โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ “กบฎ” หรือ “วีรบุรุษ” ในกบฎเงี้ยวเมืองแพร่

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 03 พ.ย. 2565 เวลา 02.27 น. • เผยแพร่ 02 พ.ย. 2565 เวลา 12.58 น.
ภาพปก-เจ้าหลวงแพร่
เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่

เหตุการณ์ “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” ที่เกิดและจบลงเมื่อ พ.ศ. 2445 คือหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีการผลิตสร้าง “ความหมายใหม่” เรื่องเล่าของเจ้าหลวงเมืองแพร่ (เจ้าพิริยเทพวงษ์) ที่เคยได้ถูกตราว่าเป็น “กบฏ” จึงมีการนำเสนออีด้านหนึ่งคือ “ผู้บริสุทธิ์”

ประวัติศาสตร์ “โจรเงี้ยวปล้นจังหวัดแพร่” หรือ ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค ให้ภาพการหนีของเจ้าหลวงเมืองแพร่ว่าเกิดจากการ “หนีราชการ” ด้วย“…ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า เจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการ ประกอบทั้งเป็นเวลาที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในระหว่างเกิดการจราจลด้วย จึงได้ให้พวกญาติติดต่อให้เจ้าพิริยะเทพวงศ์กลับมาเสีย เป็นเวลาหลายวันก็ไม่กลับมา จึงได้ประกาศถอดเจ้าพิริยะเทพวงษ์ จากตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ลงเป็นไพร่ คือ ให้เป็น ‘น้อยเทพวงษ์’ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน ร.ศ. 121…” [1]

ราชการจะมีมุมมองเรื่องกบฏเงี้ยวอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำผิดระเบียบต่อราชการเจ้าหลวงจึงถูกปลด แต่ถ้าเป็นงานของท้องถิ่นจะมีกลิ่นอายของเรื่องเล่าเจือปน เช่นงานของ เลิศล้วน วัฒนนิธิกุล เรื่อง ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ 800 ปี หรืองานของ เสรี ชมภูมิ่ง เรื่องเจ้าพิริยะเทพวงษ์ ผู้นิราศเมืองแพร่ท่ามกลางกองเกียรติยศ ในเมืองแป้ปื้นแห่งเมืองโก๋ศัย ความว่า

“…เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีใช้วิธีปล่อยข่าวให้เจ้าเมืองแพร่รู้ว่าจะมีการจับตัวเจ้าเมืองแพร่และเจ้าราชบุตร ข่าวลือนี้ได้ผลเพราะตอนดึกคืนนั้น เจ้าเมืองแพร่พร้อมด้วยคนสนิทอีก 2 คน ก็ลอบหนีออกจากเมืองแพร่ทันที…การหลบหนีของเจ้าเมืองแพร่ในคืนนั้น ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี โดยมีคำสั่งลับมิให้กองทหารที่ตั้งอยู่รอบเมืองแพร่ขัดขวาง จึงทำให้เจ้าเมืองแพร่หลบหนีออกไปได้โดยสะดวก…” [2]

หรือ “…ท่านแม่ทัพคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจะเชือดไก่ให้ลิงดู คือ จับพวกสมรู้ร่วมคิดกับพวกเงี้ยวไปยิงเป้า เพื่อจะให้เจ้าหลวงกลัว จะได้หาทางหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรไป แต่จนแล้วจนรอดเจ้าหลวงก็ไม่กลัวไม่ยอมหนีถึงต้องใช้วิธีเชิญออกจากเมืองโดยกองเกียรติยศ” [3]

“เหตุการณ์ก่อการจลาจลในเมืองแพร่ข้อเท็จจริงจะมีประการใด ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด โดยเฉพาะเกี่ยวกับเจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯ…ไม่มีกล่าวถึงในตอนนี้เลยผู้อ่านอาจเข้าใจได้หลายกรณี และอาจเป็นผลเสียหายก็ได้ จึงขอกล่าวตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังพอจะจำเหตุการณ์ได้…ได้ความว่า เมื่อเจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯทราบว่า ทางกรุงเทพฯ ยกกองทัพมาปราบ เจ้าผู้ครองนครก็ยังคงพำนักอยู่ในคุ้ม…

