สำหรับในประเทศไทยขณะนี้ 'วัคซีนโควิด-19' ที่ใช้มี 2 ยี่ห้อ คือ 'ซิโนแวค' กับ 'แอสตร้าเซนเนก้า' โดยศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการวิจัยโดยขอทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อดำเนิน “โครงการวิจัย ความปลอดภัย ผลการกระตุ้นภูมิต้านทาน และการใช้แทนกันของวัคซีนโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) และไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccine) : การศึกษาทดลองทางคลินิก” เพื่อศึกษาการฉีดวัคซีนเข็มแรก 'ซิโนแวค' เข็มที่ 2 ให้วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' หรือให้วัคซีนเข็มแรก 'แอสตร้าเซนเนก้า' เข็มที่ 2 ให้ 'ซิโนแวค'
- 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด' เผื่อกรณีแพ้วัคซีน วัคซีนขาดแคลน หรือฉีดเข็ม 3
“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การศึกษาจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในกรณีเมื่อฉีดเข็มแรกแล้วเกิดแพ้วัคซีน เข็ม 2 จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนหรือในกรณีที่วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งขาดแคลน ก็สามารถใช้อีกชนิดหนึ่งได้เลย ไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บวัคซีนไว้เข็ม 2 การบริหารวัคซีนจะง่ายขึ้นมากทำให้การให้วัคซีนเร็วขึ้น
จากข้อมูลเบื้องต้นในผู้ที่แพ้วัคซีนเข็มแรกและไปฉีดเข็ม 2 ต่างชนิดกัน ที่ผ่านมา มีการตรวจพบ 5 ราย โดย 4 รายที่ฉีดวัคซีน 'ซิโนแวค' เข็มแรกและเข็ม 2 ได้รับ 'แอสตร้าเซนเนก้า' ภูมิต้านทานที่ขึ้นสูงกว่าการได้รับวัคซีนชนิดเดียว 'ซิโนแวค' 2 ครั้ง และทำนองกลับกัน เช่นเดียวกันมีเพียง 1 ราย ที่ได้รับ 'แอสตร้าเซนเนก้า' แล้วเข็ม 2 ได้ซิโนแวค อีก 1 เดือนต่อมา ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นก็สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ข้อแนะนำ 'ฉีดวัคซีนโควิด 19' ไขว้ สามารถทำได้?
- วัคซีนยี่ห้อต่างกัน..มีประโยชน์อย่างไร?
- 'วัคซีนโควิด-19' ในไทย มี 'ยี่ห้อ' ไหนให้เลือกแล้วบ้าง ?
- ศึกษา 'วัคซีนโควิด-19' ภายใต้ความปลอดภัย
ทั้งนี้ การศึกษาจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยหรืออาการข้างเคียงว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าการสลับวัคซีนปลอดภัยจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในยามที่วัคซีนขาดแคลนหรือแพ้วัคซีน และเป็นแนวทางในการที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนชนิดเดียวกัน
“กรณีตัวอย่างหนึ่ง คือ เข็มแรกฉีด 'แอสตร้าเซนเนก้า' ไปแล้ว หลังจากนั้น 1 เดือนต่อมา จะไปฉีดไข้หวัดใหญ่ เดินขึ้นไปจะฉีดไข้หวัดใหญ่ เลี้ยวผิดห้อง ไปห้องฉีด 'วัคซีนโควิด-19' จึงได้ฉีดวัคซีน 'ซิโนแวค' แทนเป็นเข็มที่ 2 อาการข้างเคียงไม่มี ดังนั้น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการศึกษากรณีเช่นนี้ว่าหากฉีดไขว้ยี่ห้อจะเป็นอย่างไร และสิ่งที่ต้องคำนึงต่อไป คือ หากฉีดครบ 2 เข็มแล้ว เข็มที่ 3 อยากจะฉีดยี่ห้ออื่น เพราะวัคซีนที่มีหลายบริษัท หากไขว้ไปมาจะเป็นอย่างไร ต้องมีการศึกษาออกมาให้ชัดเจน” ศ.นพ.ยง กล่าว
- รับอาสาสมัคร 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด'
ที่ผ่านมา ทางโครงการฯ ได้เปิดรับสมัครอาสาสมัครรับวัคซีนเข็มที่หนึ่งและสอง ต่างชนิดกัน โดยกลุ่มแรกจะฉีดเข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า และอีกกลุ่มจะฉีดเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 เป็นซิโนแวค และจะมีการบันทึกอาการข้างเคียงของวัคซีนและตรวจวัดภูมิต้านทานเป็นระยะ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการก่อนนำไปใช้จริง
