กรมวิชาการเกษตรแจงหลังด่านตรวจพืชสุวรรณภูมิ พบลักลอบนำเข้าช่อดอกกัญชาแห้ง 9.5 กก. ชี้การนำเข้าพืชตระกูลกัญชาต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้ทุกส่วนของพืชตระกูลกัญชาเป็นสิ่งต้องห้าม
วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกันตรวจสอบการนำเข้าดอกกัญชาแห้งรวม 9.5 กิโลกรัม (กก.) ผ่านผู้ขนส่งสินค้าเร่งด่วน ผู้รับสินค้าในนาม JULPAS KRESOPON นำเข้ามาโดยเที่ยวบิน FX6195 จากสหรัฐ และในวันเดียวกัน ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับการประสานงานให้เข้าตรวจสอบดอกกัญชาแห้งซุกซ่อนมากับสินค้าอื่น ๆ อีกเพิ่มเติม
นายระพีภัทร์กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมได้รายงานให้ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับทราบ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มีข้อสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรและกรมศุลกากร ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้ขยายผลในการให้ความรู้ความเข้าใจ พ.ร.บ.กักพืช ในส่วนของการควบคุมพืชตระกูลกัญชา ซึ่งกรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
นายระพีภัทร์กล่าวอีกว่า กรมขอทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า การนำเข้าพืชตระกูลกัญชาต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด เนื่องจากตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้ทุกส่วนของพืชตระกูลกัญชาเป็นสิ่งต้องห้าม ตามรายละเอียด ดังนี้ 1.ส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชสกุลแคนนาบิส (Cannabis.L.). เช่น ดอกกัญชา เป็นต้น จัดเป็นสิ่งต้องห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืช จากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2565
นายระพีภัทร์กล่าวอีกว่า 2.การนำสิ่งต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านด่านตรวจพืช ผู้นำเข้ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 8 ประกอบมาตรา 10 และมีบทกำหนดโทษตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติกักพืช กล่าวคือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.การปฏิบัติตามข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขต้องดำเนินการ ดังนี้ 3.1 การนำเข้าอาหารสำเร็จรูป ต้องยื่นหลักฐานการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อาหาร ที่ อย.รับผิดชอบ 3.2 การนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ต้องยื่นหลักฐานการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของกรมปศุสัตว์ 3.3 การนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ต้องยื่นหลักฐานการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของอุตสาหกรรมนั้น ๆ เช่น การนำเข้าเส้นใยกัญชงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ต้องแนบใบอนุญาตทำโรงงานสิ่งทอ เป็นต้น
นายระพีภัทร์กล่าวอีกว่า 3.4 การนำเข้าทุกส่วนของพืชตระกูลกัญชา มาเป็นวัตถุดิบในข้อ 3.2 และ 3.3 ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชจากประเทศผู้ส่งออกกำกับมาด้วย
ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลกัญชาอนุญาตนำเข้าในส่วนเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง จากทุกประเทศ ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง พ.ศ. 2565 และผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำเข้าหรือนำผ่าน ซึ่งสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้าม พ.ศ. 2551 ต้องแจ้งนำเข้ากับด่านตรวจพืชต้องขออนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า
นายระพีภัทร์กล่าวอีกว่า ต้องมีหนังสือรับรองส่วนขยายพันธุ์พืชว่า มิใช่พืชตัดต่อสารพันธุกรรม (Non GMOs Certificate) ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) จากประเทศต้นกำเนิดสินค้า และต้องผ่านการตรวจสอบศัตรูพืชจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อออกหนังสืออนุญาตให้นำสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือสิ่งไม่ต้องห้ามออกไปจากด่านตรวจพืช สถานกักพืช ยานพาหนะ หรือสถานที่ใด ๆ ภายใต้พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นายระพีภัทร์กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการรับรองมาตรฐาน จีเอพี พืชตระกูลกัญชาไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบันได้รับการรับรอง จีเอพี ในแปลงปลูกพืชตระกูลกัญชาไปแล้วทั้งสิ้น 12 ราย หากพบเบาะแสการกระทำความผิดดังกล่าวสามารถแจ้งได้ที่ด่านตรวจพืชกรมวิชาการเกษตรทุกแห่งทั่วประเทศ
ความเห็น 0