ส่วนพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่ ก็มิอาจพิจารณาปรับโทษลงไปได้ว่าเป็นความผิดเจ้าผู้ครองนคร เพราะเจ้าผู้ครองนครไม่ทราบแผนการของพวกเงี้ยวมาก่อน…เจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯ มิได้เป็นผู้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยเลย…ภายหลังจากการปราบจลาจลสงบลงแล้ว ท่านยังคงพำนักอยู่ในคุ้มหลวงของท่านตามปกติเป็นเวลานานถึง 3 เดือนเศษ…เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็มิอาจจับตัวเจ้าผู้ครองนครโดยปราศจากเหตุผลอันควรได้…ทางกองทัพที่ยกมาปราบ จะให้เจ้าผู้ครองนครรับผิดชอบ ทั้งยังส่งคนไปติดต่อแนะนำให้เจ้าผู้ครองนครหนีออกจากเมืองแพร่ไปเสีย…เมื่อเจ้าผู้ครองนครแพร่ได้รับความกระทบกระเทือนเช่นนี้จึงได้ตัดสินใจหนีออกจากเมืองแพร่ไป…

การที่เจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯ หนีไปคราวนี้ กล่าวกันว่าเพราะความเกรงกลัวพระราชอาญา แต่ยังมีหลายท่านกล่าวว่า ท่านมิได้หนีเพราะความเกรงกลัวพระราชอาญาเลย เพราะท่านถือว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้คิดคดทรยศต่อแผ่นดิน…เหตุที่ท่านตัดสินใจหนีไปนั้นก็เพื่อตัดปัญหาความกดดันในขณะนั้น และเพื่อจะให้เหตุการณ์ในเมืองแพร่สงบราบรื่นโดยเร็ว เพื่อมิให้ไพร่ฟ้าประชาชนชาวแพร่ต้องพลอยรับความเดือดร้อน [4]

ปัจจุบันเรื่องราวการรับรู้กลับเปลี่ยนไปเป็น “เจ้าหลวงผู้อาภัพ” “เจ้าหลวงผู้เสียสละ” “เจ้าหลวงวีรบุรุษ” เพราะมีการตีพิมพ์หนังสือในท้องถิ่นที่สร้างการรับรู้ใหม่นี้อย่างกว้างขวาง เช่น สาวความเรื่องเมืองแพร่, ศึกษาเมืองแพร่, อนุสรณ์เจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายผู้ครองเมืองแพร่, เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์บิดาแห่งพิริยาลัย, และที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าไข่มุก วงค์บุรีประชาศรัยสรเดช ณ ฌาปนสถานประตูมาร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ไว้หน้าจวนผู้ว่าราชการ และในโรงเรียนพิริยาลัย รวมถึงการสถาปนาให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็นบิดาแห่งโรงเรียนพิริยาลัย [5] ที่เดิมชื่อ “โรงเรียนเทพวงษ์” ตั้งขึ้นในราวปี พ.ศ. 2443-2444 เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนพิริยาลัย” ในปี พ.ศ. 2457 โดยได้รับพระราชทานชื่อโรงเรียนจากรัชกาลที่ 6 [6] พิริยาลัยมีที่มาจากชื่อเจ้าหลวงเมืองแพร่ผู้ก่อตั้งโรงเรียน และเป็นเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเทพวงษ์เป็นโรงเรียนพิริยาลัยเป็นการสร้างความหมายใหม่ต่อเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ และเพื่อลดทอนความบาดหมางระหว่างคนเมืองแพร่กับส่วนกลาง