สำหรับ คุณสมบัติของอาสาสมัคร ได้แก่
1. อายุ 18 ปีขึ้นไป
2. อาศัยอยู่ในกรุงเทพหรือปริมณฑล และสะดวกเดินทางมารับวัคซีนและเจาะเลือดตามนัด (ในวันและเวลาราชการ)
3. ไม่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาก่อน
4. ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน
5. ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ หรือเคยแพ้ส่วนประกอบของสารที่อยู่ในวัคซีน
6. อาสาสมัคร สมัครใจเข้าร่วมโครงการโดยยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
7. ไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ต้องนอนโรงพยาบาล
8. ไม่กินยากดภูมิต้านทาน
9. ไม่มีประวัติโรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร้อม จากการติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นมาแต่กำเนิด
ทั้งนี้ หลังจากที่ประกาศเพียง 6 ชั่วโมง มีผู้สมัครถึงกว่า 700 คน จากที่ขอคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อทำการศึกษาเพียง 90 คน เพื่อให้ได้ผลอย่างละเอียดและต่อไปจะได้นำไปใช้ได้จริง
นอกจากนี้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2 ต่างชนิดกัน เมื่อฉีดหลังเข็มที่ 2 แล้วครบ 1 เดือนและต้องการตรวจภูมิต้านทานหลังฉีดเข็มที่สอง ทางศูนย์ฯ ยินดีที่จะตรวจภูมิต้านทานให้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร 02-256-5324 และ 02-256-4909
- เตรียมพร้อม สถานการณ์โควิดกลายพันธุ์
ศ.นพ.ยง ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับโควิด-19 สายพันธุ์ไวรัสเดลต้า (อินเดีย) มีการกล่าวว่าจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) การระบาดของประเทศไทยขณะนี้ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) พบได้ถึงร้อยละ 96 วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' และ 'ซิโนแวค' สามารถลดความรุนแรงและลดอัตราป่วยตายได้ดังเช่นการศึกษาที่ภูเก็ต
“ในอนาคตถ้ามีการระบาดสายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดียและจำเป็นต้องใช้ภูมิต้านทานที่ระดับสูงขึ้น เราจะฉีดเพิ่มด้วยวัคซีนอะไรที่มีเช่น ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ก็เป็นไปได้ เพียงกระตุ้นเข็มเดียวไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไรก็จะได้ผลภูมิต้านทานสูงมากจะสูงขึ้นอีกเป็น 10 เท่า ตามหลักการของวัคซีนในเข็มกระตุ้น”
- ข้อมูลเบื้องต้น 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด' ภูมิฯ สูงขึ้น
ในทำนองเดียวกันข้อมูลเบื้องต้นของศูนย์ฯ ที่ทำวิจัยอยู่ พบว่า การให้วัคซีน 'ซิโนแวค' เข็มแรก แล้วกระตุ้นด้วย'แอสตร้าเซนเนก้า' ได้ภูมิต้านทานที่สูงมาก มากกว่าการให้'ซิโนแวค' 2 เข็ม และระดับสูงเป็นน้องๆ ไฟเซอร์ ดังนั้น ในภาวะปัจจุบัน เราควรรีบให้วัคซีนไปก่อนให้ครบและครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการป่วยและการเสียชีวิตให้เร็วที่สุด และเมื่อเชื้อกลายพันธุ์ที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงก็สามารถกระตุ้นด้วยวัคซีนอื่นๆ หรือวัคซีนชนิดเดียวกันให้ภูมิสูงเพียงพอในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์นั้น จนกว่าจะมีวัคซีนใหม่ที่จำเพาะกับไวรัสกลายพันธุ์
“เราไม่มีทางเลือก ในขณะนี้มีวัคซีน 2 ตัวก็ให้ให้เร็วที่สุด ในอนาคตถ้ามีวัคซีนมากเพียงพอและหลากหลายชนิด ใครจะกระตุ้นด้วยวัคซีนอะไรก็สามารถทำได้ อย่าไปพะวงกับปัญหาที่ยังไม่เกิดอย่างที่มีเสียงกล่าวขานกันมากขนาดนี้” ศ.นพ.ยง ระบุ
ความเห็น 0