“การสร้างคำอธิบายต่ออดีตใหม่” ที่เกิดขึ้นในเมืองแพร่ภายใต้ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ต้องการ “ลบทิ้ง” “สร้างใหม่” และเรื่องที่ยากแก่การอธิบาย คือ ความร่วมมือของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ที่ได้เข้าร่วมการกบฏ ถือว่าเป็น “ตรา” ที่ยากจะลบทิ้ง จะปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าร่วม หรือ ฯลฯ ก็ยากที่จะอธิบาย วิธีการที่ดีที่สุดในการ “สร้างใหม่” คือ เชื่อมการกระทำกับ “ชาติ” พูดได้ว่าเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์อดีตกบฏ ได้ “อวตาร” ใหม่กลาย “วีรบุรุษ” ในทศวรรษ 2540

คำอธิบายคลาสสิคในปัจจุบันที่อธิบายเหตุการณ์ คือ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์กับรัชกาลที่ 5 ร่วมมือกันในการทำให้เกิดกบฏเงี้ยว เพื่อให้เจ้าหลวงเป็นสายสืบไปอยู่ที่หลวงพระบาง และเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ คือ ฝรั่งเศส และอังกฤษ โดยให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็นแพะรับบาป และตัวเจ้าหลวงยินยอมตามแผนการมิได้มีข้อขัดแย้งอะไร โครงเรื่องเช่นนี้กลายเป็นคำอธิบายการเกิดกบฏเงี้ยวกระแสหลักอยู่ในเมืองแพร่ โดย “…เงี้ยวมาเกลี้ยกล่อมท่าน [เจ้าหลวงให้ก่อกบฏ : ชัยพงษ์ สำเนียง]ก็นำความนี้รายงาน รัชกาลที่ 5 ได้ทรงรับรู้…ทางกรุงเทพฯ ก็ได้เรียกเจ้าหลวงไปร่วมปรึกษาหารือ…ตกลงให้รับปากพวกเงี้ยวและให้ผัดเวลาออกไปอีก 2-3 เดือน…ให้ทางกรุงเทพฯ จัดกำลัง…” [7] และ “…ตามที่รัชกาลที่ 5 และเจ้าหลวงฯ ได้วางแผนร่วมกันไว้…” [8]

นำมาสู่การอธิบายและตีความเหตุการณ์ครั้งนั้นใหม่ว่าเจ้าหลวงไม่ได้เป็นกบฏ แต่เป็นผู้จงรักภักดี และเสียสละ ท้ายสุดทิ้งทั้งทรัพย์สิน ลูกเมีย บ้านเมือง (เพื่อเป็นสายสืบและให้รัชกาลที่ 5 รวมหัวเมืองเหนือได้สำเร็จ) ดังนั้นท่านจึงมิใช่กบฏแต่เป็น “วีรบุรุษ” ฉะนั้นหากกล่าวว่าเมืองแพร่เป็น “เมืองกบฏ” จึงหาใช่ไม่ แต่เป็นเมืองของผู้จงรักภักดี และเมืองของ “วีรบุรุษ” ต่างหาก

นอกจากนี้ยังอธิบายว่าเป็นคราวเคราะห์ของเจ้าหลวง การอธิบายในลักษณะนี้เพื่อให้รับรู้ว่าการเกิดกบฏเงี้ยวครั้งนั้นล้วนเกิดจากการทำของเงี้ยวฝ่ายเดียว เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์มิได้มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนเพราะถูกบังคับให้ทำจึงเป็นคราวเคราะห์ของเจ้าหลวงที่ต้องถูกกล่าวหาเป็นกบฏ แล้วต้องพลัดบ้านพลัดเมือง ดังความว่า

“…เจ้าหลวงพิริยาเทพวงศ์ มิได้ทรยศต่อบ้านเมืองขององค์ท่านแต่ประการใด แต่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเดิมจนไปทิวงคตในถิ่นอื่นนั้น เป็นคราวเคราะห์กรรมขององค์ท่านเอง ที่ต้องถูกป้ายสีจนประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่า องค์ท่านทรยศต่อบ้านเมืองและประชาชนของท่านเอง…” [9]

กบฎเงี้ยวเมืองแพร่ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์

การสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์ เมืองแพร่ภายใต้บริบทที่แปรเปลี่ยนทำให้การรับรู้ต่อเมืองแพร่มีสถานะที่หลากหลาย เมืองแพร่มิได้อยู่ในฐานะเมืองที่หยุดนิ่งแต่ในทางตรงกันข้ามประวัติศาสตร์เมืองแพร่กลับมีพลวัต ทำให้หมุดหมายของการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่มีการปักถอนอยู่ตลอดเวลาภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้การที่เมืองแพร่มีตราประทับของความเป็นเมือง “กบฏ” จึงนำมาสู่การสร้างความทรงจำใหม่ในฐานะ “กบฏผู้ภักดี” “กบฏวีรบุรุษ” “เจ้าหลวงผู้อาภัพ” ล้วนเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของเหตุการณ์ในครั้งนี้ใหม่ ภายใต้บริบทที่เอื้ออำนวยภายหลังทศวรรษที่ 2540 และภายใต้โครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติ (นิยม) กระแสหลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก ชัยพงษ์ สำเนียง. “พิริยะเทพวงศ์อวตาร : ‘วีรบุรุษ’ ‘กบฏ’ การประดิษฐ์สร้างตัวตนใหม่ทางประวัติศาสตร์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2556

เชิงอรรถ :

[1] จังหวัดแพร่. “ประวัติโจรเงี้ยวปล้นเมืองแพร่,” ใน ที่ระลึกในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดแพร่ พุทธศักราช 2501. หน้า 66-67.

[2] เลิศล้วน วัฒนนิธิกุล. ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ 800 ปี, หน้า 23.

[3] เสรี ชมภูมิ่ง. เจ้าพิริยะเทพวงศ์ ผู้นิราศเมืองแพร่ท่ามกลางกองทหารเกียรติยศ. ใน เมืองแป้ปื้นแห่งเมืองโก๋ศัย. หน้า 20

[4] ประวัติจังหวัดแพร่. พิมพ์เนื่องในพระกฐินพระราชทานทอด ณ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร พระอารามหลวง จังหวัดแพร่ โดย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด วันที่ 6 พฤศจิกายน 2526. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2526, หน้า 21-22, และ สัมภาษณ์ พระมาหาโพธิวงศาจารย์ พระพระบาทมิ่งเมือง อ. เมือง จ. แพร่ (ในโครงเรื่องข้างต้นผู้เขียนก็คิดว่าเป็นเรื่องเล่าของท่านเจ้าคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ เช่นกันเพราะโครงเรื่องเช่นนี้ถูกถ่ายทอดโดยตัวท่านไว้หลายแห่ง เช่น ประชุมพงศาวดาร ตอน เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ พ.ศ. 2445. พิมพ์เป็นบรรณาการในโอกาสฉลองสัญญาบัตรพัดยศ พระธรรมรัตนากร วัดพระบาทมิ่งเมือง จังหวัดแพร่ วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2536, (กรุงเทพฯ : ซี. พี.การพิมพ์, มปป. เป็นต้น)

[5] โปรดดู, สมาคมศิษย์เก่าพิริยาลัยจังหวัดแพร่, เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์บิดาแห่งพิริยาลัย.

[6] เรื่องเดียวกัน

[7] กลุ่มลูกหลานเมืองแพร่. สาวความเรื่องเมืองแพร่, หน้า 73-74.

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 74.

[9] เจ้าน้อยอินทวงศ์ วราราช. ข้าพเจ้าเห็นพกาหม่องบุกเมืองแพร่. ในที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าไข่มุก วงค์บุรี ประชาศรัยสรเดช ณ ฌาปนสถานประตูมาร

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2565

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0